ตีแผ่แนวคิดยามวิกฤต ซื้อประกันชีวิตเพื่อมรดกอย่างคุ้มค่า

ตีแผ่แนวคิดยามวิกฤต ซื้อประกันชีวิตเพื่อมรดกอย่างคุ้มค่า

เมื่อสภาวะโรคระบาดอาจทำให้หลายครอบครัวต้องสูญเสียเสาหลัก ส่งผลให้มีแหล่งรายได้ที่ลดลง หรือมีภาระหนี้สินต่างๆ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตได้เข้ามามีบทบาทในการวางแผนส่งต่อทรัพย์สินในครอบครัวให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้

จากสภาวะโรคระบาดในปัจจุบัน อาจทำให้หลายครอบครัวต้องสูญเสียเสาหลักของครอบครัว ซึ่งอาจส่งผลให้มีแหล่งรายได้ที่ลดลง หรือมีภาระหนี้สินต่างๆ ของเสาหลักของครอบครัวที่ต้องดำเนินการชำระหนี้สินอย่างต่อเนื่องไปด้วย ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน อาจทำให้ครอบครัวนั้นๆ สูญเสียความมั่นคงทางการเงินไปโดยปริยาย อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตได้เข้ามามีบทบาทในการวางแผนส่งต่อทรัพย์สินในครอบครัวให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ด้วยสภาวะปัจจุบันที่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังคงอยู่จากสถานการณ์โรคระบาด แม้ประกันชีวิตจะยิ่งมีความจำเป็น แต่การพิจารณาวงเงินเอาประกันก็ควรต้องรอบคอบเพื่อให้เหมาะสมกับฐานะครอบครัว และไม่กลายเป็นการสร้างภาระเพิ่มเติม 

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีการบังคับใช้ภาษีการให้และภาษีมรดก แต่เงินสินไหมของประกันชีวิตไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตจึงยิ่งเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับการวางแผนมรดก โดยวิธีการพิจารณาวงเงินเอาประกันอย่างคุ้มค่า อาจพิจารณาตามแนวคิดต่างๆ ต่อไปนี้

1. พิจารณาตามกระแสเงินสดที่เกิดจากทรัพย์มรดกนั้น โดยทั่วไปแล้วกว่าที่มรดกจะตกทอดสู่ทายาทอย่างสมบูรณ์มีระยะเวลาอย่างน้อย 30-90 วัน ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดตั้งผู้จัดการมรดก และผู้จัดการมรดกทำบัญชีทรัพย์สินอย่างชัดเจน แต่ถ้าไม่มีพินัยกรรมและมีทรัพย์สินและทายาทจำนวนมาก หรือมีข้อโต้แย้งต่างๆ อาจต้องใช้เวลานานกว่าที่จะแบ่งทรัพย์มรดกลงตัวได้ และหากก่อนหน้านี้เจ้ามรดกใช้รายได้ที่เกิดจากทรัพย์สินนั้นมาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวเป็นหลัก ถ้าไม่มีกระแสเงินสดช่วงที่มีการแบ่งทรัพย์มรดกอาจทำให้ครอบครัวขาดสภาพคล่องได้ ดังนั้น วงเงินเอาประกันชีวิตควรกำหนดจากกระแสเงินสดทั้งหมดที่เกิดจากทรัพย์มรดกภายใน 1 ปี เนื่องจากผู้จัดการมรดกต้องแบ่งทรัพย์สินให้เรียบร้อยภายใน 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1732 โดยแบ่งสัดส่วนผู้รับผลประโยชน์ตามค่าใช้จ่ายของทายาทแต่ละคน

และอาจพิจารณาค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการแบ่งมรดก เช่น ภาษีมรดก รวมอยู่ในวงเงินเอาประกันชีวิตด้วย เพื่อช่วยให้ไม่เป็นภาระภาษีแก่ทายาทที่จะได้รับมรดก โดยคำนวณจากมูลค่าทรัพย์สินที่เกิน 100 ล้านบาทต่อผู้รับ 1 คนคิดอัตราภาษี 5% กรณีเป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน แต่มีข้อจำกัดกรณีที่เจ้ามรดกต้องการให้มรดกกับผู้รับที่ไม่ใช่คนในครอบครัว เจ้ามรดกอาจไม่สามารถให้เป็นผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันชีวิตได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริษัทรับประกันแต่ละแห่งจะพิจารณา

