'สุวิทย์' ชู 'BCG Model' พลิกฟื้นเศรษฐกิจ - สร้างโอกาสประเทศหลังโควิด

'สุวิทย์' ชู 'BCG Model' พลิกฟื้นเศรษฐกิจ - สร้างโอกาสประเทศหลังโควิด

"บีซีจี" เป็นแนวคิดปรับเปลี่ยนพลิก “วิกฤติ” ให้เป็น “โอกาส” ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกเผชิญกับโควิด-19 ทุกประเทศกำลังถูกรีเซ็ททำให้ต้องหาโมเดลใหม่ในการปรับตัวให้อยู่รอด และเติบโตหลังการระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง และเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต

หนึ่งในโมเดลการพัฒนาที่จะพลิกฟื้นประเทศภายหลังการระบาดของโควิดที่มีการนำเสนอ คือ “BCG Model” โมเดลเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับว่าสร้างการเดิบโตที่สมดุลทั่วถึงและยั่งยืน ประกอบไปด้วย “เศรษฐกิจชีวภาพ” (Bioeconomy) “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว” (Green Economy) 

โดยแนวทางนี้ครอบคลุม 4 สาขายุทธศาสตร์สำคัญ ประกอบด้วย 1.เกษตรและอาหาร 2.สุขภาพและการแพทย์ 3.พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ 4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ “สุวิทย์ เมษินทรีย์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หนึ่งในผู้ผลักดันโมเดล BCG ตั้งแต่รับหน้าที่ในรัฐบาล จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศให้ BCG ให้เป็นวาระแห่งชาติที่จะใช้ขับเคลื่อนประเทศ 

“สุวิทย์” ขยายความเรื่องโมเดล BCG  ว่าแนวคิดเรื่องนี้ จะมีแนวทางการดำเนินงานที่ตั้งอยู่บนหลักคิดสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 

1.การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก 2.การเดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 3.การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 

วันนี้ BCG ไม่ใช่แค่ประเด็นที่จะขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเทศเท่านั้น แต่เป็นประเด็นที่ไทยกำลังขับเคลื่อนเป็นวาระระดับโลก ซึ่งได้หารือและให้ความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและสั่งการให้หน่วยราชการเตรียมพร้อมนำ BCG เป็นประเด็นขับเคลื่อนสำคัญในการประชุม ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (APEC) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพปลายปี 2564 

BCG เป็นโมเดลการพัฒนาที่ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศให้ความสำคัญมาก เป็นนโยบายที่หลายบริษัทขนาดใหญ่นำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ และนโยบายเรื่องนี้มีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศต่างๆด้วย เนื่องจาก BCG เป็นโมเดลที่รวมหลายประเด็นแบบองค์รวม ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ 

“ได้เรียนกับนายกฯ แล้วว่า BCG จะเป็นประเด็นและวาระระดับโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยจะใช้โมเดลนี้ผลักดันเศรษฐกิจภายในและประกาศให้เป็นวาระระดับโลกในการประชุมเอเปก รวมทั้งจะเป็นวาระสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศหลังวิกฤติโควิด-19 โดยแนวทางดังกล่าวจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก” 

 

ทั้งนี้ข้อดีของ BCG คือการตอบโจทย์การพัฒนาในหลายด้าน ซึ่ง BCG เกี่ยวข้องกับ 4 มิติในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ 

1.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยใช้ศักยภาพของประเทศไทย ทั้งในเรื่องของการเกษตร อาหาร ซึ่งจากฐานศักยภาพดังกล่าวทำให้ไทยสามารถที่จะแข่งกับโลกได้มากขึ้น และแข่งขันจากส่วนที่ประเทศไทยมีศักยภาพอยู่แล้ว

