ชง ศบศ.ใช้เงินกู้ 5 แสนล้าน 'พยุงจ้างงาน' เอกชนหนุนรัฐร่วมจ่ายค่าจ้าง 50%

ชง ศบศ.ใช้เงินกู้ 5 แสนล้าน 'พยุงจ้างงาน' เอกชนหนุนรัฐร่วมจ่ายค่าจ้าง 50%

ศบศ.เตรียมเคาะมาตรการพยุงการจ้างงาน ช่วยผู้ประกอบการระดับกลาง ใช้เงินจาก พ.ร.ก. 5 แสนล้านบาท สศช.เล็งวาง 3 เงื่อนไข จำนวนเงิน ระยะเวลาช่วย “หอการค้า”หนุนรัฐใช้เงินกู้ร่วมจ่ายค่าจ้าง 50%

พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 500,000 ล้านบาท ที่มีผลใช้บังคับแล้วส่วนหนึ่งมีแผนใช้เพื่อการฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 โดยส่วนหนึ่งจะช่วยเหลือผู้ประกอบการรยกลางและการรักษาการจ้างงาน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมศูนย์บริหารเศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) วันนี้ (4 มิ.ย.) จะพิจารณามาตรการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบ ซึ่งเป็นมาตรการที่ต้องทำอย่างรวดเร็วหลังจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการระบาดจากโควิดในระลอกล่าสุด และมีผู้ประกอบการที่รอความช่วยเหลือของมาตรการนี้จำนวนมาก 

"ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในซัพพลายเชน โดยไปหารือสถาบันการเงินให้ช่วยให้สินเชื่อซึ่งก็เป็นทิศทางที่ดี แต่มาตรการภาครัฐที่จะออกมาเพิ่มในการช่วยเหลือพยุงการจ้างงานจะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวกับ 'กรุงเทพธุรกิจ' ว่า รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม โดยใช้เงินจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เงินกู้ส่วนหนึ่งจะนำมาใช้ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบซึ่งอาจจะเป็นผู้ประกอบการระดับกลาง ซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่ค่อยได้รับประโยชน์จากมาตรการของภาครัฐ ขณะที่การเข้าถึงสินเชื่อทำได้ยากซึ่งในกลุ่มนี้ต้องได้รับมาตรการในการช่วยเหลือที่แตกต่างไปจากเดิม 

นอกจากนี้ สศช.ได้มีการหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้ข้อสรุปในแนวทางร่วมกันว่ามาตรการที่จะออกมาจะเป็นลักษณะของการช่วยอุดหนุนค่าจ้างแรงงานหรือการช่วยจ่ายเงินเดือน ซึ่งขณะนี้กำลังดูว่าจะช่วยเหลือในสัดส่วนเท่าไหร่ของเงินเดือนและจ่ายในระยะเวลาเท่าไหร่ โดยการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มนี้มีหลักการที่สำคัญ 3 ข้อ คือ 

1.เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างถูกต้องและยังคงประกอบกิจการอยู่ 

2.เป็นกิจการและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คือ ไม่ได้มีปัญหามาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการระบาด 

3.เป็นกิจการหรือธุรกิจที่เมื่อได้รับความช่วยเหลือแล้วจะสามารถปรับตัวให้อยู่รอดและไปต่อได้หลังจากที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายลง 

“การช่วยเหลือในลักษณะนี้จะเป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจะจงโดยช่วยจ่ายค่าจ้างหรือเงินเดือน เพื่อช่วยรักษาและพยุงการจ้างงานในสถานประกอบการต่างๆ อาจเป็นการช่วยในระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือ 9 เดือน" นายดนุชา กล่าว

รวมทั้งขณะนี้กำลังหารือกับภาคเอกชนและสถาบันการเงินที่มีข้อมูลของผู้ประกอบการ เพื่อกำหนดผู้ประกอบการที่จะได้รับการช่วยเหลือได้เจาะจงและถูกต้อง ซึ่งมาตรการนี้ต้องออกมาโดยเร็วเพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบมากจึงต้องเร่งช่วยเหลือเพื่อช่วยเติมออกซิเจนให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วงเงินที่รัฐบาลจะกู้ 500,000 ล้านบาท ได้กำหนดแผนการใช้ที่ชัดเจน 3 ส่วน โดยแผนงานที่ 2 โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาหรือชดเชยให้แก่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 300,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ช่วยผู้ประกอบอาชีพและผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง

เอกชนเห็นว่าวงเงินส่วนนี้รัฐบาลจะต้องเร่งออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในลักษณะโครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน ซึ่งที่ผ่านมาเห็นว่าเงินที่กู้เดิมที่ค้างท่ออยู่ก่อนหน้านี้และรัฐบาลมีแผนที่นำมากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการเหล่านี้ โดยโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ที่จะเริ่มเดือน ก.ค.2564 ควรนำมาใช้ทันที และควรเพิ่มเงินที่อุดหนุนจากคนละ 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท เชื่อว่าจะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และเกิดการหมุนเวียนของเงินเข้าระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

ส่วนแผนงานที่ 3 วงเงิน 170,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงานหรือโครงการ เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุนและการบริโภค รัฐบาลจะต้องเร่งหางานทำให้กับบัณทิตที่จบใหม่ โดยต้องเร่งหางานหรือโครงการเพื่อนำแรงงานเหล่านี้มาทำงาน เช่น การสร้างงานในท้องถิ่น โครงการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อให้บัณฑิตจบใหม่ได้ทำงานส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ 

นอกจากนี้แรงานที่อยู่โรงงานหรือสถานประกอบการที่กำลังขาดแรงงาน เพราะแรงงานต่างด้าวกลับประเทศจำนวนมากจากการระบาด ซึ่งไม่รู้ว่าจะกลับได้เมื่อไรและกลับมาจำนวนเท่าไร รวมทั้งจะพอความต้องการหรือไม่ ซึ่งควรนำเงินกู้ส่วนนี้มาจ้างคนไทยกลับมาทำงาน โดยภาครัฐช่วยผู้ประกอบการจ่ายค่าจ้าง 50% ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นกรณีพิเศษที่ขาดแรงงานจะช่วยผู้ประกอบการได้มาก เพราะภาคการผลิตกำลังฟื้นจากการส่งออกที่ขยายตัวจึงต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น