4 สมาคมอุตสากรรมไมซ์ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอผ่อนปรนจัดประชุม - สัมนา

4 สมาคมอุตสากรรมไมซ์ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอผ่อนปรนจัดประชุม - สัมนา

4 สมาคมอุตสาหกรรมไมซ์ ยื่นหนังสือวอน นายกฯ ผ่อนคลายจัดกิจกรรมภายใน 15 ต.ค. นี้ หลังได้รับผลกระทบยาวนาน พร้อมจัดกิจกรรมประชุม สัมนา นิทรรศการภายใต้มาตรการใหม่

วันนี้ (6 ต.ค.) 4 สมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ นำโดย นายอุปถัมป์  นิสิตสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน หรือ EMA , นายประวิชย์ ศรีบัณฑิตมงคล นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) หรือ TEA , นายสุเมธ สุทัศน์ ณ อยุธยา นายกสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือ TICA , และนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย หรือ THA ร่วมลงนามในหนังสือเพื่อยื่นถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้ผ่อนคลายธุรกิจไมซ์ ให้สามารถเปิดกิจการและจัดกิจกรรมได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน ภายในวันที่ 15 ตุลาคม นี้ เพื่อประคองสถานการณ์ธุรกิจของภาคเอกชนให้สามารถเดินหน้าต่อได้

นายอุปถัมป์  นิสิตสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 20 เดือน ตั้งแต่การเริ่มแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ผ่านนั้น ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมไมซ์ ได้เห็นความมุ่งมั่น และเจตนารมณ์ของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อฯ ตลอดจนการกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาสู่สภาวะปกติ หรือ ใกล้เคียงสถานการณ์ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส และเชื่อว่า ฯพณฯ ได้รับทราบถึงความเดือดร้อน ผลกระทบต่าง ๆ ที่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้อยู่ในขณะนี้

“จากมาตรการล็อกดาวน์ในปีนี้ ที่ต่อเนื่องและยาวนานกว่าในปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ต่างประสบปัญหากับสภาวะขาดทุน มีการเลิกจ้างงาน และเลิกกิจการกันไปส่วนใหญ่ แต่หากในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่เหลือของปีนี้ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไมซ์ได้รับอนุญาตให้กิจการและกิจกรรมได้กลับมาดำเนินงานได้อีกครั้ง ก็จะช่วยประคองสถานการณ์ของธุรกิจภาคเอกชนไม่ให้ถดถอยไปกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลทางตรงและทางอ้อมไปยังผู้ประกอบการ บุคลากร ตลอดจนครอบครัว และประชาชนโดยรวม ให้มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นลำดับ”นายอุปถัมป์กล่าว 

นายอุปถัมป์ กล่าวอีกว่า การเปิดให้กิจการและกิจกรรมในอุตสาหกรรมไมซ์ ได้กลับมาทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท กับการจ้างงานโดยรวมเกือบ 4 แสนอัตราในปี 2562 ซึ่งเป็นปีปกติก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจอีกหลายเท่าทวีคูณ ซึ่งจะนำไปสู่การจ้างแรงงาน และบุคลากรในกิจการ เช่น โรงแรม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า ร้านอาหาร ร้านค้า และการบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนกิจกรรมการจัดแสดงสินค้า การประชุมในประเทศ การจัดกิจกรรมการตลาด เป็นต้น

โดยทางสมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ ต่างเชื่อว่าการที่รัฐบาลได้ผ่อนปรนให้มีการกลับมาเปิดกิจการบางประเภท เช่น ร้านอาหาร ศูนย์การค้า ส่วนบริการอื่น ๆ ได้บ้างแล้ว เป็นแนวทางที่ดีในการเริ่มผ่อนคลายให้เศรษฐกิจได้เริ่มขับเคลื่อนด้วยตัวเอง แต่กิจการและกิจกรรมในอุตสาหกรรมไมซ์ ที่ได้เรียนข้างต้น ก็ควรได้รับการพิจารณาผ่อนปรนเช่นกัน เนื่องจากทุกกิจการและทุกกิจกรรมนั้น ผู้ประกอบการจะดำเนินการด้วยมาตรการป้องกัน และควบคุมอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ ตามที่ได้ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง

“สมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ ได้จัดทำมาตรการปกติใหม่ (New Normal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานสาธารณสุข และ ศบค. ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อใช้ในการกำกับการดำเนินกิจการ และกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านอย่างเข้มงวด โดยไม่ปรากฏผู้ติดเชื้อรายใหม่ขึ้นแต่อย่างไร และสิ่งที่ผู้ประกอบการของสมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ปรารถนาคือ การขอความเห็นชอบจาก ฯพณฯ ในการผ่อนผันให้กิจการ และกิจกรรมได้กลับมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยตัวเองต่อไปโดยเร็ว ภายใต้มาตรการปกติปัจจุบัน (New Normal) ที่สมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ ได้มีการปรับเพิ่มมาตรการและมีความเข้มข้นขึ้น เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ อาทิ การควบคุมกิจกรรม และผู้ประกอบการด้วยวัคซีนที่ได้รับตามเกณฑ์ของคณะกรรมการควบคุมวัคซีน ประกอบการมาตรการสาธารณสุขอื่น ๆ อย่างเคร่งครัด” นายอุปถัมป์กล่าว 

นายอุปภัมป์ ยังหวังว่า นายกฯจะให้สมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ได้เข้าหารือ เพื่อชี้แจงแนวทาง และมาตรการที่ผู้ประกอบการต่างๆในอุตสาหกรรมไมซ์ได้จัดเตรียมไว้นั้น สมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ พร้อมที่จะเข้าพบนายกฯ ในวันและเวลาที่ นายกฯสะดวก และโปรดแจ้งกลับมาโดยทันที สมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือฉบับนี้ จะได้รับการพิจารณาจาก นายกฯ และเพื่อให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ได้มีส่วนร่วมในการกอบกู้ ขับเคลื่อน เศรษฐกิจของประเทศร่วมไปกับ นายกรัฐมนตรี ต่อไป