ค้าปลีกชิงขุมทรัพย์ย่านเศรษฐกิจ! เซ็นทรัลยึดพื้นที่ 1.2 ล้านตร.ม.

ค้าปลีกชิงขุมทรัพย์ย่านเศรษฐกิจ! เซ็นทรัลยึดพื้นที่ 1.2 ล้านตร.ม.

จากสี่แยกปทุมวัน ไล่ลงมาบนถนนพระราม 1 ผ่านแยกราชประสงค์ ชิดลม จรดแยกเพลินจิต  และต่อเนื่องถนนสุขุมวิทตลอดทั้งสาย คือ ย่านเศรษฐกิจการค้า เส้นเลือดใหญ่ของกรุงเทพฯ เป็นไพรม์แอเรียเป้าหมายของดีเวลอปเปอร์! ล้วนจับจ้องเจาะขุมทรัพย์แห่งนี้ตลอดเวลาในทุกยุคสมัย

ยักษ์ใหญ่ "ค้าปลีก" ต่างทุ่มทุนมองหาช่องทางเข้ามาปักหลักสร้างฐานที่มั่นอย่างต่อเนื่อง รองรับโอกาสมหาศาลจากศักยภาพของทำเลใจกลางเมืองหลวง และแน่นอนว่าหากสามารถครอบครองพื้นที่ได้มากยิ่งสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ภายใต้ระยะทางไม่กี่กิโลเมตรของย่านใจกลางกรุงเทพฯ เวลานี้จึงอัดแน่นไปด้วยห้างร้านค้าปลีก ศูนย์การค้าขนาดใหญ่

โดยเจ้าถิ่นทุนค้าปลีกรายใหญ่ กลุ่มเซ็นทรัล แห่งตระกูลจิราธิวัฒน์ ธุรกิจเก่าแก่ของไทยกว่า 70 ปี  ยึดหัวหาดย่านนี้มาอย่างยาวนาน มีห้างสรรพสินค้าแฟลกชิพอย่าง “เซ็นทรัล ชิดลม” ซึ่งเปิดบริการตั้งแต่ปี 2516 แบบวันสต็อป! เรียกเสียงฮือฮาตั้งแต่ครั้งนั้นยังคงความทันสมัย หรูหรา และครบวงจร พร้อมการต่อยอดขยายอาณาจักรค้าปลีกคลุมทุกแยกย่านการค้าครบถ้วน

เฉพาะกลุ่มเซ็นทรัล ครอบครองพื้นที่การค้าที่เปิดให้บริการแล้วมากกว่า 1 ล้านตารางเมตร ทีเดียว!!! นอกเหนือจากเซ็นทรัล ชิดลม ยังมี เซ็นทรัลเวิลด์ ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ 830,000 ตารางเมตร หนึ่งในแลนด์มาร์คของไทยและระดับโลก “เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่” โปรเจคลักชัวรีเจาะลูกค้าระดับไฮเอนด์  นอกจากนี้ยังมีโครงการไฮไลท์ “สถานทูตอังกฤษ” บนที่ดิน 23 ไร่ ซึ่งได้พันธมิตรร่วมทุนกลุ่มฮ่องกงแลนด์ในการพัฒนามิกซ์ยูส อาคารสำนักงานและศูนย์การค้า พื้นที่กว่า 2.1 แสนตารางเมตร ลงทุนราว 13,800 ล้านบาทในเบื้องต้น ไม่รวมราคาประมูลอีกหมื่นล้าน! คาดแล้วเสร็จในปี 2569

ค้าปลีกชิงขุมทรัพย์ย่านเศรษฐกิจ! เซ็นทรัลยึดพื้นที่ 1.2 ล้านตร.ม.

