"อนุสรณ์ ธรรมใจ"มองธุรกิจการเงินการธนาคารไทยสดใสเดินหน้าสู่"เทคคอมพานี"

"อนุสรณ์ ธรรมใจ"มองธุรกิจการเงินการธนาคารไทยสดใสเดินหน้าสู่"เทคคอมพานี"

"อนุสรณ์ ธรรมใจ" อดีตบอร์ดแบงก์ชาติมองอนาคตธุรกิจการเงินธนาคารไทยสดใส เดินหน้าสู่เทคคอมพานี หนุนราคาหุ้นเติบโตในระยะกลางระยะยาว แนะบริษัทเล็กเร่งปรับตัว พร้อมคุมเข้มป้องกันการผูกขาด

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า อนาคตธุรกิจการเงินการธนาคารไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ด้วยการขยายพรมแดนทางธุรกิจออกไป ซึ่งพลวัตนี้ส่งผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตลาดการเงิน เพิ่มบทบาทของอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นกว่าเดิม อาจทำให้การผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้น ฉะนั้นต้องส่งเสริมให้เกิดสภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และเปิดพื้นที่ให้รายเล็กรายกลางสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

สถาบันการเงินขนาดเล็ก ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อขนาดเล็ก กิจการแพลตฟอร์มขนาดเล็กต้องมีการปรับตัวให้อยู่รอด หลังการปรับโครงสร้างใหม่ของธนาคารไทยพาณิชย์สู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน เชื่อว่าธนาคารขนาดใหญ่ของไทยอย่างน้อยสี่แห่งมีความพร้อมสามารถเดินหน้าสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินได้เช่นเดียวกัน โดยธุรกิจการให้บริการการเงินของธนาคารแบบดั้งเดิม  Traditional Banking Service จะลดบทบาทลงอย่างรวดเร็ว ธนาคารใดที่มีการลงทุนในส่วนนี้ไว้มากเกินไปจะมีภาระต้นทุนสูงกว่าคู่แข่ง

ขณะที่การให้บริการการเงินและปล่อยสินเชื่อแบบดิจิทัล (Digital Financial Service) และธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม การลงทุนและการบริการทางด้านเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีบล็อกเชนจะเป็นอนาคตของกลุ่มธุรกิจการเงิน สิ่งนี้จะทำให้ราคาหุ้นของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ปรับตัวสูงขึ้นจากการคาดการณ์การเติบโตของผลกำไรในอนาคตในระยะปานกลางและระยะยาว ส่วนในระยะสั้นนั้น การขยายตัวของสินเชื่อและปัญหาหนี้เสียยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ Covid-19 

การขยับตัวของธนาคารขนาดใหญ่จะทำให้บรรดาธุรกิจบริการทางการการเงินขนาดย่อม ขนาดเล็กและขนาดกลางที่ไม่มีฐานลูกค้ากลุ่มเป้าหมายชัดเจนได้รับผลกระทบและต้องปรับตัว แม้ว่าการขยายตัวของการร่วมทุนของกลุ่มทุนขนาดใหญ่จะทำให้ภาคธุรกิจมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพิ่มความมั่งคั่งให้ผู้ถือหุ้น แต่อาจทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจ มีกลุ่มธุรกิจ Too big to fail หรือ ใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้มมากขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่ความเสี่ยงของภาระต่อเงินสาธารณะในอนาคต หรือ อาจทำให้เกิด “จริยวิบัติ” (Moral Hazard) ได้

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา Moral Hazard ต้องอาศัยกฎระเบียบที่ทันสมัย และการกำกับดูแลกิจการที่เหมาะสมโดยทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีการเงินและกลุ่มธุรกิจธนาคารมีการควบรวมจำนวนมาก เช่น บริษัท Square กับ บริษัท Afterpay หรือ Bill.com กับ Invoice2go หรือ U.S. Bank กับ PFM Asset Management เป็นต้น จึงต้องมีกฎระเบียบคอยกำกับไม่ให้มีส่วนแบ่งตลาดใหญ่มากจนมีอำนาจเหนือตลาดได้ 

 

ขณะที่ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ วิธีการทำธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ทำให้สำเนาสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมากมายและเข้าถึงได้ฟรีอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เทคโนโลยีทำให้เกิดการเข้าถึงสินค้าและบริการมากมายได้ง่ายขึ้นในราคาที่ถูกลง ดังนั้น ภาคธุรกิจการเงินการธนาคารจึงต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการปล่อยสินเชื่อบุคคลสู่บุคคล ธุรกิจอื่นๆ สามารถขยายมาให้บริการทางการเงินได้ ทำให้บทบาทและธุรกิจของธนาคารแบบเดิมลดลงไปในอัตราเร่ง

การที่ผลกำไรของกลุ่มธุรกิจธนาคารยังดีอยู่เป็นเพราะโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ผลกำไรของกลุ่มธนาคารไม่ได้สะท้อนมาที่ราคาหุ้นธนาคารมากนักในช่วงที่ผ่านมาจากโครงสร้างองค์กรที่เป็นอุปสรรคต่อการปลดปล่อยมูลค่าทางธุรกิจให้สะท้อนมาที่ราคาหุ้น การจัดโครงสร้างใหม่ของกลุ่มธุรกิจธนาคารและการเงิน รวมทั้งการขยายพรมแดนทางธุรกิจโดยอาศัยฐานลูกค้าที่มีอยู่จะทำให้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น และสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อการควบรวมของธนาคารขนาดเล็กอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ เราจะเห็นการหลอมรวมของธุรกิจธนาคาร ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจสื่อสังคมออนไลน์ ธุรกิจค้าปลีกและเครือข่ายมากขึ้น องค์กรที่จะอยู่รอดได้จึงจำเป็นต้องมีการร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจข้ามอุตสาหกรรม หรือ จำเป็นต้องทำธุรกิจแบบครบวงจรมากขึ้น ด้วยการผนวกรวม ทั้งแนวตั้งและแนวนอน (Verticle and Horizontal Integration) จะเกิดนวัตกรรมมากขึ้นในภาคธุรกิจไทยจากการลงทุนใน ธุรกิจสตาร์อัพร่วมกันของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม แม้การผนวกรวมธุรกิจหรือกิจการทั้งแนวตั้งและแนวนอน จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยต่อธุรกิจข้ามชาติระดับภูมิภาคหรือระดับโลกได้ดีขึ้น เพิ่มบทบาทและการขยายกิจการของธุรกิจขนาดใหญ่ในเศรษฐกิจภูมิภาค ประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจดีขึ้น แต่อาจทำให้มิติความเป็นธรรมและการกระจายความมั่งคั่งและรายได้อ่อนแอลง และทำให้อำนาจผูกขาดในระบบเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นได้

เมื่อมีการหลวมรวมของภาคเศรษฐกิจสำคัญและกิจการหลายอย่างเข้าด้วยกัน เช่น การหลอมรวมกิจการทางด้านโทรคมนาคม กับ เทคโนโลยีสารสนเทศ และ สื่อสารมวลชน มีการบูรณาการกันระหว่างธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมกับธุรกิจบริการทางการเงิน มีการทำงานแบบเครือข่ายเพิ่มขึ้นในภาคการผลิต ภาคบริการอย่างมากมายอันเป็นผลจากเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงได้มากขึ้น เศรษฐกิจยุคดิจิทัลทำให้เกิดการทำงานแบบเครือข่าย เชื่อมโยงทุกอย่างเข้ากับโลกอินเตอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็น ระบบการผลิต หุ่นยนต์ เครื่องจักรอัตโนมัติและการทำงานของมนุษย์ เครื่องจักรในโรงงานหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือสื่อสาร มือถือและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สามารถทำงานประสานกันแบบอย่างมีพลวัต (Dynamic) มีการสื่อสารระหว่างเครื่องจักรกับเครื่องจักร (M2M) และ เครื่องจักรกับมนุษย์ (M2H) ก่อให้เกิดแพลตฟอร์มหรือโครงสร้างพื้นฐานการทำงาน Digital Platform ได้ถูกพัฒนามากขึ้นจนกลายเป็นธุรกิจสำคัญ 

เมื่อเราต้องก้าวสู่ยุคใหม่ของ Digital Platform บุคลากรที่มีความสามารถทางด้าน digital ไม่ได้มีเยอะ Workforce Portfolio จะเปลี่ยนแปลงไป ต่อไปการหาคน จะเพิ่มความยากมากขึ้น ไม่ใช่คนเกิดน้อยลง แต่ความสามารถและคุณภาพของระบบการศึกษาไทยที่ผลิตคนออกมาไม่เข้ากับระบบการผลิตการบริหารในอนาคต การจ้างงานจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบไปเพื่อตอบสนองต่อการขาดแคลนแรงงานและทักษะในบางสาขา เราอาจจะไม่เจอการจ้างงานแบบตลอดชีวิต หรือ Performance Time อีกต่อไป

แต่จะกลายเป็นจ้างงานแบบ Co-partner หรือ Strategic partner ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เราต้องใช้ digital เข้ามาช่วย ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่าน Transformation และเราอาจต้องเปิดเสรีตลาดแรงงานวิชาชีพชั้นสูงเพื่อให้สามารถได้ผู้เชี่ยวชาญและมีความสามารถพิเศษเข้ามาทำงานในระบบเศรษฐกิจไทย แต่ต้องพัฒนากลไกและระบบในการถ่ายเทความรู้ความสามารถรวมทั้งนวัตกรรมให้กับสถานประกอบการสัญชาติไทยเพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาว