ลูกบ้าน 'แอชตัน อโศก' มืดแปดด้าน! วอน 'รัฐ-อนันดาฯ-แบงก์' เยียวยาผลกระทบ

ลูกบ้าน 'แอชตัน อโศก' มืดแปดด้าน! วอน 'รัฐ-อนันดาฯ-แบงก์' เยียวยาผลกระทบ

คลำหาทางออกไม่เจอ “ลูกบ้านแอชตันอโศกที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองกลาง” ไลฟ์เฟซบุ๊ก ร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ หวั่นโดนลอยแพ ความมั่นคงที่อยู่อาศัย รีไฟแนนซ์คอนโดไม่ได้ ต่างชาติฝันสลาย เบรกซื้อโปรเจคอื่น กระเทือนเชื่อมั่นอสังหาฯ

“โครงการแอชตัน อโศก” ของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ยังคงเดินหน้าหา “ทางออก” ให้กับผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง หลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดําที่ ส. 53/2559 คดีหมายเลขแดงที่ ส. 19/2564 ให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย อาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคารโดยไม่ยื่นคําขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ และมาตรา 39 ตรี แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของอนันดาฯ โดยให้มีผลย้อนหลัง

ทั้งนี้ ผู้ได้รับผลกระทบเริ่มจาก อนันดาฯ ที่ร้อนถึงผู้บริหาร “ชานนท์  เรืองกฤตยา” ซีอีโอพร้อมทีมฝ่ายกฎหมายต้องแจงด้วยสีหน้าเคร่งเครียดเพื่อให้สื่อรับทราบ พร้อมให้ความเชื่อมั่นแก่ลูกบ้านว่าจะไม่ทิ้งใครไม่ไว้ข้างหลัง ยืนยันเคียงข้างทุกคนก้าวข้ามวิกฤติใหญ่ไปให้ได้ จะไม่มีการ “หนี” อย่างแน่นอน 

ล่าสุด เป็นคิวของ “ตัวแทนลูกบ้าน” โครงการแอชตัน อโศกที่มีกว่า 1,000 ชีวิต จากกว่า 600 ครอบครัว ออกมาตั้งคำถามถึงมาตรการ “เยียวยา” รวมถึงวอนทุกภาคส่วนให้ช่วยเหลือจากกรณีที่เกิดขึ้นด้วย 

วันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนลูกบ้านโครงการแอชตัน อโศก 2 ราย ได้ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก ลูกบ้านแอชตันอโศกที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองกลาง เผยผลกระทบเกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าวมีหลายด้าน ได้แก่ การทำธุรกรรมทางการเงิน ที่ลูกบ้านกำลังยื่นขอ “รีไฟแนนซ์” กับธนาคาร ได้รับการ “ปฏิเสธ” ทันที เนื่องจากคอนโดถูกเพิกถอนใบอนุญาตย้อนหลัง  

162860343823

ด้านความมั่นคง เนื่องจากโครงการแอชตัน อโศกได้ถูกแช่แข็งหรือฟรีซไว้ ทำให้ไม่มีผู้ใดต้องการทำนิติกรรมด้วย เพราะมองเป็น “คอนโดมิเนียมเถื่อน” จะโอนให้ลูกหลานต่อยังไม่ได้ ขณะเดียวกันเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ต้องการจะขายห้องชุดเพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่องให้กับตัวเอง ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากทำนิติกรรมต่างๆได้ยาก 

นอกจากนี้ โครงการแอชตัน อโศก ยังมีลูกบ้านเป็นชาวต่างชาติ ผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นลูกบ้าน นักลงทุนต่างชาติต่อภาพลักษณ์อสังหาริมทรัพย์ของไทยโดยรวมด้วย  

จากปัญหาดังกล่าว ลูกบ้านโครงการแอชตัน อโศกค่อนข้าง “มืดแปดด้าน” ในการหาทางออก จึงหาที่ปรึกษาทางกฏหมายมาช่วยเหลือ ขณะเดียวกันเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางช่วยเหลือและหามาตรการ “เยียวยา” ผู้ที่ได้รับผลกระทบ

“ความกังวลตอนนี้คือลูกบ้านต้องผ่อนแบงก์ไปประมาณ 30 ปี ค่าส่วนกลางจะเพียงพอต่อการดำเนินการทางกฏหมายหรือไม่  เงินที่จ่ายจะสูญเปล่าไหม หากโครงการถูกทุบทิ้งจะทำอย่างร เราทำงานหนักเก็บเงินซื้อห้องชุดเพื่อเจอแบบนี้เหรอ นี่คือคำถามที่ไม่มีคำตอบ”   

อย่างไรก็ตาม ลูกบ้านแอชตัน อโศก ได้วิงวอนสื่อ สังคม รัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.อยากสอบถามว่าใครจะเป็นเยียวยายื่นมือช่วยลูกบ้านแอชตัน อโศกกว่า 1,000 ชีวิต ทั้งเรื่องที่พักอาศัย การรีไฟแนนซ์ และการต่อสู้คดีความในระยะยาว 3-5 ปี  

2.หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาต ทุบทิ้งโครงการแอชตัน อโศก ใครจะรับผิดชอบ หน่วยงานรัฐที่ออกใบอนุญาตหรืออนันดาฯ 

162860347059

ต่างชาติ 1 ในลูกบ้านโครงการแอชตัน อโศก

“จนถึงวันนั้น จะมีใครเยียวยาเราไหม บริษัทย่อยคืออนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จะปันผล ปิดบริษัทหนีไปแล้วหรือยัง จะมีการตั้งสำรองหนี้เผื่อพวกเราไหม เพราะที่ผ่านมบริษัทไม่มีการตั้งสำรองหนี้ไว้ หรือรัฐจะมาเยียวยา”

ด้าน อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย ได้ทำหนังสือถึง “นายผยง ศรีวณิช” ประธานสมาคมธนาคารไทย เพื่อขอความร่วมมือในการแก้ปัญหาอันเนื่้องมาจากผลกระทบคำตัดสินของศาลปกครอง ซึ่งมีผลกระทบในวงกว้างต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาคประชาชนและความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ สมาคมฯ ได้ติดตามเหตการ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และพบว่าการเพิกถอนใบอนุญาต โดยมีผลย้อนหลัง แม้โครงการจะผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจทุกภาคส่วนตามขั้นตอนแล้ว ทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) สำนักงานเขตวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักงานโยธา และกรุงเทพมหานคร จึงทำให้ได้รับใบอนุญาตครบถ้วนถูกต้อง แต่เมื่อเกิดดเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดข้อห่วงกังวลผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย โดยมีโครงการมีลักษณะการใช้ที่ดินของหน่วยงานของรัฐเป็นทางเข้าออกนับ “ร้อยโครงการ”

“เหตุการณ์ข้างต้นอาจกระทบความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม โดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจธนาคารสินเชื่อลูกค้ารรายย่อยยหรือหลักประกันการชำระหนี้ต่างๆ ทุกฝ่ายขาดความเชื่อถือต่อระบบการขออนุญาตจากทางราชการ และมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศและส่งผลกระทบต่อการลงทุน การจ้างงาน และเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก”