อุตสาหกรรมไทย: อยู่ตรงไหน  จะแข่งขันอย่างไรในเวทีโลก

การเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยเป็นสิ่งจำเป็นในบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งจากวิกฤติโควิด-19 กระแส Megatrends และการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น

การเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยเป็นสิ่งจำเป็นในบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งจากวิกฤติโควิด-19 กระแส Megatrends และการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น ดังนั้น การประเมินความสามารถและวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในอนาคต

เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว วิจัยกรุงศรีจึงได้สร้าง ”ดัชนีศักยภาพอุตสาหกรรม” จาก 4 ปัจจัย คือ ผลิตภาพแรงงาน สัดส่วนการส่งออก มูลค่าเพิ่มภายในอุตสาหกรรม และมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในประเทศ

โดยดัชนีที่สร้างขึ้นสะท้อนความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าและบริการที่ตรงความต้องการของตลาดโลก ในขณะเดียวกันยังสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมได้ ผลการศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในเชิงอุตสาหกรรมเป็นอันดับที่ 35 ของโลกจาก 64 ประเทศ โดยอุตสาหกรรมที่แข่งขันได้ดี ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตถ่านโค้กและผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม (อันดับ 9 ของโลก) อุตสาหกรรมยางและพลาสติก (9) อุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม (11) และกิจการให้บริการทางสุขภาพ (11) ในทางตรงกันข้ามยังมีอุตสาหกรรมที่ต้องการพัฒนาอย่างเร่งด่วน เช่น การศึกษา (60) ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร (61) และการก่อสร้าง (64) เป็นต้น

แต่เมื่อมองไปยังในรายละเอียดจะพบว่าอุตสาหกรรมของไทยไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้เท่าที่ควร แม้ว่าจะมีทรัพยากรและมีส่วนร่วมในตลาดโลกค่อนข้างมาก ทำให้การสะสมทุนและการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศทำได้ไม่ดี ซึ่งจะจำกัดการเติบโตของอุตสาหกรรมของไทยในอนาคต 

นอกจากนั้น การแข่งขันในอุตสาหกรรมต่างๆ มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งหมดนี้สร้างความท้าทายให้อุตสาหกรรมไทยในอนาคต เพื่อส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมได้ตรงจุด วิจัยกรุงศรีศึกษาปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมโดยรวม ซึ่งมีดังนี้ 1. ลักษณะห่วงโซ่การผลิต 2. เทคโนโลยี 3. โครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่ง 4. ความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ 5. ขนาดตลาด 6. เงินทุน และ 7.ความพร้อมด้านวัตถุดิบ

“โดย 3 ปัจจัยแรกมีความสำคัญต่อความสามารถของอุตสาหกรรมมากที่สุดที่ 30.7% 14.8% และ 14.2% ตามลำดับ”

เนื่องจากปัจจัยที่มีผลต่อศักยภาพของแต่ละอุตสาหกรรมแตกต่างกันไป กลยุทธ์การพัฒนาของแต่ละอุตสาหกรรมจึงมีแนวทางที่ต่างกันไปด้วย ตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมนันทนาการ ศักยภาพของอุตสาหกรรมขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่งเป็นหลัก ดังนั้น การพัฒนาการขนส่งทั้งทางอากาศและทางรางจะช่วยให้อุตสาหกรรมนันทนาการของไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น ในขณะที่อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์อาจต้องการเปลี่ยนตำแหน่งของอุตสาหกรรมในห่วงโซ่การผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรม โดยสรุปวิจัย

กรุงศรีมองว่าการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมสามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ

การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ ตัวอย่างเช่น การเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน การผ่อนคลายกฎระเบียบ การจับคู่กับประเทศอื่น เช่น การเปลี่ยนแปลงลักษณะห่วงโซ่การผลิต การหาตลาดใหม่ และการรับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งเหมาะกับอุตสาหกรรมที่มีความสามารถไม่สูงนัก และ/หรือเป็นอุตสาหกรรมต้องการปรับเปลี่ยนบทบาทในห่วงโซ่มูลค่า เสาะหาเทคโนโลยีใหม่ หรือหาตลาดใหม่ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ธุรกิจการศึกษา เป็นต้น และที่สำคัญคือความต่อเนื่องในการพัฒนาและแนวนโยบายที่สอดรับกันระหว่างองค์กรต่างๆ จะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมไทยยังแข่งขันได้ภายใต้ห่วงโซ่มูลค่าโลกที่มีมาตรฐานสูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ดีในระยะยาวและหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางในที่สุด