สศค.ชี้หลังวิกฤตโควิดความเหลื่อมล้ำพุ่ง

สศค.ชี้หลังวิกฤตโควิดความเหลื่อมล้ำพุ่ง

สศค.ประเมินภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 จะทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศสูงขึ้น โดย 15 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบหนักจะเป็นกลุ่มจังหวัดที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจาก เครื่องยนต์หลักมาจากการท่องเที่ยว

นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ประเมินว่า ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 จะทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศสูงขึ้น โดยในแต่ละพื้นที่ของประเทศจะมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ ก่อนการเกิดการระบาดของโควิด-19 ก็มีความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ของประเทศอยู่แล้ว โดยพิจารณาจากจังหวัดที่ผลิตจีดีพีให้กับประเทศ พบว่า 15 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย กรุงเทพ และอีก 5 จังหวัดปริมณฑล บวกด้วย 3จังหวัดในเขต EEC คือ จังหวัดชลบุรี,ระยอง,ฉะเชิงเทรา และอีก 6จังหวัดขนาดใหญ่ คือ ภูเก็ต สงขลา ,สุราษฎฺร์ธานี,เชียงใหม่,นครราชสีมา และขอนแก่น ผลิตจีดีพีให้ประเทศคิดเป็นสัดส่วน 70% ,ขณะที่ 62 จังหวัดที่เหลือ ผลิตจีดีพีให้กับประเทศเพียง 30%

ทั้งนี้ เครื่องยนต์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ 15 จังหวัด มาจากภาคท่องเที่ยว 88% ,การค้าขาย 77% ,อุตสาหกรรม 72% , และภาคการเกษตร22% ขณะที่ 62 จังหวัดที่เหลือนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากภาคท่องเที่ยวเพียง 12% ,การค้าขาย 23% ,อุตสาหกรรม 28% และภาคการเกษตร 78%

เขาคาดว่า หลังสถานการณ์โควิด-19ผ่านพ้นไป เชื่อว่า จะทำให้ 15 จังหวัดชั้นนำทางเศรษฐกิจของประเทศ จะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อ 15 จังหวัดชั้นนำทางเศรษฐกิจ มากกว่า 62 จังหวัดที่เหลือ เนื่องจาก เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของ 15 จังหวัดชั้นนำทางเศรษฐกิจ มาจากภาคการท่องเที่ยวมากถึง 88% ซึ่งภาคท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่หากสถานการณ์คลี่คลาย และประเทศเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ จะทำให้กลุ่มจังหวัดชั้นนำดังกล่าว ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ยังคาดหวังว่า ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวจะไม่ถ่างกันมากจนเกินไป หากภาคการเกษตรที่ถือเป็นรายได้หลักของ 62 จังหวัดดังกล่าว สามารถปรับตัวเองเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นจากมาตรการความช่วยเหลือทางการเงินของรัฐบาลที่ทุ่มลงไปในภาคการเกษตรในช่วงโควิด-19นี้ บวกกับการคนโดยเฉพาะจากกรุงเทพ ที่หลั่งไหลกลับบ้านเกิดในต่างจังหวัดมากขึ้น คนเหล่านั้นบางส่วนจะกลายเป็นแรงงานในภาคการเกษตรที่จะไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคการเกษตรให้สูงขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2563 ซึ่งปีแรกที่เกิดการระบาดของโควิดในประเทศไทย พบว่า มีแรงงานย้ายถิ่นฐาน 1.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 59 % จากปี 2562 โดยเฉพาะแรงงานจากกรุงเทพ ที่เป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19มากที่สุด มีการย้ายถิ่นกลับไปภาคอีสานมากถึงกว่า 6แสนคน และย้ายถิ่นกลับไปในภาคกลาง 3.46 แสนคน เป็นต้น