'โรงไฟฟ้า' ขุมทรัพย์ 'โคลเวอร์ เพาเวอร์'

'โรงไฟฟ้า' ขุมทรัพย์ 'โคลเวอร์ เพาเวอร์'

เทรนด์ธุรกิจพลังงานกำลังส่งสัญญาณบวกให้ 'โรงไฟฟ้าทดแทน' มีโอกาสสร้างการเติบโตยั่งยืน จากการรับรู้เป็นพอร์ตรายได้ประจำ 'เศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล' นายใหญ่ 'โคลเวอร์ เพาเวอร์' ชู 'จุดขาย' น้องใหม่ไอพีโอ ระดมทุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้นก.ย.นี้

จาก 'ธุรกิจด้านวิศวกรรม' สู่ 'ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน' ของ 'ตระกูลศักดิ์สิทธิเสรีกุล' กลุ่มผู้หุ้นใหญ่สัดส่วนจำนวน 28.2% (ตัวเลข ณ หลังการเสนอขายหุ้นไอพีโอ) โดยเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 320 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ใน ราคาหุ้นละ 3.90 บาท และเข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) ต้นเดือน ก.ย. 2564 นี้

เมื่อธุรกิจดั้งเดิม (ธุรกิจด้านวิศวกรรม) ของ บมจ. โคลเวอร์ เพาเวอร์ หรือ CV คิดเป็นสัดส่วนรายได้ปัจจุบัน 60% เป็นเหมือนธุรกิจซื้อมาขายไป (เทรดดิ้ง) จึงไม่มีสินทรัพย์สร้างความมั่นคงให้ธุรกิจในอนาคต ดังนั้น กิจวัตรประจำวันเปรียบเหมือนสุนัขที่ต้องออกล่าเนื้อทุกวัน !! ทำให้ 6-7 ปีก่อน บริษัทจึงตัดสินใจนำประสบการณ์กว่า 15 ปี ในให้บริการงานก่อสร้างโรงไฟฟ้ากลุ่มพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวล ขยะ และชีวภาพ และงานก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป โดยดำเนินงานให้บริการงานด้านการออกแบบ จัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และก่อสร้างให้กับลูกค้า 

มุ่งสู่ 'ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน' หวังสร้างสินทรัพย์ที่มั่งคงและสร้างพอร์ต 'รายได้ประจำ' (Recurring Income) ต่อเนื่อง สะท้อนผ่านปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าที่จำหน่ายเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว จำนวน 4 โครงการ กำลังผลิตติดตั้งรวม 26.2 เมกะวัตต์ มีปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญา 23.6 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 โครงการ และโรงไฟฟ้าขยะ 1 โครงการ ทำให้ผลการดำเนินงานมีความมั่นคงค่อนข้างสูงในระยะยาว จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

ปัจจุบัน CV แบ่งธุรกิจเป็น 3 ธุรกิจ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า (Power Producer) ที่มุ่งเน้นพัฒนาและกระจายการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีจากพลังงานหมุนเวียนหลากหลายประเภท และในกลุ่มบริษัทยังมีโครงการโรงคัดแยกและแปรรูปขยะมูลฝอยเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตประมาณ 150 ตันต่อวัน 

และโครงการโรงไฟฟ้าแบบพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าชธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักที่อยู่ระหว่างเข้าซื้อกิจการ จำนวน 1 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 7.36 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่อยู่ระหว่างพัฒนาในต่างประเทศ จำนวน 1 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 6 เมกะวัตต์

2.ธุรกิจด้านงานวิศวกรรม (EPC Turnkey) มุ่งเน้นให้บริการงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากเชื้อเพลิง ชีวมวล ขยะ และก๊าซชีวภาพ และงานโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องด้านพลังงาน โดยดำเนินงานให้บริการงานด้านการออกแบบ จัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์และก่อสร้าง (EPC) แบบครบวงจร ให้แก่โรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทและลูกค้าทั่วไปมากกว่า 14 โครงการ ที่ดำเนินกิจการภายใต้ SBC และ SBE ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้น 100% 

โดยงาน EPC ถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าให้มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพและนำจุดแข็งด้านทีมวิศวกรที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการก่อสร้าง การเดินเครื่องจักรและการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าทำให้มีความเข้าใจในเทคนิคการออกแบบ การเลือกใช้เทคโนโลยี การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่ลูกค้าในการควบคุมต้นทุนอย่างเหมาะสม จึงได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าเพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในลักษณะจ้างเหมาแบบครบวงจร (Turnkey) มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบโครงการขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ มูลค่าโครงการตามสัญญาตั้งแต่ 50 ล้านบาท จนถึง 2,000 ล้านบาท

และ 3.ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียน (Power Plant Support) ให้บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) ให้แก่ลูกค้าโรงไฟฟ้าทั่วไป พร้อมมุ่งเน้นให้บริการเดินเครื่องและบำรุงโรงไฟฟ้ากลุ่มพลังงานจากพลังงานหมุนเวียน ที่ดำเนินกิจการภายใต้ SBE โดยบริษัทฯ มีทีมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการปฎิบัติงานเดินเครื่องและบำรุงรักษาที่พร้อมให้บริการอย่างครบวงจร

'เศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โคลเวอร์ เพาเวอร์ หรือ CV แจกแจงสตอรี่สร้างการเติบโตให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า บริษัทมีเป้าหมายการเข้าระดมทุนตลาดหุ้นครั้งนี้ !! เพื่อต้องการ 'ปลดล็อก' ข้อจำกัดเรื่อง 'เงินลงทุน' เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันรองรับโอกาสสร้างการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต สะท้อนผ่านการนำเงินระดมทุนขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ยิ่งเฉพาะใน 'ธุรกิจโรงไฟฟ้า' และ ชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน รวมทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียน ใช้เพื่อการพัฒนาโครงการ และต่อยอดโครงการใหม่ๆ ของกลุ่มบริษัท 

ทั้งนี้ ด้วยธุรกิจโรงไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงในครั้งแรก ก่อนจะทยอยรับรับรู้รายได้เข้ามา ฉะนั้น เมื่อมีเป้าหมายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ในอนาคตหลายโครงการ เรื่องเงินลงทุนทุนจึงมีข้อจำกัด ดังนั้น การระดมทุนจากตลาดหุ้นเปรียบเหมือนเป็นสปริงบอร์ดที่สามารถทำบริษัทลงทุนก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าได้มากขึ้นและเร็วขึ้นจะได้ไม่ตกขบวน... 

'การเข้าระดมทุน ของ CV ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยเสริมศักยภาพการดำเนินงานและฐานะการเงินเพื่อรองรับแผนขยายการลงทุนต่างๆ จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจด้านงานวิศวกรรม ที่ส่งมอบผลงานให้บริการด้านวิศวกรรมออกแบบและก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมาหลายโครงการ'

ทั้งนี้ บริษัทวางเป้าหมายแผนธุรกิจ 3 ปีข้างหน้า (2564-2566) 'ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า' จะขึ้นแท่นดาวเด่นของบริษัท บ่งชี้ผ่านสัดส่วนรายได้กลายเป็น 60% จากปัจจุบัน 40% โดยบริษัทจะขยายธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะมุ่งเน้นลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนผ่านการพัฒนาโครงการเองหรือเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตร รวมถึงเข้า 'ซื้อกิจการ' (M&A) ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมาย

โดยปัจจุบัน CV มีโรงไฟฟ้าที่จำหน่ายเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว จำนวน 4 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 26.2 เมกะวัตต์ และมีปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญารวม 23.6 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 โครงการและโรงไฟฟ้าขยะ 1 โครงการ ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทมีความมั่นคงค่อนข้างสูงในระยะยาว จากการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

ประกอบกับการขยายโอกาสเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศที่มีศักยภาพ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 2 โครงการ 39.8 เมกะวัตต์ ถือเป็นโอกาสในการต่อยอดไปสู่เป้าหมายที่จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าซึ่งดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนาให้มีกำลังการผลิตติดตั้ง จำนวนรวม 85 เมกะวัตต์ ภายในปี 2564 และ กำลังผลิต 180 เมกะวัตต์ภายในปี 2566

เขา บอกต่อว่า 'ธุรกิจด้านวิศวกรรม' ปัจจุบันสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 60% โดยบริษัทยังขยายการลงทุนควบคู่กับงานด้านวิศวกรรม (Valued EPC) แบบครบวงจรในกลุ่มเทคโนโลยีพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพ อาทิ ชีวมวล ขยะ และก๊าซชีวภาพรวมถึงพลังงานสะอาด ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Supporting) เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงในธุรกิจโรงไฟฟ้า 

โดยผ่านการเข้าประมูลเพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศตามแผน AEDP 2018 ส่งเสริมการผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มขึ้น โดยใช้ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับงาน EPC จากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศ และโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจากเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน รวมถึงสร้างโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะพิจารณาถึงโอกาสทางธุรกิจ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่คาดว่าจะได้รับ และพิจารณาจากฐานะทางการเงินและสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทฯ รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นประกอบการพิจารณาเข้าลงทุนในแต่ละโครงการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท

สำหรับ 'จุดแข็ง' ต่างของบริษัททำให้ CV มีการการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันด้านการควบคุมต้นทุนของธุรกิจโรงไฟฟ้า ในการมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีผลตอบแทนจากการลงทุนตามเป้าหมายที่วางไว้

นอกจากนี้ แหล่งที่มาของรายได้ CV ถือว่ามาจากธุรกิจโรงไฟฟ้าที่มีความมั่นคงและเป็นรายได้เข้ามาต่อเนื่อง จากระยะเวลาทำสัญญาระยะยาว ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา CV ได้ศึกษาโอกาสเข้าลงทุนซื้อกิจการในโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่แล้ว รวมถึงการเข้าลงทุนพัฒนาโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

ท้ายสุด 'เศรษฐศิริ' ทิ้งท้ายไว้ว่า อนาคตธุรกิจโรงไฟฟ้าถือเป็นโอกาสในการต่อยอดผลการดำเนินงานของ CV และสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอในอนาคต และสิ่งสำคัญเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำเข้ามา