ส่องทำเนียบผู้ตรวจฯคมนาคม เมื่อ “มือ1” ถูกย้ายเข้ากรุ

ส่องทำเนียบผู้ตรวจฯคมนาคม เมื่อ “มือ1” ถูกย้ายเข้ากรุ

เกาะติดประเด็นร้อน ส่องทำเนียบผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม หลัง "ปฐม" อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ยื่นหนังสือลาออก ถูกโยกย้ายนั่งเก้าอี้ผู้ตรวจราชการ

“ผู้ตรวจราชการกระทรวง” ตามระเบียบสำนักนายก ระบุไว้ว่า ตำแหน่งดังกล่าวจะต้องรับผิดชอบและมีอำนาจและหน้าที่ในการตรวจราชการ เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เฉพาะในขอบเขตอำนาจและหน้าที่ ของกระทรวง ในฐานะผู้สอดส่องดูแลแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง และปลัดกระทรวง

โดยในทางปฏิบัติแล้ว ต้องยอมรับว่าผู้ตรวจราชการกระทรวง มีหน้าที่ดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมาย ถ้าไม่มอบหมายก็ไม่ได้ทำ ตำแหน่งนี้ข้าราชการระดับสูงจึงรู้กันดีว่า “ถูกแขวน” ให้หมดหน้าที่จากตำแหน่งเดิม ซึ่งหากเปรียบเทียบกับตำแหน่งอธิบดี ที่มีตำแหน่งทางราชการเป็นนักบริหารระดับสูงเทียบเท่ากันนั้น จะพบว่าตำแหน่งอธิบดีที่มีหน้าที่ อำนาจและความรับผิดชอบเบ็ดเสร็จในหน่วยงานที่กำกับ จึงมีความอิสระ และคล่องตัว

ประเด็นร้อนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อดกล่าวถึงไม่ได้สำหรับการโยกย้ายสับเปลี่ยนข้าราชการระดับสูงของกระทรวงคมนาคม หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติโยกย้ายสับเปลี่ยนข้าราชการระดับสูงหมุนเวียนสังกัดกระทรวงคมนาคม จำนวน 3 ราย

และหลังจากนั้นหนึ่งในรายชื่อผู้ถูกโยกย้าย คือ นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดี (นักบริหารระดับสูง) กรมทางหลวงชนบท ที่จะต้องย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการกระทันหัน (14 ก.ย.2564) 

รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท เผยถึงเรื่องนี้ว่า การลาออกของนายปฐมถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกะทันหัน เพราะตัดสินใจเขียนหนังสือขอลาออกจากราชการ ในขณะที่ยังเหลืออายุราชการ 1 ปี โดยจะเกษียณอายุราชการในปี 2565 ซึ่งหนังสือดังกล่าวลงวันที่ 14 ก.ย.2564 ระบุว่า แจ้งความประสงค์ขอลาออกจากราชการเพราะมีปัญหาด้านสุขภาพ จึงขอลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2564

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมานายปฐม ถือเป็นหนึ่งในหัวหน้าหน่วยที่มีผลงานดี เนื่องจากผลักดันการเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมาย อีกทั้งยังรับนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นำมาปฏิบัติอย่างเห็นผล โดยเฉพาะในเรื่องการนำยางมาแปรรูปทำแบริเออร์ยางครอบคอนกรีต และโครงการติดตั้งเสาหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) รวมถึงเดินหน้าโครงการใช้ความเร็วของรถไม่เกิน 120 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันโครงการปรับปรุง ก่อสร้าง และขยายถนนของกรมทางหลวงชนบท ตามนโยบายรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเส้นทางถนนส่งเสริมยุทธศาสตร์เส้นทางการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย (Thailand Riviera)

อย่างไรก็ดี จากปมร้อนโยกย้ายที่เป็นเหตุ (หรือไม่) ในการยื่นหนังสือลาออกของอธิบดีกรมทางหลวงชนบท แต่การโยกย้ายสับเปลี่ยนข้าราชการกระทรวงคมนาคม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แม้ในยุคที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะการโยกย้ายตำแหน่งอธิบดี และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม

โดยปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมีอดีตผู้บริหารเบอร์ 1 ในสังกัด ซึ่งล้วนเป็นอดีตข้าราชการในตำแหน่งอธิบดี และหัวหน้าสังกัด มีอำนาจในการบริหารงานเต็มมือ และท้ายที่สุดต้องถูกแต่งตั้ง โยกย้ายมาเป็นผู้ตรวจราชการ แม้จะมีผลงานการทำงานที่โดดเด่น อาทิ

  • นายจุฬา สุขมานพ

อดีตเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ต่อมาได้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 48/2559 เพื่อดำเนินการปลดล็อคธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยหลังทำสำเร็จ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2563 ครม. มีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอ บรรจุ และแต่งตั้งนายจุฬา สุขมานพ ผู้ไปปฏิบัติงานตามมติคณะรัฐมนตรีกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม

  • นายทวี เกศิสำอาง

อดีตอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ซึ่งถูกแต่งตั้งในสมัยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรี เลื่อนจากรองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) มารับตำแหน่งอธิบดี ทย.ได้เพียง 1 ปี ก่อนจะถูกโยกย้ายมาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม แม้จะเหลืออายุงานอีกเพียง 1 ปี โดยในขณะนั้นมีกระแสข่าวของการโยกย้าย เนื่องจากการทำงานสนองนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รวมไปถึงการผลักดันนโยบายโอนย้าย 3 สนามบินภูมิภาคให้กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ไม่คืบหน้า