ล็อกดาวน์ฉุดธุรกิจอาหารสูญ 2.59 แสนล้าน

ล็อกดาวน์ฉุดธุรกิจอาหารสูญ 2.59 แสนล้าน

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทยประเมินล็อกดาวน์เข้มทุบร้านอาหารและธุรกิจวัตถุดิบอาหารเสียหาย เคสเลวร้ายล็อกดาวน์ถึง 31 ต.ค. ทำสูญ 2.59 แสนล้านบาท ปิดกิจการ 1 แสนราย

ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย (Krungthai COMPASS) ได้ประเมินผลกระทบจากการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้นและอาจลากยาวในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ต่อกลุ่มธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจวัตถุดิบอาหาร โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 130,000-259,600 ล้านบาท และร้านอาหารไทยคงใช้ระยะเวลาฟื้นตัวอย่างน้อย 2 ปี

ทั้งนี้ แม้ว่าเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ประกาศปลดล็อกให้ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดให้บริการแล้ว แต่ยังเข้มงวดให้มีการติดต่อและสัมผัสกับผู้บริโภคน้อยที่สุด ซึ่งเป็นการผ่อนคลายจากมาตรการก่อนหน้านี้ที่ภาครัฐสั่งปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าในช่วงวันที่ 20 ก.ค. – 2 ส.ค. ยิ่งไปกว่านี้ภาครัฐยังได้ยกระดับความเข้มงวดโดยการขยายพื้นที่ที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็น 29 จังหวัด จากมาตรการก่อนหน้านี้ที่มีเพียง 13 จังหวัด  
 
สำหรับมูลค่าความเสียหายของธุรกิจร้านอาหารโดยรวมในครึ่งปีหลัง 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 107,500-214,600 ล้านบาท หรือหายไป 22-44% ของรายได้ร้านอาหารโดยรวมในปี 2562 แบ่งเป็น 3 กรณีได้แก่
 
กรณีที่ 1 หากสิ้นสุดล็อกดาวน์ ณ 31 ส.ค. และมีพื้นที่ที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด คาดว่ามูลค่าความเสียหายโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 107,500 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นรายได้ที่จะหายไปจากร้านอาหารที่เตรียมจะปิดกิจการราว 50,000 ราย
 
กรณีที่ 2 หากสิ้นสุดล็อกดาวน์ ณ 30 ก.ย. และมีพื้นที่ที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด คาดว่ามูลค่าความเสียหายโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 164,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นรายได้ที่จะหายไปจากร้านอาหารที่เตรียมจะปิดกิจการราว 75,000 ราย
 
กรณีที่ 3 หากสิ้นสุดล็อกดาวน์ ณ 30 ก.ย.และขยายมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ไปสิ้นสุด ณ 31 ต.ค. โดยจะบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่ามูลค่าความเสียหายโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 214,600 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้ที่จะหายไปจากร้านอาหารที่เตรียมจะปิดกิจการราว 100,000 ราย

ส่วนประเภทของวัตถุดิบที่จะกระทบหนักสุดคือ กลุ่มเนื้อสัตว์ เนื่องจากมีสัดส่วนการผลิตสูงถึง 50% ของต้นทุนวัตถุดิบทั้งหมด ซึ่งอาจส่งผลให้มีมูลค่าความเสียหายที่ประมาณ 11,300-22,500 ล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มผักและผลไม้ ซึ่งเก็บรักษาได้ยาก โดยคาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายที่ราว 6,000-12,200 ล้านบาท และลำดับถัดมา คือกลุ่มข้าวและธัญพืช คาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายที่ราว 2,300-4,500 ล้านบาท
 
สรุปมูลค่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ทั้งกลุ่มธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจวัตถุดิบอาหารจะอยู่ที่ประมาณ 130,000-259,600 ล้านบาท ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 โดยผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดมากขึ้นในแต่ละกรณี ได้แก่
 
กรณีที่ 1 หากสิ้นสุดล็อกดาวน์ ณ 31 ส.ค. และมีพื้นที่ที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด คาดว่ามูลค่าความเสียหายของธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจวัตถุดิบอาหาร อยู่ที่ประมาณ 130,000 ล้านบาท
 
กรณีที่ 2 หากสิ้นสุดล็อกดาวน์ ณ 30 ก.ย. และมีพื้นที่ที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด คาดว่ามูลค่าความเสียหายของธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจวัตถุดิบอาหาร อยู่ที่ประมาณ 198,300 ล้านบาท
 
กรณีที่ 3 หากสิ้นสุดล็อกดาวน์ ณ 30 ก.ย.และขยายกึ่งล็อกดาวน์ไปสิ้นสุด ณ 31 ต.ค. ซึ่งบังคับใช้มาตรการทั่วประเทศ คาดว่ามูลค่าความเสียหายของธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจวัตถุดิบอาหาร อยู่ที่ประมาณ 259,600 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การขายอาหารผ่านแอปพลิเคชัน Food Delivery เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาให้แก่ธุรกิจร้านอาหาร แต่เมื่อพิจารณารายได้ของร้านอาหารจากการขายผ่าน Food Delivery ในปี 2563 ซึ่งธุรกิจนี้ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์เช่นกัน พบว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 20% จากปี 2562 อยู่ที่ 10% ของรายได้รวมธุรกิจร้านอาหาร แต่ก็ยังมีสัดส่วนที่น้อย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารมักมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการจ่ายค่า GP หรือ Gross Profit ซึ่งเป็นค่าดำเนินการที่แอปพลิเคชัน Food Delivery จะเรียกเก็บจากร้านอาหาร คิดเป็นประมาณ 20-30% ของยอดขาย จึงกดดันให้ธุรกิจร้านอาหารแทบจะไม่มีกำไรในระยะนี้

ผลกระทบจากการคุมการระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ทำให้ธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัวอย่างหนัก เพื่อให้สามารถพยุงกิจการต่อให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้ แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสจะบรรเทาลง แต่ Krungthai COMPASS มองว่าธุรกิจร้านอาหารในไทยคงต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวอย่างน้อย 2 ปี