เปิดเงื่อนไขรับเงินเยียวยา 9 กลุ่มอาชีพ - ร้านค้ารายย่อย 'ถุงเงิน'

เปิดเงื่อนไขรับเงินเยียวยา 9 กลุ่มอาชีพ - ร้านค้ารายย่อย 'ถุงเงิน'

ครม.ทุ่ม 4.2 หมื่นล้านบาท เยียวยาล็อกดาวน์ จัด 3 หมื่นล้าน จ่ายแรงงาน ในระบบประกันสังคมรับสูงสุด 1 หมื่นบาท นอกระบบรับ 5 พันบาท พ่วงเงื่อนไขนายจ้าง-ลูกจ้างเข้าระบบ

คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 ก.ค.2564 อนุมัติการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ 10 จังหวัด ที่ประกาศล็อคดาวน์ คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลาและสงขลา 

การเยียวยาครั้งนี้ใช้ วงเงิน 42,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสำหรับลูกจ้างและกิจการใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม วงเงิน 30,000 ล้านบาท 2.มาตรการลดค่าครองชีพ โดยการลดค่าน้ำและค่าไฟฟ้า 2 เดือน วงเงิน 12,000 ล้านบาท

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า วงเงินในส่วนนี้จะใช้กรอบวงเงินจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 (เพิ่มเติม) พ.ศ.2564 ที่มีวงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยได้รวมวงเงินของประกันสังคมไว้หากเข้าตามเงื่อนไขของประกันสังคมก็จะใช้เงินจากระบบประกันสังคม

ส่วนที่เป็นเงินจ่ายช่วยเหลือพิเศษให้กับแรงงานและนายจ้างที่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคมจะจ่ายเงินจากเงินกู้นั้นจะใช้จ่ายตามจริงโดยอาจไม่เต็มเพดานที่ขอไว้ 3 หมื่นล้านบาทก็ได้ โดยมาตรการครั้งนี้ได้รวมวงเงินในครั้งก่อนที่เสนอขอครม.ด้วยเนื่องจากมีการเพิ่มวงเงินในบางรายการ และเพิ่มกลุ่มอาชีพที่ได้รับความช่วยเหลือตามประเภทกิจการ 

สำหรับขอบเขตของการเยียวยาได้เพิ่มการเยียวยาจาก 4 กลุ่มกิจการอีก 5 กลุ่มกิจการ รวมเป็น 9 หมวดกิจการ คือ 

1.ก่อสร้าง

2.ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร

3.ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ

4.กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ 

5.สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 

6.สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ 

7.สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 

8.สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมวิชาการ 

9.สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร

ขณะที่ในส่วนของการเยียวยาผู้ประกอบการได้มีการเพิ่มกิจการของถุงเงิน โดยเพิ่มเติมจากเฉพาะร้านอาหารและเครื่องดื่มโดยให้รวมร้านโอทอป ร้านค้าทั่วไป ร้านค้าบริการ กิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่) โดยมาตรการที่ออกมาเป็นการให้ความช่วยเหลือ 1 เดือน และอาจขยายต่อตามสถานการณ์

162618163521

ทั้งนี้ในส่วนของการเยียวยาจะแบ่งเป็น แรงงานในระบบประกันสังคมและนอกระบบประกันสังคม โดยระบบประกันสังคมแบ่งเป็น

1.กลุ่มแรงงานตาม ม.33 ในกิจการ 9 หมวด รัฐจะจ่ายเงินเยียวยาให้ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) และจ่ายสมทบให้ลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน รวมแล้วได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท 

2.ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง ตามหลักการให้ความช่วยเหลือจะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน

3.ผู้ประกันตนตาม ม.39 และ ม.40 สัญชาติไทย ที่ยังคงประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบันจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน

สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตน ม.33 ม.39 และ ม.40 สัญชาติไทย ที่ยังประกอบอาชีพในปัจจุบันให้เตรียมหลักฐานเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ม.40 กับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือน ก.ค.2564 เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือ 5,000 บาท รวม 1 เดือน

เกณฑ์นายจ้างเข้าประกันสังคม

ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการหรือนายจ้างตามหลักการให้ความช่วยเหลือที่มีลูกจ้างแต่ปัจจุบันไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ดำเนินการ ดังนี้

กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียน นายจ้างในระบบประกันสังคม พร้อมทั้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน ม.33 ในระบบประกันสังคมกับสำนักงานประกันสังคม ภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อให้ได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,500 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน

 “ลูกจ้างกลุ่มดังกล่าวจะยังมีคุณสมบัติไม่ครบตามเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือจากระบบประกันสังคม ทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากระบบประกันสังคม”

สำหรับกรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้างแต่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ให้เตรียมหลักฐานสำหรับการลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในระบบประกันสังคมกับสำนักงานประกันสังคม ภายในเดือน ก.ค.2564 เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน

เยียวยารายย่อย“ถุงเงิน”

ในกรณีที่เป็นผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะในปัจจุบันที่ผ่านการตรวจสอบคัดกรองแล้วและไม่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์จากกระทรวงการคลัง จะขยายการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน”จากเดิมที่กำหนดให้ความช่วยเหลือเฉพาะผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม เป็น 5 กลุ่ม

รวมถึงร้าน OTOP ร้านค้าทั่วไป ร้านค้าบริการ และกิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่) โดยให้ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน”ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมเนื่องจากไม่มีลูกจ้าง ให้ดำเนินการลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ม.40 เพื่อให้รับความช่วยเหลืออัตรา 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน 

สำหรับผู้ประกอบการระบบ “ถุงเงิน” ที่มีลูกจ้างแต่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ขึ้นทะเบียนนายจ้างในระบบประกันสังคมพร้อมทั้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในระบบประกันสังคม ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือตามหลักการเดียวกันกับแรงงานและนายจ้างที่เพิ่งลงทะเบียนเข้าสู่ระบบประกันสังคม