มาร์เก็ตแคป 'หุ้นกลุ่มปตท.' เด้งฝ่าดงวิกฤติโควิด

มาร์เก็ตแคป 'หุ้นกลุ่มปตท.' เด้งฝ่าดงวิกฤติโควิด

สำรวจ 'หุ้นกลุ่มปตท.' ตลอดครึ่งปีแรกปี 2564 สวยไม่สร่าง บ่งบอกผ่านตัวเลข 'มาร์เก็ตแคป' เด้ง 9 แสนล้าน 'ดาวเด่น' เบอร์หนึ่งตำแหน่งนี้ยกให้ PTTGC-GPSC !!

กำลังจะกลายเป็นวัฒนธรรมประจำ 'ตระกูลกลุ่มปตท.' หรือเปล่า ! หลังครึ่งปีแรก 2564 โดดเข้าซื้อสินทรัพย์ใหม่ๆ ผ่านบริษัทในเครือมูลค่านับ 'แสนล้านบาท' เพื่อต่อยอดความมั่งคั่งและมั่นคงให้ '7 ธุรกิจหลัก' นั่นคือ บริษัท บมจ.ปตท. หรือ PTT , บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP , บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล หรือ PTTCG , บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR ,บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP , บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC และ บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC

เช่นเดียวกับครึ่งปีแก 2564 ที่อาศัยจังหวะฝุ่นตลบในช่วงเศรษฐกิจกำลังเจอวิกฤติโควิด-19 เล่นงานหนักทั่วโลก ส่ง '4 บริษัทในเครือ' เข้าลงทุนใน 'ธุรกิจต่างประเทศขนาดใหญ่' ไล่มาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยพี่ใหญ่อย่าง บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP ซึ่งปตท. ถือหุ้นใหญ่ 63.79% ได้ให้บริษัทย่อย บริษัท พีทีทีอีพี มีนา จำกัด (PTTEP MENA Limited) ลงนามในสัญญาซื้อขาย เพื่อเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุน 20% ในแปลง 61 ในประเทศโอมาน จากบริษัท บีพีเอ็กซ์พลอเรชั่น (เอปซิลอน) จำกัด หรือ บีพี มูลค่าลงทุน 73,500 ล้านบาท

บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC โดยปตท. ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 45.18% ได้ประกาศเข้าซื้อหุ้น 100% ใน Allnex Holding GMBH มูลค่ารวม 1.326 แสนล้านบาท และเงินกู้ของผู้ถือหุ้นในบริษัทเป้าหมายมูลค่า 1.581 หมื่นล้านบาท รวมมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 1.48 แสนล้านบาท

ขณะที่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC ซึ่งปตท. ถือหุ้น 31.72% เข้าร่วมทุน Avaada Energy Private Limited (Avaada) หนึ่งในบริษัทพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของประเทศอินเดียผ่านบริษัทลูก GRSC โดยเข้าถือหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในสัดส่วน 41.6% จากกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้นประมาณ 3,744 เมกะวัตต์ มูลค่ารวม 14,825 ล้านบาท 

และ โครงการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวัน (Offshore Wind) คิดเป็นสัดส่วนถือหุ้น 25% ขนาดกำลังผลิตรวม 595 เมกะวัตต์ มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียนตามเป้าหมายพลังงานหมุนเวียน 8,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573

และล่าสุด บมจ. ไทยออยล์ หรือ TOP ซึ่งปตท. ถือหุ้นใหญ่ 45.03% เข้าลงทุนในหุ้น PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) โดยมี มูลค่ารวม 39,116 ล้านบาท คิดเป็นในสัดส่วนไม่เกิน 15.38% ของหุ้น CAP ผ่านการใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนถือหุ้น 

ส่งผลให้ภายในครึ่งปีแรก 2564 บริษัทในเครือกลุ่มปตท. ควักเงินลงทุนในต่างประเทศมูลค่าเกือบ '3 แสนล้านบาท!!'  

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ปตท. ล้วนเป็นกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งการขยายธุรกิจภายในประเทศได้ดำเนินการไปจนสมบูรณ์แล้ว โอกาสในการขยายธุรกิจในประเทศจึง 'ถูกจำกัด' โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ที่เศรษฐกิจไทยเองก็มีศักยภาพในการเติบโตในอัตราไม่สูงเท่ากับอัตราการเติบโตในต่างประเทศ 

ประกอบกับในโดยจังหวะเวลานี้ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายกิจการในต่างประเทศขาดสภาพคล่องและต้องขายกิจการ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ที่มีความพร้อมในแง่ของเงินทุน อย่าง บริษัทในเครือ ปตท. ที่บริษัทแม่พร้อมสนับสนุนทางการเงินโดยเป็นผู้ให้กู้ระยะสั้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินในการกู้เพื่อซื้อกิจการจึงอยู่ในระดับต่ำ

หากย้อนดูผลพ่วงจากการลงทุนของ 'กลุ่มปตท.' ในช่วง 6 เดือนกว่าที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย.2564) ต่างมี 'ตัวเลขมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด' หรือ Market Cap รวมถึง 'ฐานะการเงิน' อยู่ในแนวโน้ม 'ขาขึ้น' ทั้งในส่วนของ 'รายได้รวมและกำไรสุทธิ' สะท้อนผ่านกำไรสุทธิงวด 6 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 137,701.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,373.16% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,625.26 ล้านบาท 

