เครือข่าย 68 เทศบาล แก้ปัญหาขยะพลาสติก EEC

เครือข่าย 68 เทศบาล  แก้ปัญหาขยะพลาสติก EEC

ภาครัฐ-เอกชน ร่วมผลักดันเครือข่าย 68 เทศบาล ร่วมแก้ปัญหาขยะพลาสติกใน EEC ดันเศรษฐกิจหมุนเวียน หนุนโรดแมปลดขยะพลาสติกอ่าวไทย 50% ภายในปี 2570

โครงการ Rayong Less-Waste (ระยอง เลสเวสท์) ร่วมกับ PPP Plastics กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ท้องถิ่นจังหวัดระยอง และพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อผลักดันการจัดการขยะพลาสติกในจังหวัดระยอง โดยได้มีการลงนามร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2564

นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า การร่วมลงนามข้อตกลงบันทึกความร่วมมือครั้งนี้เพื่อขยายโมเดลการจัดการขยะและพลาสติกใช้แล้วในระดับชุมชนและให้ความรู้ในโรงเรียน ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ครอบคลุมครบทั้ง 68 เทศบาล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าและพัฒนาคุณภาพของพลาสติกใช้แล้วให้สามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้หลากหลายขึ้น เป็นการสร้างอาชีพ ลดปริมาณขยะไปหลุมฝังกลบ 

รวมถึงสนับสนุนโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกของภาครัฐที่กำหนดเป้าหมายการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% คาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณพลาสติกใช้แล้วและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่า 1,000 ตันต่อปี

สำหรับโครงการ “Rayong Less-Waste” ได้รับทุนสนับสนุนจาก Alliance To End Plastic Waste ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับโลกที่เกิดจากความร่วมมือของบริษัทในห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อร่วมแก้ปัญหาขยะพลาสติก โครงการนี้เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการระยองโมเดล ซึ่ง PPP Plastics และจังหวัดระยองได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 18 แห่ง เพื่อ สร้างโมเดลการจัดการขยะและพลาสติกใช้แล้วในระดับชุมชน โดยปี 2562 และ 2563 เพิ่มปริมาณพลาสติกสะอาดที่นำกลับไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า 700 ตัน

“การที่จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริงและยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งสำคัญที่สุดในฐานะผู้บริโภค คือ การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่ครัวเรือนในชุมชน เพื่อให้ขยะแต่ละชนิดสามารถนำไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ผมมั่นใจว่าจังหวัดระยองของเรามีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะผนึกกำลังสร้างและยกระดับให้บ้านของพวกเราเป็นต้นแบบการจัดการขยะที่ยั่งยืน”

นายวิจารย์ สิมาฉายา ประธาน PPP Plastics และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติก และขยะอย่างยั่งยืน หรือ PPP Plastics จะร่วมผลึกกำลังกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก 2561-2573 และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง โดยจะลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลดลงไม่ต่ำกว่า 50% ภายในปี 2570 

พร้อมทั้งการผลักดันในเชิงนโยบายและเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชนเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปลูกจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาขยะได้มีการดำเนินงานในบริบทที่มีความสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green : BCG Model) หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ที่รัฐบาลกำหนดเป็นโมเดลเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นวาระแห่งชาติ อีกด้วย BCG โดยเฉพาะในส่วนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งเน้นการลดการใช้ทรัพยากร การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการลดมลพิษขยะพลาสติกในทะเลควบคู่กันไปด้วย ในขณะที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

สำหรับโครงการ Rayong Less-Waste ได้ขยายโมเดลการจัดการขยะระดับชุมชนและท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนไปให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดระยอง ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกับท้องถิ่นจังหวัด และ อปท.วางแผนงาน และเป้าหมายร่วมกัน โดย อปท.ได้คัดเลือกชุมชนในพื้นที่อย่างน้อย 1 ชุมชน เป็นต้นแบบการจัดการคัดแยกขยะและพลาสติกที่ต้นทาง จัดกิจกรรมให้ความรู้ เรื่องการคัดแยกขยะใช้หลัก 3 R และ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดแวลูเชน

นายวิรัช เกลียวปฏินนท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก ส.อ.ท.กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก ส.อ.ท.มีความพร้อมในการร่วมดำเนินโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมย์และวัตถุประสงค์หลักของกลุ่มพันธมิตร AEPW และจังหวัดระยอง โดยนอกเหนือจากการคัดแยกขยะและขยายผลชุมชนต้นแบบแล้ว ยังมองถึงแนวทางจัดการขยะพลาสติกตลอดซัพพลายเชน ซึ่งสอดคล้องแนวทาง BCG Model ทั้งนี้ ยังเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในอนาคตอีกด้วย

สมชาย รุ่งเรือง ท้องถิ่นจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองพร้อมสนับสนุนโครงการ “Rayong Less-Waste” เพื่อผนึกกำลังสร้างระยองต้นแบบจัดการขยะยั่งยืน เพื่อให้เกิดระบบการบริหารจัดการขยะภายในองค์กรรัฐ อปท. เสริมความรู้สร้างความตระหนักและ ความร่วมมือในการเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะของคนในชุมชน ส่งเสริมให้มีระบบการจัดการขยะและคัดแยกที่ดี เพื่อเพิ่มอัตราการรีไซเคิลให้สูงขึ้นสอดคล้องนโยบายแก้ไขปัญหาขยะตกค้างในทะเลที่ต้นทางมาจากบนฝั่ง

ทั้งนี้ ไทยได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลอย่างจริงจัง โดยที่ผ่านมาได้จัดทำโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกปี 2561-2573 โดยตั้งเป้าเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ และไมโครบีดส์ ภายในปี 2562 ,เลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมใส่อาหาร หลอดและแก้วพลาสติกชนิดบางแบบใช้ครั้งเดียว ภายในปี 2565 รวมถึงการนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ใหม่ 100% ภายในปี 2570 

จนทำให้ไทยลดอันดับประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลสูงสุดในโลกจากอันดับ 6 เป็น อันดับที่ 10 ได้สำเร็จ โดยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้กว่า 25,284 ล้านใบ หรือ 228,820 ตัน