ชวนรู้ การทำงานแบบ ‘ไฮบริด’ มีประสิทธิภาพต่อพนักงานอย่างไร?

ชวนรู้ การทำงานแบบ ‘ไฮบริด’ มีประสิทธิภาพต่อพนักงานอย่างไร?

สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายขึ้น หลายบริษัทเรียกกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ สิ่งนี้สร้างความคับข้องใจให้ชาวออฟฟิศจำนวนมาก ชวนดู “พนักงานคิดเห็นอย่างไรกับการทำงานแบบไฮบริด ควรยืดหยุ่นมากขึ้นหรือไม่ ทางออกของบริษัทควรเป็นอย่างไร?”

เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้วที่ชาวออฟฟิศได้ Work From Home กันมา และเมื่อช่วงนี้สถานการณ์โควิดทั่วโลกเริ่มคลี่คลายขึ้น หลายบริษัทก็เริ่มเรียกตัวให้กลับมาทำงานที่ออฟฟิศ แต่สิ่งนี้กลับสร้างความคับข้องใจให้กับพนักงานเป็นจำนวนมาก

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนดู “พนักงานออฟฟิศทั่วโลกคิดเห็นอย่างไรกับการทำงานแบบไฮบริด ควรมีความยืดหยุ่นมากขึ้นหรือไม่ และทางออกของบริษัทควรเป็นอย่างไร?"

จากรายงานการเก็บข้อมูลเรื่อง “นิยามของการทำงานยุคใหม่” (Resetting Normal: Defining the New Era of Work) โดย อเด็คโค กรุป (Adecco Group) บริษัทที่ปรึกษาทรัพยากรบุคคลข้ามชาติ ได้มีการเก็บข้อมูลจากการตอบแบบสอบถามของพนักงานออฟฟิศทั่วโลก จำนวน 15,000 คน มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

ชาวออฟฟิศคิดอย่างไรกับการทำงานแบบ “ไฮบริด” ?

1. พนักงานต้องการทำงานโดยมี “ความยืดหยุ่น” (ทำงานทางไกล/สลับเข้าออฟฟิศ)

คิดเป็น 53% จากแบบสอบถาม

เหตุผลสำคัญ:

สถานการณ์การระบาดของโควิดได้เร่งให้รูปแบบการทำงานต้องพัฒนาไปไวขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย “ความยืดหยุ่น” ขององค์กรเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะไม่ว่าจะทำงานที่ไหนก็ตามก็สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ ซึ่งสถานการณ์โควิดก็ได้พิสูจน์ให้เห็นในเชิงประจักษ์

ทั้งนี้พนักงานออฟฟิศหลายคนก็ยังมีความกังวลต่อการติดโควิด-19 หากต้องกลับมาทำงานที่ออฟฟิศทุกวันอย่างไม่ยืดหยุ่น การมีทางเลือกให้พนักงานสามารถทำงงานนอกสถานที่ สลับกับเข้าออฟฟิศเมื่อมีวาระสำคัญต้องประชุมหรือคุยงาน นับเป็นวัฒนธรรมการทำงานใหม่ที่กำลังทาท้ายในยุคปกติใหม่นี้ เพราะ “รูปแบบการทำงานแต่ละรูปแบบ ไม่ได้เหมาะกับคนทุกๆ คน”

2.พนักงานที่มีลูกส่วนส่วนใหญ่อยากกลับออฟฟิศ

คิดเป็น 51% จากแบบสอบถาม

เหตุผลสำคัญ:

การทำงานที่บ้านเป็นปัญหาใหญ่สำหรับพนักงานออฟฟิศที่มีครอบครัวแล้วอย่างมาก เพราะโดยปกติหากออกไปทำงานนอกบ้าน แม้จะมีภาระยุ่งเหยิงเกี่ยวกับงานบ้านมากมาย แต่ทุกอย่างมักจะถูกจัดการให้เข้าที่เข้าทางก่อนที่จะมาทำงานเสมอๆ 

กลับกันเมื่อโควิดได้ทำให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป การต้องทำงานอยู่แต่ที่บ้านทำให้ภาระงานบ้าน การรับผิดชอบดูแลลูกต้องเพิ่มเข้ามา อีกทั้งการจัดเตรียมอาหารให้สมาชิกในครอบครัวครบทุกมื้อกลายเป็นภาระที่สร้างปัญหาให้กับคนผู้มีบทบาทพ่อและแม่มาก เพราะกลายเป็นว่างานบ้านแทบจะทำให้ปวดหัวไม่น้อยไปกว่างานหลัก พนักงานส่วนใหญ่ที่มีครอบครัวจึงอยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ เพราะจะได้แยกโลกการทำงานกับโลกอีกใบของการรับผิดชอบหน้าที่ที่บ้านได้อย่างเป็นสัดส่วน

3. คนรุ่นใหม่เผชิญ “ภาวะเบิร์นเอาท์” และสุขภาพจิตแย่ลง 

คิดเป็น 54% จากแบบสอบถาม

เหตุผลสำคัญ:

พนักงานออฟฟิศโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่พบเจอกับอาการ “เบิร์นเอ้าท์” กันจำนวนมาก เพราะการทำงานที่บ้านทำให้ชั่วโมงงานที่ล่วงเวลาเพิ่มขึ้น อีกทั้งการทำงานที่บ้านทำให้ “พนักงานแยกไม่ออกว่า บ้านคือพื้นที่โหมดการทำงาน หรือบ้านคือพื้นที่แห่งการพักผ่อน” ซึ่งเมื่อถึงเวลาพักผ่อนก็ไม่สามารถรู้สึกว่าได้พักผ่อนอย่างเต็มที่

นอกจากสุขภาพใจแล้วสุขภาพกายก็เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงเช่นกัน พนักงานจำนวนหนึ่งไม่สมารถมีอุปกรณ์เสริมที่ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่น ที่ยกจอแล็บท็อป จอคอม โต๊ะที่สูตรได้มาตรฐาน เก้าอี้นั่งที่มีระดับเหมาะสมกับหลัง-คอ เพราะสิ่งเหล้านี้มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง หากต้องการของที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดีอย่างแท้จริง ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดร่างกายตามมาด้วย

4. สามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม

คิดเป็น 57% จากแบบสอบถาม

เหตุผลสำคัญ:

ลักษณะงานบางอย่างเมื่อทำงานในออฟฟิศที่ต้องมีผู้คนแวดล้อมจำนวนมาก ทำให้ใช้สมาธิได้ค่อนข้างไม่ดี แต่เมื่อต้องทำงานที่บ้าน เป็นการปลีกวิเวก อยู่ในที่เงียบสงบ กลับทำให้การทำงานบางประเภทสามารถจัดการได้อย่างรวดเร็วขึ้รกว่าเดิม 

อีกหนึ่งเหตุผลก็คือผู้คนจำนวนหนึ่งมีอุปกรณ์เสริมที่ทำให้ Work Station ของตนมีประสิทธิภาพอย่างสมบูรณ์แล้ว จึงทำให้การทำงานสามารถเป็นไปได้อย่างไหลลื่น

ชวนรู้ การทำงานแบบ ‘ไฮบริด’ มีประสิทธิภาพต่อพนักงานอย่างไร?

5. อยากให้หัวหน้าดู “ผลลัพธ์งาน” มากกว่า “ชั่วโมงทำงาน”

คิดเป็น 73% จากแบบสอบถาม

เหตุผลสำคัญ:

ปัญหาเรื่อง “การให้ความสำคัญกับชั่วโมงงาน” นั้นถูกทำให้เป็นประเด็นที่เห็นอย่างชัดเจนขึ้นว่า “การดูผลลัพธ์งานว่ามีประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดีหรือไม่นั้นสำคัญกว่าอย่างชัดเจน” เพราะไม่เช่นนั้นการที่พนักงานใช้อัตราเวลาต่อชั่วโมงในการทำงานสูงอาจทำให้ส่งผลต่อสุขภาพในภายหลัง ซึ่งจะกลับมากระทบกับการทำงานในอนาคตอย่างแน่นอน

6. คาดหวังให้หัวหน้า “ถามไถ่สภาพจิตใจ” ลูกน้อง

คิดเป็น 67% จากแบบสอบถาม

เหตุผลสำคัญ:

การอยู่กับตนเองเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดความเครียด ความกดดันต่อตนเองได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องการการติดต่อสื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์ เพื่อทำให้สภาพจิตใจ-อารมณ์เปลี่ยนแปลง หัวหน้าอาจทำการโทรศัพท์เพื่อคอยตรวจสอบสุขภาพใจลูกน้องได้เป็นครั้งคราวอย่างน้อย เดือนละ 1-2 ครั้งเป็นต้น เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าตนไม่ได้ถูกทอดทิ้งให้ทำงานที่บ้านคนเดียวเพียงลำพัง

7. “พึงพอใจต่อหัวหน้าต่ำ” เพราะไม่ส่งเสริม สมดุลการทำงาน-ใช้ชีวิต

คิดเป็น 50% จากแบบสอบถาม

เหตุผลสำคัญ:

หนึ่งในเรื่องที่เป็นปัญหาชัดเจนมากที่สุดคือระดับการพึงพอใจต่อหัวหน้าของพนักงานมีค่าที่ต่ำลง เพราะพนักงานมองว่าหัวหน้าควรมีภาวะผู้นำที่ดีในวิกฤติโควิด ควรส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานที่ดี ช่วยเหลือการสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว นอกจากนี้องค์กรอาจต้องทำการจูงใจเชิงบวกและทำให้พนักงานรู้สึกว่าบริษัทไม่ได้ทอดทิ้งให้ทำงานอยู่เพียงลำพัง

8. “กำลังคิดจะย้ายงานใหม่” เพราะบริษัทไม่ปรับวัฒนธรรมการทำงาน

คิดเป็น 41% จากแบบสอบถาม

เหตุผลสำคัญ:

พนักงานกว่าครึ่งรู้สึกไม่พอใจกับวัฒนธรรมและรูปแบบการทำงานของบริษัทที่ไม่ทำการปรับเปลี่ยนตามโลก-สถานการณ์ โดยพนักงานคำนึงถึงความมั่นคง หน่วยงาน ความเป็นอยู่ที่ดี สวัสดิการ ความยืดหยุ่น และการพัฒนาทักษะเป็นสำคัญ

ทางออกทางรอดของบริษัท

1.ปรับลักษณะการทำงานให้ยืดหยุ่น

2.สร้างสมดุลการทำงานและดูแลเอาใจใส่ทีม

3.ลดช่องว่างหัวหน้า-พนักงาน โดยพัฒนาทักษะการจูงใจ-สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เหนียวแน่น

4.จัดสรรทรัพยากรที่ทำให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพแก่พนักงาน

5.เปลี่ยนวิธีการวัดผลให้ตรงตามจุดประสงค์งาน

6.ปรับวัฒนธรรมการทำงานตามสถานการณ์-ยุคสมัย

อ้างอิง: รายงาน Resetting Normal: Defining the New Era of Work โดย Adecco Group