ยารักษาโรคใหม่ในร้อยวัน โอกาสในวิกฤตจากโควิด-19

ยารักษาโรคใหม่ในร้อยวัน โอกาสในวิกฤตจากโควิด-19

หนึ่งในมิชชั่นอิมพอสซิเบิล ที่โจ ไบเดน (Joe Biden) ตั้งเป้าอยากทำให้สำเร็จให้ได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คือ “ระบบการพัฒนายารักษาโรคและวัคซีนแบบพร้อมใช้ใน 100 วัน”

หากเป็นก่อนหน้ายุคโควิด-19 นี้คือไอเดียที่จะฟังดูบ้าบอและเหลวไหลไร้สาระเพราะโดยปกติแล้ว ยาและวัคซีนนั้นคือผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อลือชาว่าใช้ทั้งต้นทุนมากมายมหาศาล แถมยังยืดเยื้อและยาวนาน โดยทั่วไป กว่าที่โครงการพัฒนาต่างๆ ในสายนี้จะเริ่มสุกงอมพอจะเก็บเกี่ยวผลอะไรได้บ้าง​ ก็มักกินเวลานับสิบปี ยาและวัคซีนบางตัวใช้เวลานับทศวรรษในการพัฒนากว่าจะผ่านการทดลองในขั้นพรีคลินิกจนได้ทำทดสอบในมนุษย์

 

ซึ่งในระหว่างการพัฒนาแม้ว่าผลจะดูดี ก็ยังไม่อาจสามารถการันตีผลได้ว่าจะผ่านไปได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะถ้าโรคระบาดมันจางหายไปก่อนจะพัฒนาเสร็จ โครงการก็อาจจะถูกถอนได้ทุกเมื่อ ยาเเละวัคซีนมากมายที่ดูน่าจะมีศักยภาพน่าสนใจจึงอาจจะทยอยล้มหายตายจากไปในระหว่างขั้นตอนในการพัฒนา ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเงินทุนงบประมาณไม่หนา หรือแม้แต่ผู้บริหารบริษัทรอไม่ไหว คิดว่าไปต่อ ก็ไม่คุ้ม เปลี่ยนนโยบายแล้ว ล้มเลิกโครงการไปเลยก็มี

 

ดังนั้น ความยากจึงอาจจะไม่ใช่ประเด็นของปัญหา แต่ “เวลา” ต่างหากที่เป็นอุปสรรค​โดยเฉลี่ย กระบวนการวิจัยยาใหม่จะกินเวลาราวๆ สิบถึงสิบห้าปี วัคซีนที่พัฒนาไวที่สุดก่อนยุคโควิด คือวัคซีนโรคคางทูม (mumps) ในช่วงยุค 60 ซึ่งในตอนนั้นใช้เวลา 4 ปีในการพัฒนา

แต่การระบาดของโควิดที่เเพร่กระจายไปไวยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง เป็นเหมือนคลื่นกระแทกที่ทำให้ทุกประเทศกระอัก ด้วยผลกระทบที่หนักหนาสาหัส หลายประเทศจำต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือโรคร้าย ทำให้โควิด-19 กลายเป็นปัญหาเบอร์หนึ่งที่จำเป็นต้องหาทางหยุดยั้งให้เร็วที่สุด

 

สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ ถ้าจะบอกว่าอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ คือวีรบุรุษที่เปิดประวัติศาสตร์ใหม่แห่งวงการยาก็อาจจะไม่ผิด เพราะการประกาศเปิดตัวโครงการโอเปอเรชั่นวาร์ปสปีด (operation warp speed) สู้โควิด-19 ของทรัมป์ในวันที่ 15 มีนาคม 2020 คือการแก้ปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินตรงหน้าที่ตรงจุด เพราะโควิดนั้นรอไม่ได้

 

เม็ดเงินกว่าหมื่นล้านเหรียญถูกระดมมาจากหน่วยงานต่างๆ แปรรูปเป็นเงินทุนวิจัยฉุกเฉินพร้อมใช้จัดสรรโดยองค์การเพื่อการพัฒนาและวิจัยชีวการแพทย์ขั้นสูง (biomedical advance research and development authority) หรือ BARDA เพื่อแจกจ่ายให้เอกชนที่มีความพร้อมในการพัฒนาวัคซีน เร่งผลักดันวัคซีนสู่ท้องตลาดให้ไวที่สุด

 

เมื่อเงินถึง รัฐอัดฉีดแบบเต็มสูบ อีกทั้งระบบ ระเบียบและขั้นตอนต่างๆ ก็ถูกปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน และขับเคลื่อนการพัฒนาวัคซีนอย่างเต็มที่ กระบวนการทุกอย่างจึงรวดเร็วสมชื่อวาร์ปสปีด กลายเป็นตำนานกล่าวขานเรื่องวัคซีนต้านโควิดสายฟ้าแลบที่พัฒนาตั้งแต่ตั้งไข่ไปจนถึงสำเร็จพร้อมบินในระยะเวลาเพียงแค่ไม่ถึงปี

