‘แอชตัน อโศก’  ระเบิดเวลา ‘อนันดา-อสังหาฯ’

‘แอชตัน อโศก’   ระเบิดเวลา ‘อนันดา-อสังหาฯ’

“ตลาดอสังหาริมทรัพย์” มีมูลค่านับ “แสนล้านบาท” เป็น Real Sector ที่มีมีส่วนขับเคลื่อนการเจริญเติบโตเศรษฐกิจหรือจีดีพีของไทยไม่น้อย ในห่วงโซ่หรือซัพพลายเชนยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกมากมาย ตั้งแต่วัสดุก่อสร้าง การก่อสร้าง มีแรงงานในระบบจำนวนมาก ฯ 

ที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็น บ้านเดี่่ยว บ้านแฝด ทาวเฮ้าส์ คอนโดมิเนียม จะเป็นราคาถูก ปานกลาง หรือแพงระยับ หรูหรา ต่างเป็นเป้าหมายสูงสุดของทุกคนที่ต้องการจะมีเป็นแหล่งพักพิง เป็นสินทรัพย์ของตัวเอง 

ทว่า หากผู้บริโภคเสียเงินก้อนโต แต่กลับต้องประสบปัญหาการซื้อที่อยู่อาศัยแล้วอาจไม่ได้หรือไม่มีที่อยู่ ย่อมกระเทือนความมั่นคงรอบด้าน 

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดําที่ ส. 53/2559 คดีหมายเลขแดงที่ ส. 19/2564 ให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย อาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคารโดยไม่ยื่นคําขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ และมาตรา 39 ตรี แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของอนันดาฯ โดยให้มีผลย้อนหลัง ซึ่งก็คือ “โครงการแอชตัน อโศก” นั่นเอง 

ประเด็นที่เป็นปัญหาเนื่องจากที่ดินตั้งโครงการนั้น “ไม่มีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรยาวต่อเนื่องกันโดยตลอด จนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่น ที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ตามข้อกฎหมาย ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522” 

ทว่า โครงการแอชตัน อโศก เป็นหนึ่งในโครงการใหญ่ของอนันดาฯ และยังเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรญี่ปุ่นอย่าง “มิตซุยฟุโดซัง” ด้วยมูลค่า 6,481 ล้านบาท จำนวน 666 หน่วย(ยูนิต) ซึ่งดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ขายโครงการจนมียอดโอนแล้ว 87% คิดเป็นมูลค่า 5,639 ล้านบาท ส่วน “ลูกบ้านเข้าอยู่อาศัย” 578 ครัวเรือน แบ่งเป็นคนไทย 438 ราย และลูกค้าต่างชาติ 140 รายจากทั้งสิ้น 20 ประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา สหรัฐ และสิงคโปร์ ฯ 

ทันทีที่มีคำสั่งศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ย้อนหลัง ทั้ง “ผู้บริหารอนันดา” และ “ลูกบ้าน” ตกอยู่ในภาวะเคร่งเครียดไม่น้อย จนทำให้แม่ทัพอย่าง ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา  ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เร่งออกคลิปวิดีโอสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกบ้าน 

162908126134

ไล่หลังกันยังรีบตั้งโต๊ะแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเพื่อชี้แจงผลกระทบที่เกิดขึ้น การสร้างความชื่อมั่นให้ลูกบ้านอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่าจะ “ไม่หนี” ยิ่งกว่านั้น แจงยิบทุกรายละเอียดถึงการขออนุญาตต่างๆ จนโครงการเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง แล้วเสร็จ มีคนเข้าอยู่อาศัย ซึ่งทุกกระบวนการ ทุกขั้นตอน ย้ำว่า “ทำถูกต้อง” 

ทั้งนี้ เมื่อคำพิพากษาของศาลปกครองกลางออกมาแล้ว ภายใน 30 วัน อนันดาฯ ในฐานะผู้ร้องสอดได้เร่งยื่นอุทธรณ์คำตัดสิน แต่กระบวนการพิจารณาคดีความ มีการคาดการณ์จะใช้เวลาราว 3-5 ปี ระหว่างทางมีผลกระทบเกิดขึ้นมากมาย กลายเป็น “ระเบิดเวลา” ของลูกบ้าน สถาบันการเงิน อนันดาฯ วงการอสังหาฯ เศรษฐกิจ การลงทุน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในการ “การออกใบอนุญาต” ต่างๆ

++ลูกบ้านเดือดร้อนหนัก!!  

