คนไทยแห่ขอจดสิทธิบัตรโควิดแล้วกว่า 200 คำขอ

คนไทยแห่ขอจดสิทธิบัตรโควิดแล้วกว่า 200 คำขอ

กรมทรัพย์สินทางปัญญา เผย ตั้งแต่โควิดระบาด ทำนักประดิษฐ์คนไทยแห่ขอสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร แล้ว 207 คำขอ ไฟเขียวจดทะเบียนแล้ว 28 คำขอ สวทช.ยื่นคำขอมากสุด รองลงมาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นางสาวนุสรา กาญจนกูล  รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า การอุบัติขึ้นของโรคโควิดเป็นเหตุให้เกิดการตื่นตัวของการวิจัยและพัฒนาตัวยาต้านไวรัส วัคซีน อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ หน้ากากอนามัย ชุดตรวจแอนติบอดี  รวมทั้งยังได้มีการศึกษากว้างขวางถึงสรรพคุณของสมุนไพรบางชนิดเพื่อนำสารสำคัญไปใช้ในการป้องกันและรักษาโรคโควิด19 โดยตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19  จนถึงปัจจุบันมีคนไทยที่เป็นนักประดิษฐ์ และหน่วยงานต่างๆ ในประเทศ ได้คิดค้นและพัฒนาชิ้นงานที่เกี่ยวข้องกับโควิด ได้มายื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 กับกรมหลายคำขอ

โดยผู้ขอรับสิทธิบัตรชาวไทย ล่าสุด ณ วันที่ 11 ก.ย. 2564  มีจำนวน 207 คำขอ แบ่งเป็นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จำนวน 53 คำขอ และคำขอรับอนุสิทธิบัตร จำนวน154 คำ ขอ จำแนกออกได้เป็น 8 กลุ่มการประดิษฐ์ ประกอบด้วย 1.ยาต้านไวรัส จำนวน 7 คำขอ2.วัคซีน จำนวน 7 คำขอ 3. สาร น้ำยา หรือเจลฆ่าเชื้อ จำนวน 16 คำขอ4.ชุดตรวจ และกรรมวิธีการตรวจหาเชื้อ จำนวน 11 คำขอ5. เครื่องช่วยป้องกันการติดเชื้อโรค เช่น หุ่นยนต์ขนส่งอาหารในโรงพยาบาล จำนวน 21 คำขอ 6.อุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกันละอองฝอย (Face Shield)เป็นต้น จำนวน 64 คำขอ7.เครื่องมือและอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ เช่น ตู้อบฆ่าเชื้อ อุโมงค์หรืออุปกรณ์พ่นยาฆ่าเชื้อ เป็นต้นจำนวน 27 คำขอและ8. ผลิตภัณฑ์ และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร จำนวน 54 คำขอ

 

นางสาวนุสรา กล่าวว่า  จากข้อมูลคำขอ 207 คำขอ แบ่งเป็นคำขอยื่นใหม่จำนวน 48 คำขอ คำขอที่อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบจำนวน 131 คำขอ และกรมฯได้จดทะเบียนสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรแล้วจำนวน 28 คำขอ สำหรับหน่วยงานหรือสถาบันที่มีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรเกี่ยวกับการรักษาและป้องกันโรคโควิด-19มากที่สุดคือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จำนวน 29 คำขอรองลงมาคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 4 คำขอ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 3 คำขอ มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 3 คำขอ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวน 3 คำขอ

“ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้มีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับโควิดมากขึ้น ซึ่งคาดว่า จะมีแนวโน้มมายื่นขอสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบยาเม็ดของบริษัทผลิตยาจากญี่ปุ่นอยู่ในระหว่างการยื่นอุทธรณ์ ”รองอธิบดี กล่าว

ทั้งนี้รายงานดัชนีนวัตกรรมโลก Global Innovation Index (GII 2021) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ปี 64 พบว่า ความสามารถด้านนวัตกรรมของไทยปีนี้อยู่ที่ 43 จาก 132 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ทั้งยังเป็นอันดับที่ 9 ของประเทศที่เป็นเจ้าของอนุสิทธิบัตรมากที่สุด  โดยรายงาน GII 2021 ระบุว่า ไทยมีความสามารถด้านนวัตกรรมสูงขึ้น แม้เป็นช่วงแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยยังครองอันดับ 1 ของประเทศที่เอกชนมีการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเป็นอันดับที่ 42 ด้านการพัฒนา ความรู้และเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม จากเดิมอันดับที่ 86 เมื่อปีที่ผ่านมา