TNH กำไร 4Q64 พีคหนุนกำไรปี 64 เติบโต 14%YoY

TNH กำไร 4Q64 พีคหนุนกำไรปี 64 เติบโต 14%YoY

งวด 4Q64 กำไรสุทธิ +118%QoQ +116%YoY สูงสุดรายไตรมาส : งวด 4Q64 (สิ้นสุด 31 ก.ค. 64) มีกำไรสูงสุดรายไตรมาสและสูงสุดในรอบ 3 ปี (3Q61 กำไรสุทธิ 204 ล้านบาท) ที่ 119 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 118%QoQ และ 116%YoY

เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพหรือ UCEP รับไว้ในสถานพยาบาลเฉพาะกิจ (Hospitel) ที่เป็นเครือข่ายเพิ่มขึ้น  ส่งผลให้มีรายได้ค่ารักษาพยาบาล 602 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 31%QoQ และ 32%YoY  ผลการดำเนินงานทั้งปี 64 มีรายได้ 2,044 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2%YoY และกำไรสุทธิ 293 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 14%YoY ซึ่งดีกว่าประมาณการของฝ่ายวิจัย 5% แม้มีรายได้ใกล้เคียงประมาณการแต่อัตรากำไรขั้นต้นปรับดีขึ้นสู่ 26% จาก 24% ในปี 63 และดีกว่าสมมติฐานของฝ่ายวิจัยที่ 25% เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้จากการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงมีสัดส่วนสูงกว่า 42% 

     ปรับประมาณการกำไรปี 65 เพิ่มขึ้น 10% : การที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกซึ่งกว่า 40% เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งผู้บริหารคาดว่าสถานการณ์นี้จะดำเนินอยู่จนถึงปลาย ธ.ค.64  ฝ่ายวิจัยได้ปรับเพิ่มประมาณการรายได้เพิ่มขึ้น 4% จากเดิมเป็น 2,200 ล้านบาท ซึ่งเติบโต 8%YoY พร้อมกันนี้ได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตรากำไรขั้นต้นจากเดิม 25.3% เป็น 26%  เนื่องจากคาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปีงบการเงินจะยังมีผู้ป่วยโควิด-19 ต่อเนื่อง ส่วนครึ่งปีหลังที่คาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้จากศูนย์ส่งเสริมสุขภาพองค์รวม (THAINAKARIN WELLNESS CENTER) ส่งผลให้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 65 (สิ้นสุดก.ค. 65) เพิ่มขึ้น 10% จากเดิมเป็น 320 ล้านบาทซึ่งเติบโต 9%YoY  และคาดกำไรจะเติบโตต่อเนื่องอีก 6%YoY ในปี 66

      อนาคตยังมีศักยภาพเติบโตต่อเนื่อง  : การเติบโตในอนาคตของธุรกิจโรงพยาบาลสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ระยาวของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพ 4 ด้าน ได้แก่ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ศูนย์กลางบริการวิชาการ และงานวิจัย (Academic Hub) และศูนย์กลางยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)  ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้างศูนย์รังสีรักษา (Linac Center) เพื่อให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งซึ่งคาดจะแล้วเสร็จและเริ่มบริการได้ราว 4Q65   ขณะที่โครงการโรงพยาบาลไทยนครินทร์ 2 ที่ปรับการก่อสร้างเป็นการทยอยทําทีละเฟสย่อยจึงไม่มีภาระในการกู้เงินเนื่องจากสามารถใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานราวไตรมาสละ 200-250 ล้านบาทมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการก่อสร้าง

      คงคําแนะนํา “ถือ” ปรับใช้ราคาเหมาะสมสำหรับปี 65 เท่ากับ 35.50 บาท  : ฝ่ายวิจัยมีมุมมองบวกต่อแนวโน้มธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดสม่ำเสมอ  ในการประเมินมูลค่าเหมาะสมโดยปรับเพิ่ม Prospective P/E เป็น 20 เท่าจากเดิม 19 เท่ายังต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับ P/E กลุ่มในตลาด mai ที่ระดับ 58 เท่า และ P/E กลุ่มในตลาด SET ที่ 48 เท่า ราคาปัจจุบันซื้อขายที่ P/E ที่ 20 เท่า โดยประเมินกำไรต่อหุ้นปี 65 เท่ากับ 1.78 บาทได้ราคาเหมาะสมปี 65 เท่ากับ 35.50 บาท (จากเดิม 30 บาท) ซึ่งใกล้เคียงกับราคาปิดล่าสุด พร้อมคาดการณ์ div. yield ราว 1.6% ต่อปี  จึงคงคำแนะนำ “ถือ”

 

ปัจจัยเสี่ยง 

1) จำนวนผู้ป่วยลดลงจากก่อนสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
2) การก่อสร้างรพ.ไทยนครินทร์ 2 มีความล่าช้าจากแผนจากการทบทวนโครงการใหม่ทั้งหมด
3) คู่แข่งเพิ่มขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียง