เปิดเกม ‘บีทีเอส’ สยายปีกอาณาจักรแสนล้าน

เปิดเกม ‘บีทีเอส’ สยายปีกอาณาจักรแสนล้าน

ล้วงกลยุทธ์ เจ้าสัว "คีรี กาญจนพาสน์" เจ้าของอาณาจักรแสนล้าน "บีทีเอสกรุ๊ปโฮลดิ้งส์" ! หมากเกมนี้...ลึกแต่ไม่ลับ ดันโมเดลหาหลากเพื่อนใหม่ ต่อ "จิ๊กซอว์ 4 ธุรกิจ" ผลัดดันองค์กรโตหลายเด้ง ปิดดีลใหญ่ส่ง VGI-U ผนึกกำลัง JMART-SINGER มูลค่า 1.75 หมื่นล้าน

เหมือนกำลังจะกลายเป็นวัฒนธรรมประจำของ 'ตระกูลกาญจนพาสน์' เจ้าพ่ออาณาจักร 'ให้บริการรถไฟฟ้า' ที่เคยเป็นหนึ่งในบริษัทมีหนี้สินจำนวน 'มหาศาล' จากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เพราะเกือบตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาต้องเห็น 'เจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์' เจ้าของ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS โดดเข้าถือหุ้นในธุรกิจใหม่ๆ ในหลากหลายวงการ เพื่อต่อยอด 'ความมั่งคั่ง' (Wealth) ให้ 4 ธุรกิจหลัก 1. ธุรกิจให้บริการเดินรถไฟฟ้า 2. ธุรกิจสื่อโฆษณา 3.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ 4.ธุรกิจบริการ

สะท้อนผ่านธุรกิจในเครือเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) อาทิ บมจ. วีจีไอ หรือ VGI ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจสื่อโฆษณา บีทีเอส ถือหุ้น 51.60% กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) ถือเป็นการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกองแรกของประเทศไทย บีทีเอสถือหุ้น 33.33% บมจ. ยู ซิตี้ หรือ U ธุรกิจพัฒนาและลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ บีทีเอสถือหุ้น 36.22% และ บมจ. มาสเตอร์ แอด หรือ MACO ธุรกิจสื่อนอกบ้าน บีทีเอสถือหุ้น 41.16% (ตัวเลข ณ 4 ส.ค.2564)

จากวันวานที่เคยมีหนี้สินมหาศาล ทว่าในวันนี้กลับกลายมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มี 'มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด' (Market Cap) เพิ่มพูนจาก 3,000-4,000 ล้านบาท มาอยู่ในระดับสูงถึงแสนล้านบาท ! ฉะนั้น เรื่องแหล่งเงินทุนในการซื้อสินทรัพย์ใหม่ๆ แทบไม่มีปัญหา สะท้อนผ่านช่องทางการระดมทุนต่างๆ ทั้งในตลาดเงิน-ตลาดทุน 

สอดคล้องกับประโยคที่ลูกชายคนโตของ 'เจ้าสัวคีรี' อย่าง 'กวิน กาญจนพาสน์' กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 'บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์' ที่เคยเล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ' ฟังว่า ในมุมมองของคีรี (พ่อ) และเขา เห็นตรงกันว่า.. 'ผมและคุณคีรี (พ่อ) มีมุมมองว่าที่ผ่านมาใช้เวลาในการขยายธุรกิจเยอะมากทั้งที่สร้างขึ้นมาเองและการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ฉะนั้นเปรียบเหมือนกินอาหารสะสมมาร่วม 10 ปี ทำให้ตอนนี้เราอ้วนมากแล้ว !'

ดังนั้น หลังสะสมขุมกำลังทางธุรกิจมามาก ผ่านการขยายเครือข่ายธุรกิจอื่นๆ แบบลงทุนเอง และร่วมกับพันธมิตร เกมธุรกิจจากนี้ในสเต็ปต่อไป จะเป็นเกมของการ Synergy (ผนึกกำลัง) ของแต่ละธุรกิจในกลุ่มและพันธมิตรทางธุรกิจอย่างแท้จริง !!