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเร่งสปีดในการพัฒนาวัคซีนจากความเร็วรถไฟหวานเย็น กลายไปเป็นรถไฟหัวจรวดแต่ไม่ใช่โรคร้ายทุกโรคจะเป็นที่สนใจของนักพัฒนายา เพราะถ้าการระบาดเกิดขึ้นแค่ในประเทศที่กำลังพัฒนา ที่ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่มีกำลังซื้อที่ต่ำ การสานต่องานวิจัยในเชิงธุรกิจ ก็อาจจะไม่เกิด และท้ายที่สุด ถ้าจำเป็นต้องใช้เวลานาน โครงการก็อาจจะล้มหายไปไม่เป็นท่าเพราะว่าไม่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุน

 

โควิดนี้เป็นกรณีพิเศษ การระบาดแบบแพนเดมิกที่ก่อให้เกิดวิกฤตทั้งในด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุขไปทั่วเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ทั้งในประเทศที่รอการพัฒนา ไปจนถึงประเทศที่กำลังพัฒนา และลามไปถึงในประเทศที่พัฒนาแล้ว โรคระบาดระดับนี้ ไม่มีทางเลือกอื่น ถ้าอยากรอด ต้องหาทางรอดไปด้วยกัน นักพัฒนายาจากทั่วโลกจึงต้องระดมเดินหน้าเต็มสูบเพื่อหาหนทางที่จะออกจากวิกฤตนี้ไปพร้อมๆ กันอย่างด่วนที่สุดและด้วยแรงเงินจากการทุ่มทุนสร้างของบาร์ดา การพัฒนาจึงเกิดขึ้นแบบก้าวกระโดด สมชื่อวาร์ปสปีด

 

แต่ไม่ใช่แค่เพียงบริษัทยายักษ์ใหญ่ที่ได้ทุนบาร์ดาไปเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ บริษัทสตาร์ทอัปน้อยใหญ่ในวงการยาก็ได้รับอานิสงส์จากนโยบายบีบเวลาทั้งในช่วงการพัฒนาและการขออนุมัติที่เกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อไปด้วยอย่างถ้วนหน้าเช่นกัน

 

เพราะเมื่อเวลาหด ต้นทุนก็ลด โครงการก็จะกระชับ สตาร์ทอัปจะมีโอกาสเกิด และเมื่อปัจจัยเรื่องเวลาที่เป็นอุปสรรคสำคัญถูกตัดออกไป การพัฒนายาและวัคซีนจึงไม่ได้ถูกยึดครองโดยยักษ์ใหญ่ในวงการที่ต้องมีสายป่านในการลงทุนระยะยาวเหมือนแต่ก่อน ในเวลานี้ ใครที่มีไอเดียเจ๋งๆ ดีๆ ก็ล้วนมีโอกาสเกิดและพุ่งเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่ในประเทศไทยเอง ก็มีหลายที่ที่เริ่มจับมือกันเพื่อเร่งออกวัคซีนดีๆ ที่น่าจะเป็นความหวังใหม่ในการกำราบโรคออกมา​ ทั้งดีเอ็นเอ เอ็มอาร์เอ็นเอ โปรตีนซับยูนิต ไฮบริด ไวรัสเวกเตอร์ตอนนี้ก็มากันครบ ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอนการทดลองเฟสต้นๆ ในมนุษย์

 

ซึ่งถ้าเป็นก่อนยุคโควิด ด้วยกรอบเวลา โปรดักซ์เหล่านี้คงไม่มีโอกาสได้เกิดขึ้นง่ายๆ ในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้านโยบายให้ทุนยังมุ่งหวังผลแค่ในระยะสั้นวิสัยทัศน์ที่จะสร้าง “ระบบสำหรับการพัฒนายาและวัคซีนให้ได้พร้อมใช้ใน 100 วัน” ของไบเดน แสดงให้เห็นชัดเจนว่า แนวคิดโอเปอเรชั่นวาร์ปสปีดนี้น่าจะมาเพื่ออยู่ต่อ ไม่ได้จางหายไป เมื่อยุคโควิดสิ้นสลาย (ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะเมื่อไร)

 

นี่คือโอกาสดีๆ ที่ผุดขึ้นมาในระหว่างช่วงวิกฤตที่สตาร์ทอัปยุคใหม่ที่มีไอเดีย มีไฟ และหัวใจแห่งนักพัฒนาควรจะรีบไขว้คว้า เพื่อเติบโต และเป็นช่วงเวลาทองที่ภาครัฐควรจะรีบเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายสนับสนุนให้เกิดเป็นระบบนิเวศที่เอื้อต่อการบ่มเพาะงานวิจัยทั้งพื้นฐาน และการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพราะการอุบัติใหม่อีกครั้งจากเถ้าถ่านแห่งหายนะ อาจจะเป็นเส้นทางสู่อนาคตอันสดใส!