รัฐโหม 1.7 แสนล้าน ลดค่าครองชีพ-พยุงกำลังซื้อ

ที่ประชุม ครม. เห็นชอบกรอบแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามข้อเสนอของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. โดยแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจมีวงเงิน 1.7 แสนล้านบาท 

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ ที่ประชุมเห็นชอบกรอบแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามข้อเสนอของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ซึ่งเป็นการวางกรอบการใช้เงินกู้ตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564  หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจมีวงเงิน 1.7 แสนล้านบาท 

หลักการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ พ.ร.ก. เพิ่มเติม มี 3 หลักเกณฑ์ คือ 1.รักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ โดยคาดว่าจะรักษาระดับการจ้างงานได้ 3.9 แสนราย 2.เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการในสาขาที่ประเทศมีความได้เปรียบและมีศักยภาพในการพัฒนา และ 3.กระตุ้นการบริโภค กระตุ้นการตลาด และรักษาอุปสงค์ให้กับภาคธุรกิจ

โดยที่ประชุมอนุมัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนและลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ในส่วนแรกเป็นการลดเงินสมทบประกันสังคมต่ออีก 3 เดือน ตั้งแต่ 1 กันยายน-30 พฤศจิกายน 2564 โดยลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละ 5% เหลือ 2.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน 

ส่วนผู้ประกันตนตาม ม.39 ให้ปรับลดอัตราจ่ายเงินสมทบจากเดิมในอัตราเดือนละ 432 บาท ลดลงเหลือ 235 บาทต่อเดือน โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา

มาตรการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างและผู้ประกันตนจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ทำให้ผู้ประกันตนในระบบจ่ายเงินสมทบลดลงเป็น 10,721 ล้านบาท และนายจ้างจ่ายลดลงเป็น 9,629 ล้านบาท ส่งผลดีต่อผู้ประกันตนทำให้สามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่าย ช่วยเสริมสภาพคล่องได้ประมาณ 945-1,575 บาทต่อคน และนายจ้างมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ 

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยในหลักการและขยายมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา อนุมัติงบกลาง ปี 2564 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 27,005 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้แก่ 

1.ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำค่าไฟ เป็นเวลา 12 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-กันยายน 2565 วงเงิน 2,018 ล้านบาท 

2.สนับสนุนค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการเพิ่มเบี้ยความพิการ วงเงินรวม 18,815 ล้านบาท 

3.โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายรองรับกระบวนการลงทะเบียนรอบใหม่ วงเงิน 1,642 ล้านบาท

4.จัดสรรวงเงินสำหรับจัดสรรสวัสดิการแบบไม่มีกำหนดระยะเวลาสำหรับผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีบัตร วงเงิน 4,530 ล้านบาท

ส่วนโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และโครงการทัวร์เที่ยวไทย จะเปลี่ยนแปลงระยะเวลาสิ้นสุดของทั้ง 2 โครงการเป็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565

สำหรับรายละเอียดโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 คือ รัฐสนับสนุนค่าโรงแรม 40% หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน สนับสนุนคูปองอาหาร 600 บาทต่อคืน และสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 40% หรือไม่เกิน 2,000 บาท หรือ 3,000 บาท ตามเงื่อนไขของแต่ละจังหวัด

ส่วนโครงการทัวร์เที่ยวไทย รัฐสมทบเงินให้ 40% ของราคาแพ็กเกจท่องเที่ยว หรือไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน