คปภ. เข้าคุม เอเชียประกันภัย เร่งเคลียร์เคลมค้างจ่ายพันล้านจบใน 1เดือน

คปภ. เข้าคุม เอเชียประกันภัย เร่งเคลียร์เคลมค้างจ่ายพันล้านจบใน 1เดือน

คปภ.แจงส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสถานะการเงิน "เอเชียประกันภัย"เพื่อเร่งเคลียร์เคลมค้างจ่ายพันล้านให้จบใน 1เดือน พร้อมเปิดทางเพิ่มทุน หาพาร์ทเนอร์ร่วมทุนได้ แม้เบื้องต้นมีทรัพย์สินที่สูงพอ ยันบริษัทอื่นยังไม่มีปัญหาเข้าคุมกิจการ แต่ให้ใช้มาตรการผ่อนปรน 7 ข้อ

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยหลังจาก คปภ. ได้มีคำสั่งให้ บมจ.เอเชียประกันภัย 1950 หยุดรับประกันลูกค้ารายใหม่  และจ่ายเคลมลูกค้ารายเดิมตามปกติว่า ขณะนี้ คปภ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและควบคุมบกิจการแล้ว เพื่อให้สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันได้ทันกำหนดตามลำดับก่อนหลัง รวมถึงดูแลไม่ให้มีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน  ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 1 เดือนจะสามารถเคลียร์ปัญหาได้ และขณะนี้ ลูกค้าเอเชียประกันภัย ที่ต้องการแจ้งเคลม ยังสามารถติดต่อยื่นเคลมกับบริษัทได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยโควิด หรือประกันประเภทอื่น

"ขณะนี้กำลังเข้าไปตรวจสอบข้อมูลทางบัญชี สถานะการเงิน และยอดการแจ้งเคลมต่างๆ ว่าตรงกับที่ได้รับรายงานมาหรือไม่ เพื่อเข้าไปช่วยบริหารจัดการคลี่คลายปัญหาได้ทันท่วงที หลังจากที่ผ่านมาพบปัญหาการจ่ายเคลมล่าช้า ไม่ทันตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ คปภ.ยังเปิดช่องให้บริษัทสามารถลดทุน เพิ่มทุน รวมถึงการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนได้เพิ่มด้วย" 

 

 

 

นายสุทธิพล กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่พบปัญหาจากการทุจริต โดยต้นเหตุมาจากการประเมินสถานการณ์รับประกันโควิด ที่มียอดเคลมเข้ามาสูงกว่าคาดจนสภาพคล่องมีไม่เพียงพอ ซึ่งทราบว่าทางบริษัทมียอดเคลมค้างกว่า 1,000 ล้านบาท แต่เบื้องต้นบริษัทยังมีทรัพย์สินที่สูงเพียงพอ หลังจากนี้ คปภ.จะต้องประเมินสถานการณ์อนาคตด้วยว่า หากมียอดเคลมเข้ามาเพิ่มจะสามารถดูแลทั้งหมดได้หรือไม่

อีกทั้ง  ปัจจุบันมีบริษัทประกันที่ คปภ.เข้าไปควบคุมแบบ เอเชียประกันภัยเพียงแห่ง และก็ยังไม่พบว่าความเสี่ยงในเชิงระบบ

โดยในส่วนบริษัทประกันอื่นที่มีปัญหาการจ่ายเคลมล่าช้า เท่าที่มีการหารือบริษัทเหล่านี้ยินดีที่จะเข้าร่วมมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวของ คปภ. 7 ข้อ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเพิ่มทุน หรือเพิ่มสภาพคล่องนำมาใช้จ่ายเคลมผู้เอาประกันโควิดเป็นการชั่วคราว ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดูแลสถานการณ์ ณ ตอนนี้ได้

 

 

รายงานข่าว จาก คปภ. เปิดเผยว่า   ในวันจันทร์ 27 ก.ย.นี้  ต้องรอดูว่า เอเชียประกันภัย จะส่งแผนแนวทางการแก้ไขปัญหาจะเป็นอย่างไร ตั้งแต่การจ่ายเคลมเดิมทั้งหมด ไม่เฉพาะเคลมประกันโควิดเท่านั้น  รวมถึงประเมินอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนว่า จะต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หากต่ำกว่าก็สามารถยื่นขอผ่อนผันเกณฑ์ทางการเงินเพื่อรักษาสภาพคล่องได้ แต่ก็ต้องมีแนวทางหาแหล่งเงินที่ไม่มีภาระผูกพันมาเติมเงินกองทุนให้ครบ ภายใน 30 วัน

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมานี้ บริษัทประกันดังกล่าว มีสถานการณ์เรื่องร้องเรียนเคลมประกันโควิดมากที่สุดจนผิดปกติ สะท้อนการแก้ไขปัญหาจ่ายเคลมดังกล่าวยังไม่ดีพอ ทำให้ไม่สามารถมั่นใจได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการดูแลผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน ในช่วง 1 เดือนจากนี้ขอให้หยุดรับประกันใหม่ก่อน มาโฟกัสการจ่ายเคลมที่ค้างอยู่ให้หมด หากทำให้เงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์  คปภ. ได้ผ่อนผันเกณฑ์ทางการเงินช่วยเหลือ  ซึ่งบริษัทต้องเร่งฟื้นฟูตัวเองเพื่อทำให้ความเชื่อมั่นกลับมา  เราเชื่อมั่นว่าบริษัทยังกลับมาได้ เพราะเมื่อบังคับใช้กฎหมายนี้แน่นอนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวม แต่เป็นวิธีการที่ดีต่อประชาชนและบริษัทเช่นกัน”

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า  สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้อาจจะดูน่ากลัว แต่ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก   เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะกับบริษัท ละบริษัทประกันที่รับประกันภัยโควิดเท่านั้น ไม่ใช่เหตุการณ์ที่จะลามเป็นโดมิโนกระทบทั้งอุตสาหกรรมหรือนำไปสู่การแห่ถอนกรมธรรม์แต่อย่างใด   เพราะประชาชนรู้และเข้าใจสถานการณ์ดังกล่าวดี จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดหนักในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา  บริษัทประกันกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบและเร่งแก้ไขปัญหามาตลอดในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา 

  “ตระหนักดีว่า ลูกค้าประโควิด เป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยในต่างจังหวัดที่เริ่มซื้อประกัน  จริงๆก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ทำให้รู้สึกไม่ดี แต่ประเด็นนี้คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ซึ่งบริษัทประกันกลุ่มนี้เร่งจ่ายเคลมให้เร็วจากยอดเคลมที่เข้ามามากกว่าปกติเป็นหลายเท่าตัว”  

นายอานนท์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่  คปภ. ต้องใช้คำสั่งหยุดรับประกันชั่วคราวกับบริษัทประกันใดนั้น มองว่า คงมีความจำเป็น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า บริษัทนั้นต้องเข้าข่ายปิดกิจการ  อีกทั้งในสถานการณ์โควิดที่ยากลำบากต่อบริษัทประกันกลุ่มนี้ไม่ว่าจะไซด์เล็ก กลาง ใหญ่  คปภ.ยังได้มีแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือรองรับ โดยมีมาตรการผ่อนผันทางการเงินดูแลสภาพคล่องให้บริษัทประกันกลุ่มนี้ยังสามารถดำเนินการจ่ายเคลม และดำเนินธุรกิจต่อไปได้  ภายใต้สถานการณ์ยอดเคลมประกันโควิดในเดือนก.ย.คาดว่า จะพุ่งมาอยู่ที่ระดับ 12,000-13,000ล้านบาท จากเดือน ส.ค.ที่ระดับ 9,000 ล้านบาท  โดยสมคมฯ ประเมินว่า ผลกระทบจากเคลมประกันโควิดจะเป็นแค่ช่วงระยะสั้น อีกไม่นานสถานการณ์ต่างๆ จะกลับมาดีขึ้นเช่นเดียวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดที่เริ่มชะลอตัวลง 

“ปัญหาก่อนหน้านี้ บริษัทที่รับประกันโควิด เจอเคลมเข้ามาเยอะกว่าปกติหลายเท่า ทำให้จ่ายเคลมไม่ทัน เมื่อเร่งจ่ายเคลมใน 15 วัน ทำให้มีค่าใช้จ่ายรายเดือนเพิ่มขึ้นมาก ก็เจอกับปัญหาสภาพคล่อง  เงินกองทุนอาจขาดบางช่วงได้   แต่เมื่อคปภ.ผ่อนผันเกณฑ์ทางการเงินให้แล้ว และต้องหาเงินนำมาเพิ่มทุน ภายใน 30 วัน ซึ่งบริษัทมีวีธีบริหารจัดการหากเงินมาเติมได้ ทั้งขายสินทรัพย์ลงทุนต่างๆ  เช่น หุ้น เงินฝาก หรือใช้วิธีการกู้เงินจากสถาบันหารเงินหรือออกหุ้นกู้  หลังจากต้องดูว่าจะมีบริษัทไหนบ้างที่เข้ามาขอผ่อนผันบ้างและจะปฏิบัติการอย่างไร แต่ เชื่อว่า บริษัทที่เกิดปัญหา สามารถผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ ”                                                  

พร้อมกันนี้ นายอานนท์ ยังแนะนำประชาชนด้วยว่า การเลือกซื้อประกันภัย ก็เหมือนกับการลงทุน  ก่อนตัดสินใจซื้อประกัน ต้องพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของบริษัท ดูประวัติบริษัท คณะกรรมการและผู้บริหาร รวมถึงฐานะการเงิน ที่มีเงินกองทุนหนา และมีบริการที่ดี  แต่อย่างไรก็ตามในระบบประกัน มีคปภ. ที่เป็นหน่วยงานกำกับ ดูแลอุตสาหกรรมประกันอย่างแข็งแกร่งและดูแลสิทธิประโยชน์ผู้เอาประกันเป็นสำคัฐ และยังมีกองทุนประกันวินาศภัยมารองรับตามกฎหมายดูแลกรณีบริษัทประกันปิดกิจการด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายจุลพยัพ ศรีกาญจนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการจ่ายเคลมประกันโควิดที่เข้ามาเป็นจำนวนมาก และณ เดือนส.ค. 2564 บริษัทมีอัตราความเพียงพอจองเงินกองทุน อยู่ที่ระดับ 140% ยังสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่หากเงินกองทุนขาดในบางช่วง บริษัทต้องเร่งเติมสภาพคล่อง ซึ่งบริษัทมีวิธีการบริหารจัดการเพิ่มสภาพคล่อง จากการขายทรัพย์สินลงทุน อย่างเช่น หุ้น เป็นต้น