กรมประมงตั้งวอร์รูม รับมือน้ำท่วมเน้นเฝ้าระวังจระเข้

กรมประมงตั้งวอร์รูม รับมือน้ำท่วมเน้นเฝ้าระวังจระเข้

กรมประมง...ตั้งวอร์รูม รับมืออุทกภัยหลังพายุถล่มต่อเนื่อง พร้อมเตือนเกษตรกรเฝ้าระวัง การเลี้ยงจระเข้ -โรคสัตว์น้ำช่วงหน้าฝน

จากสถานการณ์ที่เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาคของประเทศไทยทั้งจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันโกนเซิน และพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนและความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนรวมถึงเกษตรกร โดยเฉพาะในภาคการประมงด้วย

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งปฏิบัติการร่วมกันอย่างเข้มข้น เต็มกำลังความสามารถ ในการดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรเป็นการเร่งด่วน ตลอด 24 ชั่วโมง

 

กรมประมงตั้งวอร์รูม รับมือน้ำท่วมเน้นเฝ้าระวังจระเข้

สำหรับในส่วนของกรมประมง ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้ประมงจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยด้านการประมง ซึ่งมี 3 ระยะ ได้แก่ 1. การเตรียมความพร้อมก่อนเกิดภัย 2. การให้ความช่วยเหลือขณะเกิดภัย และ 3. การให้ความช่วยเหลือหลังเกิดภัย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

ซึ่งในปีนี้ได้เน้นย้ำการเฝ้าระวังการเลี้ยงจระเข้อย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ โดยให้มีการตรวจสอบสถานที่เลี้ยงให้มีความแข็งแรง ตรวจสอบจำนวนจระเข้ เพื่อป้องกันการหลุดรอดออกจากฟาร์มเลี้ยงในช่วงที่เกิดอุทกภัย “ 

 และได้จัดตั้งวอร์รูม “ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการประมง” หรือ “ศปภ.ปม.” เพื่อติดตาม วิเคราะห์ สถานการณ์และผลกระทบด้าน การประมง รวมทั้งแจ้งเตือนภัยให้เกษตรกรได้รับทราบข่าวสารอย่างรวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์

พร้อมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานกรมประมงในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วนและเต็มกำลัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า โดยมอบให้ผู้ตรวจราชการกรมประจำเขตตรวจราชการสามารถพิจารณา
การดำเนินการสั่งการ ประสานงานกับทุกหน่วยงานในพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับความเสียหายด้านประมงในขณะนี้ จากการสำรวจพบพื้นที่ความเสียหายแล้ว24 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ตาก เพชรบูรณ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร สุโขทัย นครสวรรค์ อุทัยธานี นครราชสีมา เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น อุบลราชธานี ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี สระแก้ว ราชบุรี และสุพรรณบุรี รวมกว่า 19,981.88 ไร่  20,609.04 ตารางเมตร เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งใน
บ่อดิน บ่อซีเมนต์ และกระชัง ได้รับความเดือดร้อน 15,834 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 114,348,965 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กันยายน 2564) ซึ่งเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมประมงหากได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ สามารถขอรับความช่วยเหลือได้โดยให้หน่วยงาน

                                                                                                           

กรมประมงภายในจังหวัดพิจารณาดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติได้ทันท่วงที กรณีเงินงบประมาณไม่เพียงพอสามารถใช้เงินทดรองราชการในอำนาจของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป

เนื่องจากในระยะนี้ ยังมีพายุฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และหมั่นดูแลสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากในช่วงหน้าฝน จะส่งผลต่อคุณภาพน้ำ เช่น ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง อุณหภูมิ ปริมาณออกซิเจน ความขุ่นใสของน้ำ ซึ่งอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทัน ทำให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน เครียด ได้รับเชื้อโรคง่าย และตายได้ โดยโรคสัตว์น้ำที่มักพบในช่วงหน้าฝน ได้แก่ โรคที่เกิดเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย จึงขอให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยปฏิบัติตามข้อแนะนำ ดังนี้

  • กรณีการเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อ ให้ขุดลอกตะกอนดินที่จะทำให้น้ำไหลเข้าออกได้อย่างสะดวก ปรับปรุงคันบ่อและเตรียมการป้องกันการหลุดรอดของสัตว์น้ำในบ่อ เช่น เสริมคันบ่อ หรือการทำผนังตาข่ายที่แข็งแรงสูงจากขอบบ่อรอบบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
  • กรณีการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง ให้ระวังกระชังเสียหาย ควรผูกยึดหลักให้แน่นและแข็งแรง จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น อวน เครื่องสูบน้ำ เครื่องเพิ่มออกซิเจน ไว้ให้พร้อมและขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมเพื่อรับสถานการณ์อุทกภัย เพื่อเป็นการป้องกันการเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับสัตว์น้ำที่เพาะเลี้ยงได้

            ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถติดต่อขอรับคำแนะนำได้ที่ สำนักงานประมงอำเภอ สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมง ในพื้นที่