"อาคม" ชี้ คลัง เตรียมเติมเงิน-ขยายมาตรการเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีนี้

"อาคม" ชี้ คลัง เตรียมเติมเงิน-ขยายมาตรการเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีนี้

"อาคม" เผย กระทรวงคลัง เตรียมพิจารณาเติมเงิน ขยายมาตรการเยียวยา รวมถึงอาจขยายเวลามาตรการต่างๆของรัฐบาล เช่น ยิ่งใช้ยิ่งได้ ในช่วงปลายปี ถึงต้นปีหน้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า​ กระทรวงการคลัง เตรียมพิจารณาเติมเงิน และขยายมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

เขากล่าวว่า ภาคเอกชนและนักวิชาการจำนวนหนึ่งมองว่าเศรษฐกิจปีนี้อาจขยายตัวติดลบ ดังนั้นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ กระทรวงการคลัง จะพิจารณามาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงท้ายของปี  ซึ่งอาจจะมีการเติมเงินให้ประชาชน ผ่านโครงการต่างๆของรัฐบาล รวมถึงอาจมีการขยายระยะเวลาของมาตรการต่างๆของรัฐบาล เช่น ยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งในช่วงปลายปี จนถึงต้นปีหน้า คาบเกี่ยวกับเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน ซึ่งตามปกติเป็นช่วงการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน

เขากล่าวว่า ส่วนโครงการ ช้อปดีมีคืน ซึ่งเป็นโครงการกระตุ้นการใช้จ่าย ที่สามารถนำรายจ่ายจำนวนหนึ่งมาหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งในอดีตกระทรวงการคลังเคยใช้มาตรการนี้มาแล้ว และปัจจุบันภาคเอกชนหลายฝ่าย อยากให้กระทรวงการคลังนำมาตรการนี้มาใช้อีกครั้งนั้น กระทรวงการคลัง ก็รับเรื่องนี้ไปดูอยู่ด้วยในขณะนี้

ทั้งนี้​ ภาคเอกชนและนักวิชาการจำนวนหนึ่งให้การสนับสนุนมาตรการช้อปดีมีคืน โดยนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลนำมาตรการช้อปดีมีคืนมาใช้อีกครั้ง ซึ่งอาจจะให้ประชาชนสามารถนำรายจ่ายที่ใช้ซื้อสินค้า 3-5 หมื่นบาท สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากภาษีไปประมาณ 7 พันล้านบาท ถึง 1 หมื่นล้านบาท แต่จะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศเพิ่มขึ้น 5 หมื่นล้านบาท

นายอาคม ยังได้กล่าวเพิ่มเติม ถึงกรณีที่รัฐบาลได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาล เป็นไม่เกิน 70 % ของ GDP จากเดิมที่อยู่ที่ไม่เกิน 60 %นั้น เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดยังไม่ยุติ และระยะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่แน่นอนว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน อาจจะต้องใช้เวลา 1 -2 ปี ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องมีเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

เขากล่าวว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะสูงขึ้นเพื่อรับมือกับผลกระทบจากโควิด โดยประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย เช่น มาเลเซียขอปรับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70 % ก่อนที่ไทยจะปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 1 สัปดาห์, ขณะที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ก็มีระดับหนี้สาธารณะสูงกว่าไทยทั้งสิ้น ,ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ก็มีการปรับเพดานหนี้ เพิ่มขึ้นทุกปี โดยปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว 80 ครั้ง

เขากล่าวอีกว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2021  หรือ 30 ก.ย.นี้ ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาล จะอยู่ที่ 58.96 % ขณะที่ปีงบประมาณ 2565 ซึ่งจะมีการเบิกจ่ายเงินกู้ ตาม พรก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท อีก 3.5 แสนล้านบาท จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาล ในสิ้นปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 62.69%

เขากล่าวว่า ปัจจุบันความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล ยังอยู่ในระดับที่สามารถชำระหนี้ได้ โดยตัวชี้วัดที่สำคัญยังไม่เกินกรอบที่กำหนดไว้ คือ การก่อหนี้ในแต่ละปี ต่อประมาณการรายได้ของรัฐบาล ไม่เกิน 35 % ปัจจุบันอยู่ที่ 31 %  , สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด ต้องไม่เกิน 10 % ปัจจุบันอยู่ที่ 1 % และสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ ต้องไม่เกิน 5 % ปัจจุบันอยู่ที่ 0.06%
///