Creating Place for Good เงื่อนไขใหม่พัฒนาเมือง:อีอีซี

Creating Place for Good   เงื่อนไขใหม่พัฒนาเมือง:อีอีซี

การพัฒนาเมืองและอสังหาริมทรัพย์ มีอิทธิพลและผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คน ตั้งแต่ระดับที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน ไปจนถึงเมืองที่เราใช้ชีวิตร่วมกัน บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ล้วนมีอายุยาวนานหลายสิบปี

การตัดสินใจสร้างสิ่งปลูกสร้างอะไรอย่างหนึ่งจึงส่งผลระยะยาวและมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่เหล่านั้น ดังนั้น การพัฒนาที่ดีจึงควรคำนึงถึงหลักการ “การสร้างสรรค์สถานที่ที่ดีและยั่งยืน”

แนวโน้มการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่กำลังได้รับการพูดถึงกันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ESG (Environment, Social and Governance) ในระดับองค์กร หรือมุมมองการพัฒนาของ BCG (Bio-Circular-Green) ในระดับมหภาคที่ใหญ่ขึ้น และ UN SDGs (Sustainable Development Goals) ที่หลายองค์กร/ประเทศร่วมกันกำหนดขึ้นเพื่อหวังว่าทุกการพัฒนาจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เองก็มีการนำเอาแนวคิดเหล่านี้มาใช้ในการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างและพื้นที่ต่างๆ โดยมีการกำหนดมาตรฐานการพัฒนาอาคารสีเขียวเพื่อความยั่งยืนอยู่หลายมาตรฐาน ทั้งที่ใช้กันในต่างประเทศและที่กำหนดในประเทศเอง โดยทั่วไปมาตรฐานเหล่านี้ จะเริ่มตั้งแต่ช่วงการพัฒนาไปจนถึงการวัดผลการทำงาน (Performance) ของสิ่งปลูกสร้าง อาทิ เรื่องอากาศ น้ำ พลังงาน และขยะ เป็นต้น  

มาตรฐานเหล่านั้นได้แก่ LEED, EDGE, TREES, GRI, GRESB เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีมาตรฐานใหม่ๆ ที่เริ่มวัดเพิ่มเติมในเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้ใช้อาคารรวมถึงชุมชนโดยรอบ อาทิ มาตรฐาน WELL ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการปรับปรุงให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของการใช้สิ่งปลูกสร้างในแต่ละยุคสมัย โดยสถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ ก็ทำให้มาตรฐานเหล่านี้ต้องถูกทบทวนอีกครั้งว่าควรเปลี่ยนแปลงด้วยหรือไม่ อย่างไร

แนวโน้มการให้ความสำคัญของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เรื่องมาตรฐานความยั่งยืนเหล่านี้ เกิดขึ้นเพื่อการสร้างสรรค์สถานที่ที่ดีและยั่งยืนให้แก่ชุมชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะการพัฒนาสิ่งปลูกสร้าง ต้องใช้ทรัพยากรมากมาย และสิ่งปลูกสร้างนั้นจะยืนหยัดอยู่ยาวนานหลายชั่วอายุคน ดังนั้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และควรกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจในวงกว้างยิ่งขึ้น

การสร้างสรรค์สถานที่ที่ดีอย่างยั่งยืน สะท้อน 2 นัยสำคัญ ประการแรกคือ “สถานที่ที่ดี” หรือ “ไม่เป็นพิษเป็นภัย” และประการที่ 2 เป็นเรื่องของ “เวลา”

ในบริบทของสถานที่ที่ “ดี” หมายถึงผลลัพธ์ที่ผู้พัฒนาจะส่งมอบผ่านสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่สร้างขึ้น อาทิ การพัฒนาพื้นที่อย่างครบวงจร การให้ความสำคัญกับผู้ใช้ที่มีความแตกต่างและหลากหลาย พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าและยั่งยืน

ในบริบทเรื่องของ “เวลา” เพราะสิ่งปลูกสร้างจะยังคงอยู่บนโลกใบนี้เป็นเวลานาน ดังนั้น การพัฒนาและออกแบบจำเป็นต้องคำนึงอย่างมากถึงการไม่ก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต มีความคงทนและยั่งยืนต่อการใช้งานในบริบทที่หลากหลาย และในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

สิ่งเหล่านี้ ควรได้รับการปลูกฝังและกำหนดให้เป็นนโยบายการพัฒนาภายในพื้นที่อีอีซี อย่างเคร่งครัด เพราะการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ในพื้นที่อีอีซี ย่อมมีโอกาสสร้างความขัดแย้งระหว่างโครงการและคน/ชุมชนในพื้นที่ได้ง่าย อีกทั้ง ต่อไปจะต้องมีการลงทุนมากมายในการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างและโครงสร้างพื้นที่ฐานต่างๆ ซึ่งทุกโครงการต้องมีการประสานสอดรับกันและอยู่ด้วยกันได้ยาวนานและยั่งยืน เราคงไม่อยากเห็น เมืองอัฉจริยะในพื้นที่อีอีซี ที่ต้องทนมลพิษจากเขตอุตสาหกรรมข้างเคียง และไปขัดแย้งกับชุมชนที่อยู่อาศัย เพราะแย่งน้ำ แย่งไฟฟ้ากันใช้ อย่างนี้เป็นต้น มาช่วยกันสร้าง Good Places ในอีอีซี กันดีกว่านะครับ เริ่มกันวันนี้คงยังไม่สายเกินไปครับ

บทความโดย โสภณ ราชรักษา

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด