“จี7” ลุยปฏิรูปภาษี บีบไทยปรับแผนดึงดูดการลงทุน

“จี7” ลุยปฏิรูปภาษี บีบไทยปรับแผนดึงดูดการลงทุน

กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) ได้แก่ สหรัฐ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา อิตาลี ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงด้านภาษีครั้งประวัติศาสตร์ในการทำให้บริษัทข้ามชาติต้องเสียภาษีมากขึ้น รวมทั้งการกำหนดเพดานอัตราภาษี

บริษัทนิติบุคคลในแต่ละประเทศเพื่อไม่ให้เกิด ความเหลื่อมล้ำ

นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การปฏิรูปภาษีของกลุ่ม G7 ที่หารือต้นเดือน มิ.ย.2564 มีนัยสำคัญ 2 ประเด็น 1.การตั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำไว้ที่ 15% เพื่อไม่ให้ตั้งภาษีในอัตราที่ต่ำเกินไปเพื่อแข่งขันดึงการลงทุนในประเทศต่างๆ 

2.การปรับหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจะเปลี่ยนจากเดิมที่คิดภาษีจากประเทศต้นทางที่ตั้งบริษัท โดยเพิ่มการเก็บภาษีที่ประเทศปลายทางของสินค้าและบริการ เช่น สินค้าที่ผลิตในไทยและส่งไปอังกฤษจะต้องเสียภาษีที่อังกฤษด้วย

“มาตรการใหม่กระทบประเทศ Tax haven ที่ภาษีต่ำมาก เช่น หมู่เกาะเคย์แมน ซึ่งมีบริษัทหลายประเทศรวมทั้งไทยไปใช้ช่องทางนี้ก็จะได้รับผลกระทบ” 

ส่วนบริษัทข้ามชาติที่ตั้งโรงงานผลิตส่งออกจากไทยจะเสียภาษีบางส่วนในต่างประเทศ ซึ่งธุรกิจไม่น้อยมาลงทุนและได้รับส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี แต่มาตรการภาษีใหม่ต้องเสียภาษีประเทศปลายทางสินค้ามากขึ้น รวมถึงธุรกิจส่งออกของไทยต้องเสียภาษีในต่างประเทศมากขึ้น

162472678135

ทั้งนี้ มาตรการภาษีของ G7 กระทบแผนส่งเสริมการลงทุนของไทย เพราะต้องจ่ายภาษีเพิ่มในประเทศปลายทางสินค้าและบริการจึงทำให้แรงจูงใจจากมาตรการภาษีที่เป็นมาตรการหลักของบีโอไอลดลง ดังนั้นไทยต้องเน้นมาตรการอื่น ได้แก่ สิทธิการเช่าที่ดินนานขึ้น สิทธิการจ้า่งผู้เชี่ยวชาญ ต้องการแรงงานมีฝีมือ

รวมทั้งต้องเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนนอกเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับโครงการการลงทุนที่จะเชื่อมรถไฟความเร็วรถไฟสูงจีน-ลาว เพราะการก่อสร้างลงมาจากคุนหมิงถึงเวียงจันทน์แล้ว และถ้าเร่งลงทุนให้สินคัาไทยส่งไปขายที่จี่นได้จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มาก

สมชาย หาญหิรัญ รองประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การปฏิรูปภาษีของ G7 เป็นก้าวแรกที่กีดกันการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อดึงการลงทุนจากบริษัทชั้นนำของตะวันตกและประเทศพัฒนาแล้วกลับประเทศตัวเอง เพื่อสร้างงานเพิ่มรายได้เพิ่มการเก็บภาษีเข้าประเทศตัวเอง โดยการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำ 15% เป็นเพียงจุดเริ่มต้นจากนั้นจะออกกฎระเบียบอื่นอีกมาก และเป็นก้าวแรกในการกีดกันจีนบนเวทีเศรษฐกิจโลกผ่านกติกาให้ประเทศอื่นทำตาม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทของ G7 ลงทุนในประเทศที่ใช้มาตรการภาษีต่ำดึงดูดการลงทุน เช่น อาเซียน ซึ่งเป็นการเลี่ยงภาษีทางอ้อมทำให้ G7 กำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำ 15% เพื่อควบคุมการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ และเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์กับประเทศตัวเองมากสุด

สำหรับก้าวต่อไปคาดว่าจะขยายแนวทางนี้ไปประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ รวมทั้งกำหนดมาตรการตามมาอีกมาก และบีบให้ประเทศกำลังพัฒนาเปลี่ยนกฎกติกาด้านภาษีผ่านทางข้อตกลงเขตการค้าเสรี ซึ่งทำให้ประเทศที่ต้องการค้าขายกับประเทศพัฒนาแล้วต้องเปลี่ยนกติกาตาม และทำให้ไทยกับประเทศกำลังพัฒนาใช้มาตรการภาษีดึงการลงทุนได้ยากขึ้น

ดังนั้นไทยต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะการดึงดูดการลงทุนในอีอีซีจากเดิมเน้นสิทธิประโยชน์ภาษีมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานและอีโคซิสเต็ม ที่เหมาะกับการทำธุรกิจสมัยใหม่ให้เหมือนซิลิคอนวัลเลย์ การผลิตบุคลากรคุณภาพสูงในทักษะเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาอีอีซีเดินมาทางนี้อยู่แล้วแต่ควรเร่งมากขึ้น

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า การแข่งขัดลดภาษีเพื่อดึงการลงทุนจะลดลง โดยจะเน้นโครงสร้างพื้นฐานและการอำนวยความสะดวกมากขึ้น ซึ่งดีต่อประเทศที่ได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐาน และมีซัพพลายเชนรองรับ ซึ่งไทยได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไปมากโดยเฉพาะอีอีซี เช่น รถไฟความเร็วสูง โครงสร้างพื้นฐาน 5G การผลิตบุคลากรทักษะใหม่

ทั้งนี้ บีโอไอจะติดตามรายละเอียดใกล้ชิด โดยอัตราภาษีนิติบุคคลของไทยอยู่ระดับ 20% สูงกว่าที่กำหนด แต่อัตราภาษีส่งเสริมการลงทุนของไทยให้สิทธิ์ยกเว้นภาษี 0% ได้ถึง 8 ปี รวมทั้งต้องติดตามการประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ (G20) และการประชุมองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ว่าจะผลักดันมาตรการนี้หรือไม่จะทำให้เห็นถึงแนวทางชัดเจนขึ้น

“นอกจากอัตราภาษีขั้นต่ำ 15% แล้ว ยังมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งทำให้ประเทศกำลังพัฒนาลดการแข่งขันด้านภาษี และใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยไทยเตรียมด้านนี้นาน และบีโอไอจะติดตามข้อมูลศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทย เพื่อปรับมาตรการของประเทศรองรับได้ทัน”

นอกจากนี้ ทั่วโลกมีระดับการพัฒนาและนโยบายภายในประเทศที่ต่างกันปัจจัยความพร้อมแต่ละประเทศต่างกัน ดังนั้นการให้ทุกประเทศมาอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกันเป็นเรื่องยาก โดยประเทศเล็กจะเสียเปรียบมากจากการใช้ภาษีดึงการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศไม่ได้ ทำให้แข่งขันกับประเทศขนาดใหญ่ยากขึ้น

ทั้งนี้ หากทุกประเทศลดการแข่งขันด้านภาษีจะทำให้ไทยได้เปรียบประเทศกำลังพัฒนาอื่นมากขึ้น เพราะโครงสร้างพื้นฐานและอีโคซินเต็มของไทยได้เปรียบ และไทยต้องเร่งแก้กฎระเบียบธุรกิจที่เป็นอุปสรรค การร่วมมือกับเอกชนสร้างบุคลากรทักษะสูง สิ่งเหล่านี้จะทำให้ไทยมีเสน่ห์ด้านการลงทุนเพิ่มขึ้น