โครงการแอชตัน อโศก มีลูกบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้วกว่า 1,000 ชีวิต เป็นเวลาร่วม 1-2 ปี ทันที่เกิดเรื่องขึ้น ลูกบ้านต้องเร่งถามผู้ประกอบการถึงผลกระทบที่จะตามมามากมาย เช่น ครบ 3 ปี จะรีไฟแนนซ์ได้ไหม, พี่นอนไม่หลับมาตั้งแต่คืนวันศุกร์แล้ว, ตรงนี้ก็บ้านผมเหมือนกัน ผมอยู่มา 2 ปีแล้ว, เค้าจะทุบหมดเลยใช่ไหม, แล้ว 3-5 ปีจากนี้ กว่าศาลจะตัดสินเราจะมีชีวิตยังไง ฯ 

คำถามที่ยังไร้ทางออก ทำให้ตัวแทนลูกบ้าน 2 ราย ตั้งโต๊ะ Live ผ่านเฟซบุ๊ก ลูกบ้านแอชตันอโศกที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองกลาง เฉพาะความเดือดรอนที่เกิดขึ้น พร้อมออกตัวงดตอบประเด็นข้อกฏหมาย คดีความ เนื่องจากยัง “มืดแปดด้าน” และเพิ่งได้ ที่ปรึกษาทางกฏกมายเพื่อการดำเนินด้านคดีความต่างๆ  

แม้ตัวแทนลูกบ้านจะยืนยันว่าเคารพคำตัดสินของศาลฯ และกฏหมายบ้านเมือง เมื่อการตีความของกฏหมายส่งผลกระทบต่อโครงการแอชตัน อโศกอย่างมาก ขณะที่ในตลาดอสังหาฯยังมีโครงการลักษณะเดียวกับอนันดาฯ จำนวนไม่น้อย  เมื่อโครงการถูกเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างย้อนหลัง แล้วต่อจากนี้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้ากระทรวง ทบวง กรม “จะมีความน่าเชื่อถือในการออกใบอนุญาตให้เจ้าของโครงการหรือไม่” เพื่อให้ผู้บริโภคพิจารณาในการซื้ออาคารชุด 

นอกจากนี้ ในการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียม ผู้บริโภคจะศึกษาข้อมูลโครงการว่าผ่านการขออนุญาตก่อสร้าง ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ฯ ซึ่งใช้เวลานานนับเดือน หรือปีกว่าจะผ่านการอนุญาต ทำให้มั่นใจกับโครงการแอชตัน อโศก เมื่อยื่นเรื่องขอสินเชื่อกับธนาคาร ผ่านการอนุมัติวงเงิน เป็นต้น การผ่านกระบวนการเหล่านี้สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อไม่น้อย  

“เมื่อเกิดปัญหาจึงตกใจและเสียใจมาก เรามาอยู่จุดนี้ได้ยังไง แม้คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด แต่ลูกบ้านกว่า 1,000 ชีวิต ได้รับผลกระทบแล้ว เรากระทบมากสุดทั้งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีความเลย”

ลูกบ้านยังย้ำชะตากรรมที่เผชิญในเวลานี้ นอกจากเศรษฐกิจย่ำแย่ ยังเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเจอโครงการที่อยู่อาศัยมีปัญหา สิ่งที่กังวลตามมาหนีไม่พ้นแบกภาระการ “ผ่อนคอนโด 30 ปี” รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ซึ่งหยิบยกเฉพาะ “ค่าส่วนกลาง” ไม่รู้จะเพียงพอไหม หนักกว่านั้นคือ “เงินทั้งหมดจะสูญเปล่าไหม หากโครงการถูกทุบทิ้ง” 

ดังนั้น คำถามใหญ่จะมีใคร “เยียวยา” ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกบ้านบ้าง เพราะเวลานี้จะหันซ้ายหรือขวาปัญหามีรอบด้าน ตัวอย่าง การทำธุรกรรมทางการเงิน สำหรับลูกบ้านที่กำลังยื่นขอ “รีไฟแนนซ์” กับธนาคาร ต้องถูก “ปฏิเสธ” การกู้ทันที  เพราะคอนโดถูกเพิกถอนใบอนุญาตย้อนหลัง  ด้านความมั่นคง โครงการแอชตัน อโศกได้ถูกแช่แข็ง ไม่มีใครต้องการทำนิติกรรม โดยมองเป็น “คอนโดมิเนียมเถื่อน”  

มองมิติที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ต้องการจะขายห้องชุดเพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่องให้กับตัวเอง ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากทำนิติกรรมต่างๆได้ยาก อีกฟากการมีลูกบ้าน “ต่างชาติ”  ปัญหาที่เกิดขึ้นเบรก “ความเชื่อมั่น” เต็มๆไม่แค่ฝั่งลูกค้า แต่รวมถึง “นักลงทุนต่างชาติ” สะเทือนภาพลักษณ์อสังหาริมทรัพย์ไทยทั้งองคาพยพ 

++ใคร?...จะเยียวยาผลกระทบ! 

ส่วนข้อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น สื่อมวลชน ภาคสังคม หน่วยงานรัฐ อนันดา รวมถึงธนาคารฯ มีดังนี้ 

1.อยากสอบถามว่าใครจะเป็นเยียวยายื่นมือช่วยลูกบ้านแอชตัน อโศกกว่า 1,000 ชีวิต ทั้งเรื่องที่พักอาศัย การรีไฟแนนซ์ และการต่อสู้คดีความในระยะยาว 3-5 ปี  

2.หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาต ทุบทิ้งโครงการแอชตัน อโศก ใครจะรับผิดชอบ หน่วยงานรัฐที่ออกใบอนุญาตหรืออนันดาฯ 

162908118979

 “จนถึงวันนั้น จะมีใครเยียวยาเราไหม บริษัทย่อยคืออนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จะปันผล ปิดบริษัทหนีไปแล้วหรือยัง จะมีการตั้งสำรองหนี้เผื่อพวกเราไหม เพราะที่ผ่านมาบริษัทไม่มีการตั้งสำรองหนี้ไว้ หรือรัฐจะมาเยียวยา”

อย่างไรก็ตาม หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง โครงการไม่ชอบด้วยกฏหมาย ต้องดำเนินการรื้อถอนอาคาร ลูกบ้านยืนยันเคารพคำตัดสินของศาล แต่ต้องให้พิจารณาผลกระทบ ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนด้วย 

“ลูกบ้านโครงการแอชตัน อโศก เราเคารพคำตัดสินของศาล กฏหมาย ความถูกต้องสำคัญมาก แต่ต้องการให้สิ่งที่เราเคารพพิจาณาผลกระทบ แนวทางการช่วยเหลือในอนาคตด้วย” 

++ แม่ทัพ “ชานนท์”

 ขอความเป็นธรรม

ทันทีที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง รื้อถอนฯ มีผลย้อนหลัง  ชานนท์” แม่ทัพอนันดาฯ พร้อมทีมผู้บริหารและ “ฝ่ายกฏหมาย” ตั้งโต๊ะแถลงข่าวด้วยสีหน้า ท่าทางเคร่งเครียด! โดยเฉพาะ “ชานนท์” ที่ระหว่างแจงรายละเอียดข้อมูลด้วยใบหน้านิ่วคิ้วขมวด มีการกัดเล็บ-นิ้วเป็นระยะๆ 

