อ่านสงคราม ฟู้ดเดลิเวอรี่ 2-4 ราย จะรอดยึดตลาด

อ่านสงคราม ฟู้ดเดลิเวอรี่  2-4 ราย จะรอดยึดตลาด

โควิด-19 ระบาด กลายเป็นปฏิกิริยา “เร่ง” การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค สั่งอาหารออนไลน์ ฟู้ดเดลิเวอรี่ พุ่ง ส่วนร้านอาหาร เจอกฏเหล็ก “ล็อกดาวน์” ห้ามนั่งรับประทานในร้าน จึงปรับตัวหาทางรอด มุ่งสู่ถนนสายเดียวกันนั่นคือเสิร์ฟอาหารส่งถึงบ้านผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

  เมื่อโรคโควิด-19 ระบาด กลายเป็นปฏิกิริยา “เร่ง” การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในการสั่งอาหารออนไลน์ เดลิเวอรี่มากขึ้น ส่วนร้านอาหาร เมื่อเจอกฏเหล็ก “ล็อกดาวน์” ห้ามนั่งรับประทานในร้าน ทำให้การปรับตัวหาทางรอด จึงมุ่งสู่ถนนสายเดียวกันนั่นคือเสิร์ฟอาหารส่งถึงบ้านผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

ทว่า สงครามเดลิเวอรี่นั้นห้ำหั่นดุเดือดเลือดสาด เฉพาะบรรดาเจ้าของแพลตฟอร์ม “เผาเงิน” กันเป็นว่าเล่นเพื่อดึงลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ แต่ธุรกิจจะเผาเงินโดยไม่มีกลยุทธ์ย่อมไม่ได้ เพราะทุกบาททุกสตางค์ที่สูญเสียไปต้องได้ผลตอบแทนกลับมาที่คุ้มค่าหรือ ROI

ปี 2564 ทิศทางธุรกิจเดลิเวอรี่จะเป็นอย่างไร การเติบโตร้อนแรงมากน้อยแค่ไหน ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไลน์แมน วงใน มาฉายภาพในงาน DAAT DAY 2021 Winning Tomorrow Together ผ่านหัวข้อ Food Delivery Insight During COVID-19

ประเด็นแรกที่ “ยอด” เล่าคือสถานการณ์ณของธุรกิจส่งอาหารเดลิเวอรี่เติบโตเป็น 100% อยู่แล้ว โดยเฉพาะการระบาดรอบแรก โตพุ่งแรงมาก และเริ่มผ่อนลงในช่วงปลายปี 2563 โดยบริการเดลิเวอรี่ที่เติบโตมีหลายมิติทั้ง “ความถี่” ในการสั่งอาหาร และ “ยอดต่อบิล” ที่ผู้บริโภคสั่งออเดอร์ใหญ่มูลค่าเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคสั่งอาหารเดลิเวอรี่ได้กลายเป็นวิถีปกติใหม่ ที่คนส่วนใหญ่คุ้นชิน และไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่กระจายไปยังเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่ พัทยา ขอนแก่น หรือเมืองรอง เช่น พิจิตร แพร่ ลำพูน ตราด จันทบุรี เป็นต้น

“โควิดเป็นตัวเร่งให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมเร็วขึ้นในการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ เหมือนกับที่ได้ลองใช้อีคอมเมิร์ซ ไม่ใช้เวลาเป็นชั่วโมง ต้องออกจากบ้าน จึงยากที่จะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม เพราะลิ้มรสความสะดวกสบาย มีทางเลือกต่างๆมากขึ้น ดังนั้นหากโควิดคลี่คลาย เชื่อว่าพฤติกรรมสั่งอาหารเดลิเวอรี่ยังคงอยู่”

