“อัยการ”เร่งตรวจสัญญา แหลมฉบังลงนาม ก.ค.

“อัยการ”เร่งตรวจสัญญา  แหลมฉบังลงนาม ก.ค.

การประมูลพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ใช้เวลาประมูลมากว่า 2 ปี หลังจาก การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดยื่นซองครั้งแรกวันที่ 14 ม.ค.2562

การประมูลพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ใช้เวลาประมูลมากว่า 2 ปี หลังจาก การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดยื่นซองครั้งแรกวันที่ 14 ม.ค.2562 แต่ยกเลิกประมูลเมื่อบริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเพราะไม่ยื่นหลักประกันซอง จากนั้นมีการแก้ไขเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) และเปิดให้ยื่นใหม่วันที่ 29 มี.ค.2562 มีผู้ยื่นซอง 2 ราย คือ

1.กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (กลุ่ม ปตท.) ,บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

2.กลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ประกอบด้วย บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด ,บริษัท นทลิน จำกัด ,บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) และบริษัทพีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง จำกัด

ทั้งนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ถูกตัดสิทธิการประมูล และทำให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เข้าสู่ขั้นตอนการเจรจากับรัฐ และคณะรัฐมนตรี (ครม.)​ วันที่ 7 เม.ย.2564 อนุมัติผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำที่ภาครัฐจะได้รับเท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปร​ อยู่ที่ 100 บาทต่อทีอียู​ ซึ่งต่ำกว่ามติ ครม.วันที่​ 30​ ต.ค.2561 ที่กำหนดมูลค่าปัจจุบันสุทธิ 32,225 ล้านบาท หรือต่ำกว่าผลตอบแทนที่รัฐคาดหมายไว้ 3,175 ล้านบาท

162497050468

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยในการเสวนาหัวข้อ “EEC ตอบโจทย์ยกระดับประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนาจริงหรือ?” ผ่านแอพพลิเคชัน Clubhouse จัดโดยวิทยุ จส.100 ว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 คืบหน้าไปมากหลังจากที่ ครม.อนุมัติผลารเจรจากับเอกชน 

ทั้งนี้ ล่าสุดวันที่ 28 มิ.ย.2564 ได้ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบร่างสัญญา และคาดว่าจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในเดือน ก.ค.2564 ซึ่งจะทำให้โครงการนี้เป็นตัวเชื่อมโยงไปเส้นทางขนส่งไป CLMV ได้ทั้งหมด รวมทั้งยังมีแผนการทำท่าเรือบกเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งไปถึงจีนตอนใต้ ซึ่งจะทำให้ CLMV บวกกับจีนตอนใต้เชื่อมโยงถึงกันกลายเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก จุดนี้จะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

“ขณะนี้สัญญาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ตกลงไปแล้วและตัวเลขผลตอบแทนก็ได้ผ่านการพิจารณาของ ครม.แล้วทุกอย่างโอเค ทางอัยการตรวจสอบสัญญาอยู่จะใช้เวลา 15-30 วัน แค่คาดว่าจะเร็วกว่า 30 วัน จากนั้นจะนำเข้าที่ประชุม กพอ. จากนั้นนำเข้าที่ประชุม ครม. และทำสัญญาได้ทันทีในเดือนก.ค.นี้”

สำหรับภาพรวมการลงทุนอีอีซี 3 ปีที่ผ่านมา ลงทุนไปแล้ว 1.6 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.77 ล้านล้านบาท และลงทุนภาคอุตสาหกรรมผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปแล้ว 8 แสนล้านบาท ใช้พื้นที่นิคมอุตาหกรรมไป 15,000 ไร่ ซึ่งในอีอีซี ลงทุนเฉลี่ย 3 แสนล้านบาทต่อปี จากเดิมที่จะลงทุนราว 1 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งจะยกระดับจีดีพีโต 5% ต่อปี จากเดิม 3% ต่อปี เพิ่มรายได้ประชาชาติเพิ่มจากก่อนโควิด 8.5 พันดอลลาร์ต่อปี เป็น 1.1 หมื่นดอลลาร์ต่อปีภายใน 5 ปี และภายใน 7 ปี จะเพิ่มรายได้ประชาชาติต่อคนเป็น 1.3 หมื่นดอลลาร์ต่อคนต่อปี ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

ในช่วงโควิดส่งผลให้การลงทุนลดลง 30% แต่ก็ไม่ทำให้การลงทุนตามแผนมูลค่า 1.77 ล้านล้านบาทสะดุดลงแม้ว่าโควิดอาจส่งผลให้การลงทุนช้าจากแผนอีก 6 เดือน โดยหลังจากนี้ สกพอ.จะเร่งทำงานมากขึ้น เพื่อเพิ่มเม็ดเงินลงทุนจากปีละ 3 แสนล้านบาท ให้ไปถึงปีละ 6 แสนล้านบาท เพื่อให้ถึงเป้าหมายการยกระดับไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว หรือประเทศที่มีรายได้สูงภายใน 7 ปี นับจากนี้

ส่วนประเด็นที่ สกพอ.ต้องเร่งดำเนินการ 4 เรื่อง ได้แก่1.การเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 5 จีและการสร้างเมืองใหม่ที่เป็นสมาร์ทซิตี้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งที่ผ่านมาได้นำร่องระบบ 5 จี ที่เมืองบ้านฉาง จ.ระยอง แล้วและจะเป็นโมเดลขยายไปในพื้นที่อื่น

2.การลงทุนพลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่ขณะนี้มีต้นทุนการผลิตใกล้เคียงกับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพื้นฐานอื่น รวมทั้งการลงทุนเอนเนอร์ยี่สตอเรจ เพื่อกักเก็บกระแสไฟฟ้า ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายจะใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในพื้นที่อีอีซีไม่ต่ำกว่า 30% รวมทั้งการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

3.การลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์เพื่อยกระดับอีอีซีไปสู่การเป็นเมดิคัลฮับในอนาคตซึ่งเป็นการต่อยอดจากจุดเด่นด้านการแพทย์ไทย ที่ทั่วโลกยอมรับและสนใจมาลงทุนในอีอีซี ซึ่งล่าสุดมีบริษัทผลิตยาและวัคซีนป้องกันโควิด 2 ราย มาเจรจาลงทุนในอีอีซี

4.การลงทุนในอุตสาหกรรม BCG(อุตสาหกรรมชีวภาพ , อุตสาหกรรมหมุนเวียนและอุตสาหกรรมสีเขียว) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญของประเทศ และทั่วโลกต่างพัฒนาไปสู่แนวทางนี้ โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพ สมุนไพร ยา เครื่องสำอาง รีไซเคิล การบำบัดน้ำเสีย

นอกจากนี้ รัฐบาลควรจะขยายโมเดลการพัฒนาอีอีซีไปสู่การพัฒนาในพื้นที่อื่นทั่วประเทศเช่น เขตเศรษฐกิตพิเศษภาคใต้ หรือ เอสอีซี ที่จะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปสู่ทะเลฝั่งอันดามันที่จังหวัดระนอง ซึ่งจะช่วยเปิดเส้นทางการขนส่งจากอีอีซีไปสู่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของประเทศ ทำรถไฟเชื่อมอีอีซีและกรุงเทพ จะประหยัดค่าขนส่งได้ 30% เมื่อเทียบผ่านช่องแคบมะละกา รวมถึงการพัฒนาเขตพื้นที่ภูเก็ต กระบี พังงา สตูล ทำให้เป็นพื้นที่เดียวกันเหมือนอีอีซีก็จะช่วยให้เติบโตได้หลังโควิดได้

การตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียเหนือโดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงจะเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมชีวภาพและการเกษตรรองรับเส้นทางรถไฟจีนจากเมืองคุนหมิง มากรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ที่ห่างชายแดนไทย 2 กิโลเมตร จะเปิดตลาดจีนได้มาก หากไม่เร่งทำจะถูกนักลงทุนจีนแย่งลงทุน

“คาดว่าการมุ่งสนับสนุนการลงทุน 4 กลุ่ม รวมทั้งการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเพิ่มเม็ดเงินการลงทุนมากกว่า 3 แสนล้านบาท ถึง 4-5 แสนล้านบาทต่อปีได้ จะทำให้ไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงตามเป้าหมาย”