ล่าสุดกลุ่มค้าปลีก "เซ็นทรัล" โดย “เซ็นทรัลพัฒนา” ยังอุดช่องว่างลูกค้าเป้าหมายวัยรุ่น ยังก์เจนเนอเรชั่น และต่อจิ๊กซอว์บนแลนด์มาร์ค “สยาม” ที่สร้างชื่อเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอยู่แล้วด้วยการคว้าสิทธิ์พัฒนาพื้นที่ บริเวณ Block A เขตพาณิชย์สยามสแควร์ เป็นระยะเวลา 30 ปีจากสํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ทำเลยุทธศาสตร์ของกรุงเทพฯ และประเทศไทย

จะเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คของ เซ็นทรัล ในคอนเซปต์ฉีกไปจากเครือข่ายธุรกิจที่มีอยู่ด้วยการเป็นศูนย์กลางและพื้นที่แห่งการเรียนรู้สมัยใหม่ เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คน บนที่ดิน 7 ไร่ 31 ตารางวา ซึ่งสามารถก่อสร้างโครงการบนกรอบพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ 3 งาน 89 ตารางวา

แหล่งข่าวในวงการค้าปลีกกล่าวว่า การลงทุนอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการจะเป็นการยกระดับแหล่งชอปปิงหรือย่านการค้าต่างๆ ก้าวสู่ “ไทยแลนด์ชอปปิงพาราไดซ์” อย่างเต็มตัว! นับเป็นโอกาสสำคัญหลังวิกฤติโควิดคลี่คลายการใช้ชีวิต การเดินทาง การท่องเที่ยว กลับเข้าสู่ภาวะปกติ 

ขณะที่ผู้ประกอบการหลายรายใช้ห้วงวิกฤติโควิดนี้เป็นโอกาสในการพัฒนาปรับปรุงธุรกิจ ไม่ว่าจะ เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ที่เป็นการพลิกโฉมใหม่ในรอบ 36 ปีทีเดียว ฟากศูนย์การค้ากลุ่มวันสยาม ประกอบการด้วย สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ยังคงมีแม่เหล็กใหม่ๆ เข้ามาเสริมทัพดึงดูดลูกค้าอย่างต่อเนื่อง  

ย่าน "สยามสแควร์" ในอนาคต จะไม่ต่างจากย่านการค้าใหญ่ในมหานครระดับโลก ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและนิยมไปเยือน อย่างเช่น ชินจูกุ กินซ่า ชองเอลิเซ่ อ็อกซ์ฟอร์ดสตรีท ฯลฯ เมื่อมาไทยต้องปักหมุดเข้ามาในย่านการค้าที่ครบวงจรและหลากหลายเป็นทางเลือก

สปริงบอร์ดเคลื่อนเศรษฐกิจ

การขยายโครงการใหม่ๆ ของ “เซ็นทรัลพัฒนา” นับเป็นสปริงบอร์ดสำคัญ! ให้ประเทศฟื้นตัวทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ด้วยจุดแข็งในการบุกเบิกเมืองเศรษฐกิจและทำเลศักยภาพของภาคธุรกิจ "ค้าปลีก" 

ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เซ็นทรัลพัฒนาในฐานะผู้นำอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ยังคงเดินหน้าลงทุนและการขยายโครงการจะช่วยสร้าง Economic & Tourism Impact ได้อย่างมาก

ทั้งนี้ ได้เตรียมเปิดบริการ “เซ็นทรัล ศรีราชา” วันที่ 27 ต.ค. นี้ บนทำเลศูนย์กลางของอีอีซี และ New S Curve ภายใต้ประสบการณ์ล้ำบรรยากาศแบบ Semi-Outdoor ใกล้ชิดธรรมชาติ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมให้ศรีราชา ตามด้วย “เซ็นทรัล อยุธยา” วันที่ 30 พ.ย. รองรับการฟื้นตัวของภาคค้าปลีก ช่วยเหลือผู้ประกอบการในจังหวัด สร้างงาน สร้างรายได้ให้ท้องถิ่น 

"เซ็นทรัล อยุธยา จะเป็นเดสทิเนชั่น ศูนย์กลางของจังหวัดที่เข้าไป Complete Tourism Ecosystem ของอยุธยาทั้งระบบ ส่องสปอตไลท์ให้อยุธยาโดดเด่น เป็นเมืองท่องเที่ยว UNESCO World Heritage ที่ทั่วโลกต้องมาเยือน รองรับการเปิดประเทศและการท่องเที่ยวในอนาคต"