'บีโอไอ' หนุนอุตฯ ดาวเทียม - อิเล็กทรอนิกส์ คาด 2 ปีการลงทุนกลับภาวะปกติ

'บีโอไอ' หนุนอุตฯ ดาวเทียม - อิเล็กทรอนิกส์ คาด 2 ปีการลงทุนกลับภาวะปกติ

"บีโอไอ" ดันลงทุน อุตสาหกรรมดาวเทียม - อวกาศ ดันเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ สร้างฐานการผลิตป้อนตลาดภูมิภาค เตรียมปรับสิทธิประโยชน์ดึงลงทุนอิเล็กทรอนิกส์เทคโนโลยีใหม่ให้สิทธิ์ประโยชน์เพิ่มจาก 3 เป็น 8 ปีเต็ม คาดลงทุนในไทยฟื้นสู่ระดับก่อนโควิดใน 2 ปี

นายชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าบีโอไออยู่ระหว่างการทำงานกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ “จิสด้า” และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเผื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมดาวเทียม และอวกาศในประเทศไทย โดยจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมนี้ของภูมิภาคได้ โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ในเชิงนโยบายทำได้ทั้งการเพิ่มเข้าไปเป็นสาขาหนึ่งในอุตสาหกรรมอากาศยาน (Aviation) ที่ประเทศไทยส่งเสริมให้เป็นเป้าหมายหรือสามารถที่จะผลักดันให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายอีกอุตสาหกรรมได้ในอนาคต

นายชนินทร์กล่าวว่าในปัจจุบันความต้องการใช้ดาวเทียมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะมีเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะดาวเทียมชนิดวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) ที่มีระยะวงโคจรไม่เกิน 200 กิโลเมตรจากพื้นโลก โดยดาวเทียมชนิดนี้มีการนำมาใช้ในการสื่อสาร และสนับสนุนเทคโนโลยี 5G ที่ไทยมีการสนับสนุนให้ใช้เพิ่มขึ้น หากสามารถส่งเสริมให้มีการผลิตอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทยก็จะช่วยสร้างรายได้เพิ่ม ยกระดับฝีมือแรงงาน และสามารถนำอุตสาหกรรมนี้มาทดแทนบางอุตสาหกรรมที่มีได้รับความนิยมลดลง

“ความพร้อมของการสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้สามารถทำให้เป็นคลัสเตอร์ใหม่ในไทยได้ นอกจากมีหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญอย่างจิสด้า รัฐบาลเพิ่งผ่านกฎหมายกิจการอวกาศที่สนับสนุนให้เกิดการให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจในกิจการอวกาศ ขณะที่ในประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมไฮเทค รวมทั้งมีบริษัทเอกชนเช่นบริษัท มิว สเปซ ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญและมีความร่วมมือกับบริษัทที่ทำธุรกิจอวกาศในต่างประเทศด้วย

 

 

นายชนินทร์กล่าวว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 การขอส่งเสริมการลงทุนในหลายสาขาอุตสาหกรรมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่นในสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอกนิกส์เพิ่มขึ้นจาก 20,726 ล้านบาท เป็น 57,263 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 65% โดยในส่วนการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าในสาขานี้จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากนักลงทุนที่มีการติดต่อเข้ามาและอยู่ระหว่างขอส่งเสริมการลงทุนกว่า 10 ราย

อย่างไรก็ตามบีโอไอเตรียมที่จะเสนอให้คณะกรรมการ(บอร์ด) พิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้บางกิจการที่อยู่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีสูงในขั้นตอนการผลิต เช่น ไมโครคอมโพเนนท์ ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จากปัจจุบันที่ให้สิทธิประโยชน์สูงสุด 3 ปี เพิ่มเป็น 8 ปี เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีประเภทนี้มากขึ้น

สำหรับเป้าหมายของการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 นายชนินทร์กล่าวว่าในปีนี้คำขอส่งเสริมการลงทุนจะทำได้ตามเป้าหมายที่ 5 แสนล้านบาท ส่วนในปี 2565เป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนจะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ โดยคาดว่าเมื่อความรุนแรงของการระบาดของโควิด-19 ลดลงนักลงทุนจะเริ่มเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อดูโอกาสและความเป็นไปได้ของการลงทุน ส่วนแนวโน้มที่การขอส่งเสริมการลงทุนจะกลับไปใกล้เคียงกับช่วงที่ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 คือในปี 2562 ซึ่งมีการขอส่งเสริมการลงทุนมประมาณ 7 แสนล้านบาทคืออีกประมาณ 2 ปี หรือในปี 2566

 

162998237497 สถิติการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 (ม.ค. - มิ.ย.) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 403 โครงการ มูลค่าเงิน ลงทุน 278,658 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) จำนวน โครงการลดลง 6% ส่วนมูลค่าเพิ่มขึ้น 287% โดยนักลงทุนที่มีการลงทุนในประเทศไทยอันดับ 1 ยังคงเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีเงินลงทุนรวมจำนวน 42,773 ล้านบาท อันดับ 2 สหรัฐฯ จำนวน 24,131 ล้านบาท และอันดับสามเป็นประเทศจีน จำนวน 18,615 ล้านบาท 

“ญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศอันดับหนึ่งในการลงทุนในประเทศไทย โดยหาก คิดเป็นสัดส่วนการขอรับส่งเสริมการลงทุนของญี่ปุ่นทั้งหมด 6 เดือนแรก เป็นสัดส่วน 22% ของโครงการที่ยื่นขอทั้งหมด ส่วนเงินลงทุนคิดเป็นสัดส่วน 15% ของโครงการที่ยื่นขอทั้งหมด โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 นักลงทุนญี่ปุ่นมีคำขอลดลงและไม่ได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศที่ขอส่งเสริมการลงทุนแต่เมื่อตัวเลขครึ่งปีออกมาญี่ปุ่นก็ยังเป็นแชมป์ ซึ่งได้มีการหารือกับเจโทรและชี้แจงเรื่องแนวทางส่งเสริมการลงทุน และสั่งการให้หน่วยงานบีโอไอที่ญี่ปุ่นและ กทม.เพิ่มกิจกรรมในการพูดคุยกับนักลงทุนมากขึ้นเพื่อชี้แจงมาตรการส่งเสริมการลงทุน”

สำหรับแนวทางการชักจูงการลงทุนในระยะต่อไปยังเน้นการชักชวนให้ลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นต้น