เขายังระบุด้วยกว่า หากไม่ปรับตัวองค์กรแห่งนี้จะขยับตัวลำบาก โดยจะเห็นผลชัดในระยะไม่เกิน 3-5 ปีจากนี้ ตามเป้าหมายองค์กรแห่งนี้ต้องแข็งแรงทั้งในและนอก ด้วย 'กลยุทธ์' ต่อจากนี้คือ บีทีเอสจะไม่เดินคนเดียวแต่จะหาเพื่อนใหม่ๆ เข้ามาร่วม เสมือนให้มาเป็นเพื่อนกับบีทีเอส และเป็นการขยายฐานลูกค้าเพิ่มและทำความรู้จักกับลูกค้ารายใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยรู้จักบีทีเอสมาก่อน

หากย้อนดู เมื่อฟื้นธุรกิจกลับมาได้ ในปี 2550 บริษัทเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนผ่าน 'กลุ่มบีทีเอส' เข้าไปลงทุนถือหุ้นในหลากหลายธุรกิจ อย่าง บมจ. แพลนบี มีเดีย หรือ PLANB ธุรกิจสื่อนอกบ้าน ถือหุ้น 18.59% บมจ. โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ หรือ NOBLE ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ถือหุ้น 9.13% 

บมจ. บางกอก เดค-คอน หรือ BKD ธุรกิจรับเหมาตกแต่งภายใน ถือหุ้น 9.25% บมจ. ฮิวแมนิก้า หรือ HUMAN ธุรกิจเทคโนโลยี ถือหุ้น 10.01% บมจ. อาฟเตอร์ ยู หรือ AU ธุรกิจขนมหวาน ถือหุ้น 9.77% บมจ. เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ KEX ธุรกิจขนส่ง ถือหุ้น 18.06% บมจ. อิ๊กดราซิล กรุ๊ป หรือ YGG ธุรกิจเทคโนโลยี ถือหุ้น 9.08% 

ขณะที่ อ้างอิงตามที่ 'กลุ่มบีทีเอส' แจ้งการลงทุนเข้าซื้อหุ้นเนื่องจากไม่ปรากฏสัดส่วนการถือหุ้น 10 อันดับแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ อาทิ บมจ. คอมเซเว่น หรือ COM7 ธุรกิจร้านค้าปลีกสินค้าไอที ถือหุ้น 4.92% , บมจ. อาร์เอส หรือ RS ธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม , สื่อ ถือหุ้น 6.06% และ บมจ. สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง หรือ SPI ธุรกิจลงทุนในธุรกิจสินค้าอุปโภคอาหารและเครื่องดื่ม ถือหุ้น 0.87% 

และล่าสุดกับ 'บิ๊กดีลระดับหมื่นล้านบาท !!' ของ 'กลุ่มบีทีเอส' หลังทุ่มเงินมูลค่า '1.75 หมื่นล้านบาท' ผ่าน บมจ. วีจีไอ หรือ VGI และ บมจ. ยู ซิตี้ หรือ U เข้าซื้อหุ้นของ บมจ. เจ มาร์ท หรือ JMART และ บมจ. ซิงเกอร์ประเทศไทย หรือ SINGER 

  163008119198

'อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจ มาร์ท บริษัทโฮลดิ้งคอมพานีที่ลงทุนในบริษัทอื่นที่มีศักยภาพ (Investment Holding Company) กล่าวว่า บมจ. วีจีไอ หรือ VGI และ บมจ. ยู ซิตี้ หรือ U ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม BTS Group Holdings เข้ามาร่วมลงทุนในกลุ่มเจมาร์ทครั้งนี้ นับเป็นโอกาสใหญ่ที่ได้ผสานพลังร่วมกับกลุ่มผู้นำในธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจสื่อโฆษณา และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มีอีโคซิสเต็มครบวงจร 

สะท้อนความเชื่อมั่นใน JMART SINGER และ JMT ที่มีศักยภาพการเติบโตอีกมาก สิ่งที่เข้ามาปลดล็อกในครั้งนี้ คือ การปลดล็อกฐานเงินทุนที่จะเพิ่มขึ้น และแผนการ Transform และ Synergy ร่วมกันในทุกรูปแบบ โดยเป็นการมองระยะยาวไปอีก 3 - 5 ปีจากนี้ ด้วยเม็ดเงินระดมทุนก้อนใหญ่ ที่สามารถรองรับการขยายธุรกิจ แม้ภายใต้สถานการณ์โควิด ก็เชื่อมั่นได้ว่า เจมาร์ทมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ และมีประสิทธิภาพ 