ชานนท์ เผยความรู้สึกหลังทราบคำพิพากษา หลายคนนอนไม่หลับ เพราะปัญหาดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงตั้งคำถามว่าสังคมไทยจะไปต่ออย่างไร เมื่อกฎ ระเบียบ การจัดการของภาครัฐ ที่เปรียบเสมือนผู้จัดการบ้าน ส่วนอนันดาฯ ป็นลูกบ้านรายหนึ่งในประทศไทย เมื่อหน่วยงานที่อนุมัติ อนุญาตให้พัฒนาโครงการแล้ว แต่กฎของบ้านหลังใหญ่เกิดปัญหาจะแก้ไขอย่างไร 

เท้าความการซื้อที่ดินแปลงใหญ่บนทำเลทองของโครงการแอชตัน อโศก บนถนนอโศกมนตรี ด้วยราคาแพงระยับ การพัฒนาโครงการจึงต้องสร้างตึกสูงสุด 51 ชั้น  

ขณะที่โจทย์ใหญ่ตอนนั้นคือ “ทางเข้า-ออก” โครงการ แปลงแรกมีระยะ 6.4 เมตร(ม.) แต่เมื่อรวมกับที่ดินแปลงหลักแล้ว ทางเข้าออกต้องมีระยะ 12 เมตร แต่บริษัทได้ศึกษาที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เพื่อใช้เป็นทางเข้าออก และเพิ่มระยะเผื่อไว้เป็น 13 เมตร โดยกระบวนการดังกล่าว ได้ปรึกษาหน่วยงานรัฐอย่างละเอียด รอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในภายหลัง

ทั้งนี้ อนันดาฯ ย้ำว่าบริษัทได้สอบถามเขตและหารือเกี่ยวกับใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกว่า 20 ครั้ง จนผ่านความเห็นชอบอีไอไอ ซึ่งขั้นตอนการขอนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินของรฟม. และเอกสาร เลขที่ รฟม 012/1139 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 ข้อ 1.รฟม.พิจารณาแล้วอนุญาตให้ผ่านที่ดินของ รฟม. บริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิท โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล โฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เลขที่ดิน 1261 จำนวน 1 ช่องทาง ขนาดกว้าง 13 เมตร พร้อมเอกสารแนบแผนผังเข้า-ออก สู่ถนนอโศกมนตรี เนื้อที่รวมกว่า 2 ไร่ มีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่ดินเพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ จัดอยู่ในประเภทธุรกิจที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ตามข้อ 7.2 ของประกาศ รฟม. เรื่อง กำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน รฟม. เป็นการผ่านทาง ลงวันที่ตั้งแต่กันยายน 2556   

ขณะนั้น รฟม.ยังมีแนวคิดในการพัฒนาเมืองที่เรียกว่า TOD หรือ Transit Oriented Development การพัฒนาที่เน้นรับบขนส่งมวลชน โดยออกแบบพื้นที่รอบสถานีให้ผสมผสานระหว่างศูนย์พานิชยกรรม ร้านค้า ที่พักอาศัย แหล่งงาน เพื่อเพิ่มจำนวนผู้โดยสารและการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนที่สะดวก 

แนวคิดดังกล่าว ข้อ 5 กำหนดให้มีประเภทการอนุญาตให้ใช้ที่ดินของ รมฟ. เป็นทางผ่านสำหรับที่ดินที่มีลักษณะการใช้ประโยชน์ ดังต่อไปนี้ โดย 5.2 ประกอบธุรกิจที่พักอาศัยขนาดใหญ่ และข้อ 6 ให้้กำหนดอัตราค่าตอบแทนการอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรฟม. เป็นค่าผ่านทางโดยให้คิด ณ วันที่ยื่นคำขออนุญาต ตามหลักเกณฑ์ที่มี 

ในส่วนของค่าตอบแทน อนันดาฯ จะสร้างอาคารจอดรถมูลค่า 97 ล้านบาท ให้แก่รฟม. ซึ่ง ชานนท์ แจ้งว่าได้จ่ายเงินมัดจำไปแล้ว แม้ก่อนหน้านั้นมีการศึกษากรณีของโครงการอื่นๆ และพบว่าการจ่ายค่าตอบแทนอยู่ที่มูลค่าไม่ถึง 10 ล้านบาท เทียบกับหลักเกือบร้อยล้านบาท จึงตั้งคำถามถึงความ “เป็นธรรม” และมีการต่อรองถึงการคิดอัตราค่าตอบแทนที่แพง! แต่เมื่อได้คำตอบ โครงการแอชตัน อโศกได้ประโยชน์สูงสุด ประชาชนเองได้รับประโยชน์จากการใช้อาคารจอดรถ และเดินทางโดยระบบคมนาคขนส่งด้วย 

“เราไม่เคยทำมาก่อน เราก็ต้องกลัว ทางรฟม.ให้ข้อมูลว่าทำได้ เพราะตอนนั้น รฟท.กำลังโปรโมการทำทีโอดีพอดี เพื่อนำทรัพยากรที่ดินรอบรถไฟฟ้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” 

++ย้ำ “แอชตัน อโศก” ขออนุญาตถูกต้อง!!

8 หน่วยงานรัฐ เคาะผ่านฉลุย 

อย่างไรก็ตาม ชานนท์ ย้ำว่าบริษัทดำเนินงานมาอย่างถูกต้องและสุจริต มีการขออนุญาตหน่วยงานต่าง ๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งได้รับอนุมัติจาก 8 หน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) สำนักงานเขตวัฒนา กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมที่ดิน ฯ และได้รับใบอนุญาตถึง 9 ฉบับ มีการขอความเห็นก่อนการดำเนินการไม่น้อยกว่า 7 หน่วยงาน และผ่านคณะกรรมการมาถึง 5 คณะกรรมการ

162908122036

“เราได้รับอนุมัติจาก 8 หน่วยงาน ภาครัฐมีการกรองว่าทุกอย่างเมคชัวร์หมด ทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายหมด สิ่งแวดล้อม (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-สผ.) มาตรวจก็ผ่าน มีการปรับโน่นปรับนี่ ก็ปรับเพื่อให้ถูกต้อง เกิดผลประโยชน์ที่ดีที่สุดในสังคม สำนักงานเขตวัฒนา สำนักงานเขตพระโขนง จราจร กทม. กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมที่ดิน สำนักงานทุกสำนักตรวจเอกสารหมด ​ ใบอนุญาต 9 ฉบับ ใบอนุญาตขอทางของรฟม. ​การเชื่อมทางสาธารณะ ใบรับแจ้งการก่อสร้างตามมาตรา 39 ทวิ ใบรับรองการเปิดใช้อาคาร หนังสือรับรองการจดทะเบียนอาคารชุด หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด หนังสือเห็นชอบรายงานอีไอเอ เราทำงานกับญี่ปุ่น เข้มเรื่องพวกนี้มาตลาด เราโดนตรวจมาตลอด ทั้งภายนอกภายใน ความเห็นก่อนดำเนินการ 7 หน่วยงาน รฟม. เขตวัฒนา สำนักการจราจร มีความเห็นมาหมด ผ่านคณะกรรมการทุกหน่วยงาน ทุกขั้นตอน ผ่านคณะกรรมการไม่ใช่เจ้าหน้าที่ท่านเดียว” 