ฝั่งผู้บริโภคปรับ ร้านอาหารอยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างกัน เพราะการล็อกดาวน์ต้องดิ่้นรักษาธุรกิจให้มีรายได้ และอยู่รอดบนสังเวียนธุรกิจร้านอาหาร จึงแทบไม่มีใครไม่หันมาลุยบริการเดลิเวอรี่ อย่างร้านประเภทบุฟเฟต์ และร้านหรูหรา(ไฟน์ไดนิ่ง) ที่ทำเดลิเวอรี่ยาก ยังต้องพลิกกระบวนท่าจนหาทางทำได้ อย่างไลน์แมน วงในร่วมกับมูลนิธิเชฟแคร์ จัดโปรเจคช่วยเชฟเซฟร้าน ช่วยร้านอาหาร และยังมีร้านอาหารที่ปรับตัวได้โดดเด่นท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 เช่น ร้านอาหารสไตล์บุฟเฟต์นานาชาติ คอปเปอร์ รังสรรค์เมนูเด็ดของร้าน ซุปเห็ดทรัฟเฟิล ก๋วยเตี๋ยวเนื้อวากิว บริการถึงบ้าน เป็นต้น

ขณะที่ร้านอาหารจำนวนมากถูกหมายตาจากผู้บริโภคทุกช่วงเวลา แต่เมนูที่ฮอตฮิตมีการสั่งมากสุด ได้แก่ ร้านกาแฟ นำโด่ง จากเดิมอยู่อันดับ 7 เนื่องจากยอดซื้อต่อบิลราคาไม่สูงมากนัก ตามด้วย ร้านอาหารจานเดียว(Rice Dish) ร้านอาหารตามสั่ง(A la carte) ร้านก๋วยเตี๋ยว จากเคยอยู่อันดับ 1 ความนิยมหล่นลงมาที่ 4 ร้านอาหารไทย ร้านฟาสต์ฟู้ด ขึ้นสู่ที่ 7 จากไม่เคยติด Top 10 ร้านชาไข่มุก ร้านขนมหวาน และร้านสตรีทฟู้ด โดยร้านอาหารเกาหลี ร้านอาหารญี่ปุ่นหลุดโผ Top 10

 ปัจจุบันฟู้ดเดลิเวอรี่ในประเทศไทย เป็นสมรภูมิที่ขับเคี่ยวเดือดมาก แบรนด์หลากหลายเทงบมหาศาลเพื่อทำตลาดโปรโมชั่น ดึงลูกค้าเข้าใช้บริการ จึงเห็นการเก็บค่าคอมมิชชั่น(GP)จากร้านที่แพง ส่วนแนวโน้มระยะยาว ยอด มองสนามการค้าฟู้ดเดลิเวอรี่อาจเหลือผู้เล่น 2-4 ราย เช่นเดียวกับต่างประเทศ เพราะปัจจุบันหลายรายยังขาดทุน การจะเห็น “กำไร” ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ต้องมีขนาดตลาดและต้นทุนที่เหมาะสมหรือ Economy of scale มีออเดอร์เพิ่มมากขึ้น ฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้ให้บริการบางรายจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น ฟู้ดแพนด้า และอีกรายจ่อคิวเข้าตลาด ทำให้การเผาเงินไม่เกิดขึ้นตลอดไปแน่นอน ขาดทุนตลอดผู้ถือหุ้นย่อมไม่พึงใจ

ส่วนไลน์แมน ที่เป็นพันธมิตรกับวงใน ในมิติการแข่งขัน สิ้นปีนี้จะขยายบริการให้ครบ 77 จังหวัด จาก 60 จังหวัด เพิ่มบริการเดลิเวอรี่ใหม่ๆ เช่น ซื้อวัตถุดิบสดจากตลาดตอบสนองลูกค้า

“เราเหมือนวิ่งมาราธอน วิ่งในสปีด จังหวะ(Pace)ของเรา เรามีจุดเด่นในการแข่งขัน ที่รู้ว่ามีคู่แข่ง แต่จะหันมองตลอดคู่แข่งตลอดไม่ได้ เพราะอาจทำให้สปีดตก นี่คือปัจจุบันที่เราทำ”

อีกประเด็นใหญ่ในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่คือการเก็บค่า GP ที่แพง ยอด ยกตัวอย่างไลน์แมนมี 2 โมเดลให้เลือก หากร้านต้องการเพิ่มยอดขาย สามารถเข้าโปรแกรมจ่ายค่า GP เพื่อทำตลาด โปรโมชั่นดึงลูกค้า ส่วนร้านไหนที่แบรนด์แกร่ง มีฐานลูกค้าเหนียวแน่น ไม่ต้องจ่ายค่า GP แม้แต่บาทเดียว ก็มาอยู่บนแพลตฟอร์มได้ อยู่ที่เป้าหมายของร้านจะเลือกทางไหน