หากเปรียบเทียบตัวเลขมาร์เก็ตแคปหุ้นทุกตัวของบริษัทในกลุ่มปตท. ระหว่างครึ่งปีแรก 2563 เทียบกับปัจจุบัน (2 ก.ย.2564) จะพบว่า มูลค่า 'ความมั่งคั่ง' (Wealth) เพิ่มพูนขึ้น สะท้อนผ่านตัวเลขมาร์เก็ตแคป 'หุ้น PTT' อยู่ที่ 914,015.88 ล้านบาท เทียบปัจจุบัน 1,085,393.86 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 171,377.98 ล้านบาท 

'หุ้น PTTEP' อยู่ที่ 313,628.85 ล้านบาท เทียบปัจจุบัน 436,698.39 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 123,069.54 ล้านบาท 'หุ้น PTTGC' อยู่ที่ 176,972.33 ล้านบาท เทียบปัจจุบัน 286,311.92 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 109,339.59 ล้านบาท 

ขณะที่ 'หุ้น TOP' อยู่ที่ 65,280.89 ล้านบาท เทียบกับปัจจุบัน 100,471.37 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 35,190.48 ล้านบาท 'หุ้น IRPC' อยู่ที่ 39,234.08 ล้านบาท เทียบกับปัจจุบัน 81,328.99 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 42,094.91 ล้านบาท 

'GPSC' อยู่ที่ 162,134.44 ล้านบาท เทียบปัจจุบัน 233,332.61 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 71,198.17 ล้านบาท และ 'หุ้น OR' มาร์เก็ตแคปในปัจจุบัน (2 ก.ย.) อยู่ที่ 357,000.00 ล้านบาท (เนื่องจาก OR เข้าตลาดหุ้นเมื่อ 11 ก.พ.2564) 

โดยตัวเลขมาร์เก็ตแคปกลุ่มปตท. ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 909,270.67 ล้านบาท (ตัวเลข ณ วันที่ 2 ก.ย.2564)  

'โดดเด่นสุด' ต้องยกให้ PTTGC และ GPSC สะท้อนผ่านกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2564 โดย PTTGC กำไรสุทธิ มีกำไรสุทธิ 25,034.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น1,398% จากงวดเดียวกันปี 63 ที่มีกำไร 1,670.74 ล้านบาท โดยมาจากราคาขายของทุกผลิตภัณฑ์ที่ปรับขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง รวมทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์และฟีนอล จากอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ตามสภาพเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นและราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับเพิ่มขึ้น

รวมทั้งยังมีการรับรู้รายการพิเศษ จากการขายหุ้นสามัญของ GPSC สัดส่วน 12.73% รวม 11,834 ล้านบาท !! 

ขณะที่ GPSC ผลประกอบการงวดไตรมาส 2 ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 2,302.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21%จากงวดเดียวกันปี 63 ที่มีกำไร 1,895.97 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น มีสาเหตุหลักจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี และการรับรู้รายได้บางส่วนจากเงินชดเชยค่าประกันภัยของโรงไฟฟ้าโกลว์พลังงาน ระยะที่ 5 และ กำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลง    

นอกจากนี้ บริษัทรับรู้มูลค่า Synergy จากการควบรวมกิจการสุทธิหลังภาษี จำนวน 436 ล้านบาท ในไตรมาสนี้ ซึ่งส่วนหลักได้รับจากการบริหารจัดการการผลิตและใช้โครงข่ายไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน การบริหารส่วนการพาณิชย์ การบริหารจัดการงานจัดซื้อและงานซ่อมบำรุงรักษา

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบีเอสที มองว่า กำไรสุทธิของ PTTGC ในปีนี้ผ่านจุดพีคไปแล้ว ในช่วงครึ่งปีแรก เพราะได้รับปัจจัยหนุน จากแผนหยุดซ่อมบำรุงของคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกัน แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง การหยุดซ่อมบำรุงดังกล่าวจะลดลง ประกอบกับมีสินค้าเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้กำไรสุทธิครึ่งปีหลังของ PTTGC อ่อนตัวลงจากครึ่งปีแรก

แต่ยังประเมินว่า กำไรสุทธิครึ่งปีหลังของ PTTGC ยังสามารถเติบโตเมื่อเทียบกับปีก่อนได้ โดยมีปัจจัยหนุน จากราคาขายโพลีเอทิลีน (PE) ยังทรงตัวสูงกว่าปีก่อน ประกอบกับ อุปสงค์การใช้พลาสติกฟื้นตัวขึ้น ภายหลังมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มากขึ้น ประกอบกับ การกลับมาเดินเครื่องเต็มเวลาของโครงการ ORP และ PO/Polyols

เช่นเดียวกับ บล.เอเซีย พลัส ที่ประเมินว่า กำไรสุทธิ ครึ่งปีหลังของ PTTGC จะอ่อนตัวลงทุกไตรมาส โดยประเมินว่ากำไรปกติไตรมาส 3 ปี 2564 จะอ่อนตัวลงจากไตรมาส 2 ปี 2564 เพราะ Spread ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี มีแนวโน้มปรับตัวลง หลังกำลังการผลิตใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้นราว 7 ล้านตัน ซึ่งกว่า 80% ของกำลังการผลิตใหม่ จะเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 นอกจากนี้ ไตรมาส 3 ปี 2564 ทาง PTTGC มีแผนหยุดซ่อมบำรุงโรงงาน HDPE2 ราว 38 วัน ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย.เป็นต้นไป

ขณะที่ กำไรปกติในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 ก็จะอ่อนตัวลงจากไตรมาส 3 ปี 2564 ด้วยเช่นกัน โดยมีปัจจัยกดดัน จากแผนการหยุดซ่อมบำรุงโรงงาน 2 แห่ง ประกอบด้วย โรงงาน Oleflex หยุดซ่อมบำรุง ระยะเวลา 37 วัน ระหว่างเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ และ โรงงาน Phenol 1 ระยะเวลา 30 วัน ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้