2. พิจารณาตามความต้องการพื้นฐานของครอบครัว (Needs Approach) โดยพิจารณารายจ่ายครอบครัวที่ไม่รวมกับรายจ่ายส่วนตัวของเจ้ามรดก อาจแบ่งเป็นแผนระยะสั้น คือ วงเงินเอาประกันชีวิตเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการชำระหนี้สิน และเป้าหมายระยะยาว เช่น เงินทุนเพื่อให้ครอบครัวปรับตัว หรือค่าเล่าเรียนบุตรจนจบการศึกษา ด้วยการคำนวณจากค่าใช้จ่ายของเป้าหมายเหล่านี้ เป็นต้น จุดประสงค์เพื่อสร้างมรดกที่ปลอดภาระหนี้สิน และให้ครอบครัวปรับตัวได้ยามที่เราจากไป ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับหัวหน้าครอบครัวที่อยู่ในช่วงวัยเริ่มต้นสร้างครอบครัวที่มีทรัพย์สินไม่มาก ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่รายได้ลดลงจากวิกฤต การประเมินจากค่าใช้จ่ายจะแม่นยำกว่ารายได้ โดยแผนระยะสั้นอาจเลือกประกันแบบชั่วระยะเวลา (Term Insurance) ซึ่งโดยทั่วไปการขอสินเชื่อบ้านหรือสินเชื่อรถยนต์ผ่านสถาบันการเงินต่างๆ จะเสนอประกันคุ้มครองสินเชื่อ (MRTA) ให้อยู่แล้ว ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ Term เว้นแต่เจ้ามรดกไม่ได้ทำไว้อาจต้องพิจารณาทำเพิ่มเติมให้ซึ่งวงเงินเอาประกันและระยะเวลาคุ้มครองใกล้เคียงกับภาระนี้สิน 

ส่วนเป้าหมายระยะยาวที่เป็นเงินทุนสำหรับค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัว เริ่มด้วยการคำนวณเงินทุนสำหรับการปรับตัว เช่น หากครอบครัวมีรายจ่ายต่อเดือนราว 30,000 บาท โดยต้องการเตรียมค่าเล่าเรียนบุตร 1 คนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงปริญญาตรีราว 2 ล้านบาท โดยกำหนดให้ระยะเวลาที่ครอบครัวจะปรับตัวได้เมื่อบุตรเรียนจบปริญญาตรี คือ 16 ปี จากนั้นคำนวณวงเงินเอาประกันที่เหมาะสมในปัจจุบัน จากค่าใช้จ่ายคร่าวๆ คือนำค่าใช้จ่ายมารวมกันใน 16 ปี หรือ 5.76 ล้านบาท [(30,000 บาท x 12 เดือน) x 16 ปี] และเมื่อรวมกับค่าเล่าเรียนจะมีค่าใช้จ่าย 7.76 ล้านบาท แต่หากต้องการคำนวณให้แม่นยำมากขึ้น อาจต้องพิจารณาอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในอนาคต และความสามารถในการลงทุนของครอบครัวว่าสามารถนำเงินสินไหมไปลงทุนหาผลตอบแทนได้ร้อยละเท่าไหร่ต่อปี หากยิ่งทำผลตอบแทนได้มาก จะสามารถลดเงินเอาประกันได้ เช่น กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อ 3% ต่อปี โดยครอบครัวสามารถลงทุนได้ผลตอบแทนหลังหักภาษีที่ 5% ต่อปี เมื่อรวมกับค่าเล่าเรียนบุตรและภาระหนี้สิน เงินเอาประกันที่เหมาะสมจะลดลงเหลือ 6.91 ล้านบาท เป็นต้น

ประกันชีวิตถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญอยู่เสมอในการวางแผนมรดกให้ตรงตามความต้องการของเจ้ามรดกและเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยสร้างหลักประกันให้คนข้างหลังมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน แต่ในยามวิกฤตที่ต้องพิจารณาการใช้จ่ายให้รัดกุม การกำหนดวงเงินประกันชีวิตที่เหมาะสมจะช่วยให้ไม่สร้างภาระให้กับผู้ที่ต้องการวางแผนมรดกในช่วงวิกฤต และในขณะเดียวกันเมื่อเจ้ามรดกจากไป ก็จะไม่เป็นภาระเพิ่มเติมแก่ทายาทและทำให้มรดกที่ส่งต่อสามารถให้คนข้างหลังยังคงใช้ชีวิตได้อย่างที่เจ้ามรดกคาดหวังไว้

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager ธนาคารทิสโก้