สำหรับแผนการ Synergy ร่วมกันในช่วงต่อจากนี้ คาดจะได้เห็นการขยายฐานลูกค้า การขยายผลิตภัณฑ์และบริการในเครือของเจมาร์ท ในธุรกิจค้าปลีก การเงิน ประกัน และเทคโนโลยี ไปสู่ขอบเขตการให้บริการที่เป็นมากกว่า Online-to-Offline (O2O) โซลูชั่นส์ บนแพลตฟอร์มธุรกิจสื่อโฆษณาของ VGI ธุรกิจบริการชำระเงิน และธุรกิจโลจิสติกส์ 

ในแง่ของช่องทางการจำหน่าย SINGER ยังถือเป็นเบอร์หนึ่งที่สามารถเข้าถึงลูกค้าผ่านตัวแทนขายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมีร้านสาขาและแฟรนไชส์รวมกว่า 2,800 แห่ง รวมทั้ง ช่องทางร้านค้ากลุ่มสินค้าเทคโนโลยี JAYMART MOBILE และบริษัทในเครือ เป็นเครือข่ายการกระจายสินค้าและเข้าถึงผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง ผสานกับ KERRY เพิ่มโอกาสการต่อยอดธุรกิจโลจิสติกส์ในเครือเจมาร์ทได้รวดเร็วยิ่งขึ้น 

รวมทั้ง ทางด้านเทคโนโลยีทางการเงิน Blockchain รวมทั้งศึกษาเรื่อง Digital Token และการนำเอา JFIN Token มาใช้บนอีโคซิสเต็มของกลุ่ม BTS เป็นโอกาสในการสร้างระบบนิเวศน์ในเครือเจมาร์ทให้ครบวงจร

นอกจากธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตยิ่งขึ้นแล้ว การเพิ่มทุนครั้งนี้จะเสริมความแข็งแกร่งด้านเงินทุนของกลุ่มเจมาร์ท ทำให้มีงบดุลที่แข็งแกร่งขึ้น มีโอกาสที่เครดิตเรทติ้งจะดีขึ้น และการขยายธุรกิจด้วยต้นทุนการเงินที่ลดลงของ SINGER และ JMT จะสะท้อนกลับมาที่ JMART ในแง่ของกำไรที่โดดเด่นชัดเจน 

163007903785

อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา

โดยตั้งเป้าภาพรวมกำไรปีนี้เติบโตไม่น้อยกว่า 50% ต่อปี ซึ่งยังไม่นับรวมการผนึกพันธมิตรต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติมร่วมกับบริษัท VGI และ U ภายในกลุ่ม BTS ทั้งนี้ VGI และ U เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบบ PP ของ JMART รวมสัดส่วน 24.9% ของทุนที่ชำระแล้ว โดย VGI เข้ามาถือสัดส่วน 15% ส่วน U ถือสัดส่วน 9.9% 

พร้อมกันนี้ JMART ในฐานะเป็นบริษัทแม่ของ JMT และผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SINGER พร้อมนำเงินจากพันธมิตรที่ได้จากการออก PP ครั้งนี้กว่า 1 หมื่นล้านบาท สนับสนุนแผนเพิ่มทุน (RO) ของ SINGER คิดเป็นมูลค่าราว 1,300 ล้านบาท รองรับการขยายโอกาสในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 

และอีกส่วนหนึ่งใช้จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (RO) ของ JMT มูลค่าประมาณ 5,300 ล้านบาท รองรับการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหาร ท่ามกลางสถานการณ์ของอุตสาหกรรมที่สนับสนุนการเติบโตของกิจการในอนาคต ซึ่ง JMT เป็นผู้บริหารหนี้ด้อยคุณภาพรายใหญ่ของประเทศ โดยผู้ถือหุ้นท่านใดที่เล็งเห็นศักยภาพการเติบโตนี้ ก็สามารถมีส่วนร่วมเติบโตไปด้วยกันในครั้งนี้ พร้อมให้วอแรนท์ชุดใหม่ รองรับการเติบโตในอนาคต

ด้าน บมจ. ซิงเกอร์ประเทศไทย หรือ SINGER เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแบบ RO และ PP รวมได้เงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการออก PP ให้ บมจ. ยู ซิตี้ หรือ U ถือหุ้นสัดส่วน 24.9% มีแผนจะนำเงินที่ได้ 7,700 ล้านบาท ใช้สนับสนุนการขยายพอร์ตสินเชื่อของ SINGER ให้เติบโตโดดเด่น ด้วยต้นทุนทางการเงินในระดับต่ำมาก และเงินส่วนที่เหลือนำไปคืนหนี้หุ้นกู้ในอีก 2 ปีข้างหน้า