2.BCG ตอบโจทย์ของโลกหลังโควิด-19 ซึ่งนอกจากการแพร่ระบาดยังมีปัญหาอื่นๆที่โลกต้องแก้ปัญหาร่วมกัน เช่น เรื่องของปัญหาโลกร้อน (climate change) ที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้านเช่นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด การท่องเที่ยวที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เชื่อมโยกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3.BCG ตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งมีมิติที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เอสเอ็มอีในชุมชน สหกรณ์การเกษตร ซึ่งการที่ตอบโจทย์เชิงพื้นที่ โดยดึงภาคส่วนต่างๆ มามีส่วนร่วมเรียกว่า “การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม” หรือ “Inclusive Growth” ซึ่งจะช่วยพัฒนาประเทศได้ดี เพราะไทยเองมีความหลากหลายในเชิงทรัพยากร สังคมและวัฒนธรรมแต่ละพื้นที่

แผนการพัฒนาประเทศตามโมเดล BCG กำหนดให้มีคลัสเตอร์แต่ละกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม ให้ขับเคลื่อนระดับพื้นที่และให้สอดคล้องบริบทแต่ละสังคมชุมชน และการพัฒนาคลัสเตอร์ควรเน้นสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในท้องถิ่น สร้างแพลตฟอร์มการค้าและการทำธุรกิจออนไลน์ การสร้างระบบโลจิสติกส์ที่ดีในท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการเติบโตของผู้ประกอบการให้เข้มแข็งขึ้น

4.BCG เป็นโมเดลที่จะใช้สำหรับการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนซึ่งเป็นการพัฒนาในระดับเศรษฐกิจฐานราก มีหลายเรื่องที่ภาครัฐส่งเสริมได้ เช่น ป่าชุมชน เกษตรชุมชน สมุนไพรชุมชน ซึ่งทำผ่านภาครัฐหรือบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ส่งเสริมการเกษตรแม่นยำ การทำเกษตรที่ใช้เทคโนโลยี ซึ่งตอบโจทย์การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาการอุดหนุนชดเชยภาคเกษตรแบบปัจจุบัน

“ได้เรียนนายกฯว่าบีซีจี จะเป็นวาระระดับโลก ไทยจะต้องใช้โมเดลนี้ผลักดันเศรษฐกิจหลังโควิดเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ" รวมทั้งสร้างโอกาสของประเทศหลังโควิด เพราะเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่พึ่งพาตัวเองใช้ศักยภาพและเทคโนโลยีที่มี 70% และใช้เทคโนโลยีข้างนอกเข้ามาเสริมแค่ 30% ซึ่งต่างจากอุตสาหกรรมเป้าหมายที่พึ่งพาการลงทุนจากภายนอกมาก และที่สำคัญ BCG เป็นโมเดลที่ดึงทุกภาคส่วนวมพัฒนาระดับพื้นที่ ถือเป็นโอกาสปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด”

162920615365

การขับเคลื่อนเรื่อง BCG ให้สำเร็จนอกจากยกเป็นวาระแห่งชาติ จะต้องจัดโครงสร้างการบริหารที่เอื้อต่อการผลักดันนโยบายระยะยาว โดยมี “คณะกรรมการระดับชาติ” หมือนการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนา "อีสเทิร์นซีบอร์ด" โดยเป็นคณะกรรมการที่ทำงานแบบปลอดการเมือง เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนให้ทำงานต่อเนื่องในการขับเคลื่อนเรื่อง BCG โดยเฉพาะ 

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะเป็นโครงสร้างการบริหารที่มีทั้งการทำงานเชิงวิชาการ และมีอำนาจตามกฎหมายเพื่อผลักดันให้นโยบายนี้เดินหน้าต่อไปได้ระยะยาว ซึ่งได้ผลมากกว่าการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยมอบหมายให้หน่วยงานราชการ หรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งรับเป็นเจ้าภาพ เพราะจากที่ผ่านมาเห็นได้ว่าแนวทางดังกล่าวจะติดขัดระบบราชการทำให้งานล่าช้าและไม่สำเร็จ