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้น ในฐานะซีอีโอ ยืนยันจะสู้สุดความสามารถ เพื่อชื่อเสียงขององค์กร การเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากมาย แต่ต้องขอความเป็นธรรมจากทุกฝ่ายด้วย ทุกภาคส่วนควรอยู่บนความถูกต้อง มีสปิริต ยิ่ง “ภาครัฐ” เป็นบ้านใหญ่ ต้องดูแลบ้านเล็ก(ภาคธุรกิจ ประชาชน)

อย่างไรก็ตาม กระบวนการทางกฎหมาย บริษัทต้องยื่นอุทธรณ์ใน 30 วัน แต่ต้องใช้เวลา 3-5 ปีกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาออกมา ซึ่ง ชานนท์ พยายามหาแนวทางอื่นเพื่อยุติปัญหาให้เร็วที่สุด จึงขอคำแนะนำ กระบวนการใด วิธีไหนที่ทำได้จากทุกฝ่าย 

162908219528

“ทุกคนต้องอยู่บนความถูกต้อง ในสปิริตภาครัฐเป็นดูแลบ้านใหญ่ ผมดูแลบ้านเล็ก ขอความเห็นใจบ้านใหญ่ ผู้ที่มีอำนาจ ต้องช่วยเรา รัฐควรหันหน้าคุยกับเรา เทคแคร์ผู้ได้รับผลกระทบยังไงบ้าง อนันดา เจ้าของร่วม ชาวต่างชาติ รัฐต้องดูแล ส่วนบริษัทในสปิริตของซีอีโอ เราหนีลูกค้าไม่ได้ จะหนีไปไหน ต้องดูแลลูกค้าให้สุด ยุติธรรม ภายใต้กฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และอำนาจที่บริษัทมี” 

สำหรับโครงการแอชตัน อโศก ถือเป็นหนึ่งในโครงการเรือธงของบริษัท วิกฤติครั้งนี้ จึงเหมือนโดนมีดปักกลางใจ 

“กรณีที่เกิดขึ้น เหมือนเราโดนเสียบหัวใจ อยากให้เราตายเลย ลูกค้า นักลงทุน จะคิดกับเรายังไง” 

++อสังหาฯร่วม 100 โครงการ 

ระเบิดเวลาลูกใหม่

บทเรียนราคาแพงกว่า 6,000 ล้านบาท จากโครงการแอชตัน อโศก ไม่เพียงเป็นระเบิดเวลาของบริษัท ลูกบ้าน แต่ยังลุกลามภาพรวมอสังหาฯโดยรวม ทำให้ อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย ต้องออกโรงทำหนังสือถึง “ผยง ศรีวณิช” ประธานสมาคมธนาคารไทย เพื่อขอความร่วมมือในการแก้ปัญหาอันเนื่่องมาจากผลกระทบคำตัดสินของศาลปกครอง กระเทือนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์วงกว้าง รวมถึงภาคประชาชนและความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ 

 ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้ติดตามเหตการ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และพบว่าการเพิกถอนใบอนุญาต โดยมีผลย้อนหลัง แม้โครงการจะผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจทุกภาคส่วนตามขั้นตอนแล้ว ทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) สำนักงานเขตวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักงานโยธา และกรุงเทพมหานคร จึงทำให้ได้รับใบอนุญาตครบถ้วนถูกต้อง แต่เมื่อเกิดดเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดข้อห่วงกังวลผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย โดยมีโครงการมีลักษณะการใช้ที่ดินของหน่วยงานของรัฐเป็นทางเข้าออกนับ “ร้อยโครงการ” ซึ่งอนุมานมูลค่ามหาศาลเช่นกัน

“เหตุการณ์ข้างต้นอาจกระทบความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม โดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจธนาคารสินเชื่อลูกค้ารรายย่อยยหรือหลักประกันการชำระหนี้ต่างๆ ทุกฝ่ายขาดความเชื่อถือต่อระบบการขออนุญาตจากทางราชการ และมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศและส่งผลกระทบต่อการลงทุน การจ้างงาน และเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก”