ธุรกิจปิโตรเคมี-โรงกลั่นฯ ปี64 ฟื้น ดีมานด์-ราคาน้ำมัน หนุน

ธุรกิจปิโตรเคมี-โรงกลั่นฯ ปี64 ฟื้น ดีมานด์-ราคาน้ำมัน หนุน

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงกลั่นในประเทศ ผลงานดีถ้วนหน้า โชว์กำไรไตรมาส 1 สดใส หลังราคาน้ำมันและความต้องการใช้หนุน ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 2 ยังมองแง่ดี แม้โควิด-19 ยังเสี่ยง ชี้การเร่งฉีดวัคซีนเป็นความหวังฟื้นเศรษฐกิจ

ภัยคุกคามของโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปยังประชากรหลายประเทศทั่วโลกในปี 2563 และราคาน้ำมันดิบในช่วงเดือนเม.ย.ปี 2563 ที่ลดลงต่ำกว่าระดับ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จนเป็นสถิติใหม่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา กลายเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจทั่วโลกและส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงกลั่นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ทำให้หลายบริษัทประสบปัญหาขาดทุนในปี 2563

ขณะที่ปี 2564 แม้ว่าภัยคุกคามจากโควิด-19 จะยังมีอยู่ แต่ความหวังจากการที่เริ่มมีการทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทย ที่รัฐบาลได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติที่จะเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไทย โดยตั้งเป้าหมายจะฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสให้ได้ 50 ล้านคน นับเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจ และหลายบริษัทคาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและการกลั่นจะฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อน ตามทิศทางเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ที่น่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังปีนี้

สำหรับการรายงานผลประกอบการของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงกลั่น ในประเทศไทยช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.) พบว่า หลายบริษัทค่อนข้างสดใส นำโดย 3 โรงกลั่นในเครือ ปตท. ได้แก่

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ไตรมาส 1 มีกำไรสุทธิ 3,360.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 126% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 13,754.49 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงาน ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 3,301.40 ล้านบาท ลดลง 153% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6,276.68 ล้านบาท

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) หรือ IRPC มีไตรมาส1 มีกำไรสุทธิ 5,581 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,973 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน ขณะที่ขาดทุนสุทธิ 6,152 ล้านบาทเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 1,174 ล้านบาท

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ไตรมาส 1 มีกำไรสุทธิ 9,694.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 210.36% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 8,784.11 ล้านบาท รักษาผลงานได้ดีจากปี 2563 ที่สามารถทำกำไรสุทธิอยู่ที่ 200 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 11,682 หลังธุรกิจ ปิโตรเคมีและปิโตรเลียมของบริษัทได้รับผลกระทบจากโควิด-19

162090207566

ขณะที่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ไตรมาส 1 มีกำไรสุทธิ 2,283.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 148.99% จากปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 4,660.77 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 6,967.07 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,731.57 ล้านบาท หรือลดลง 502%

และบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO ไตรมาส 1 มีกำไรสุทธิ 2,788.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 144% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 6,306.85 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 ขาดทุน 7,911.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 158%

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงกลั่น ยังมองทิศทางธุรกิจในไตรมาส 2 ของปีนี้ มีแนวโน้มเติบโตขึ้น แม้ว่าจะยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ TOP ระบุว่า ตลาดคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดจีดีพีโลกปีนี้จะเติบโตที่ 6% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนม.ค. ว่าจะเติบโตที่ 5.5% ส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันโลกในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มขยายตัว 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2564

ขณะที่ภาพรวมธุรกิจการกลั่นในช่วงไตรมาส2 ปีนี้  มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส1ปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่เริ่มฟื้นตัว หลังบางประเทศในเอเชียเริ่มผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดทางสังคม รวมทั้งประเทศในฝั่งยุโรปมีแผนจะคลายมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงต้นเดือนพ.ค. 2564 ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลฟื้นตัว

162090195774

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC ประเมินว่า แนวโน้มภาวะตลาดปิโตรเคมีในไตรมาส 2 ปีนี้ คาดว่าปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะยังคงอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา จากการที่ตลาดหลักอย่างประเทศจีนมีการผลิตและการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่โรงงานต่างๆ ในประเทศจีนได้กลับมาผลิตสินค้าอีกครั้ง ส่งผลให้แนวโน้มตลาดในภูมิภาคอาเซียนกลับมาเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตใหม่ที่อาจเพิ่มขึ้น รวมถึงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ทั่วโลกในปัจจุบันที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย เป็นปัจจัยที่ต้องจับตามอง แม้ว่าการแพร่ระบาดนั้นทำให้เกิดการปรับตัวเข้าสู่พฤติกรรมการบริโภคยุค New Normal ซึ่งเป็นผลดีต่อความต้องการผลิตภัณฑ์กลุ่มโอเลฟินส์ และกลุ่มสไตรีนิกส์

“การแพร่กระจายของวัคซีน รวมถึงนโยบายอัดฉีดเงินสนับสนุนทางเศรษฐกิจ และการออกมาตรการกระตุ้นและสนับสนุนภาคการผลิตจากภาครัฐ เป็นปัจจัยหลักที่มีความสำคัญต่อความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีด้วยเช่นกัน”

นายคงกระพัน  อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GC   มั่นใจ ไตรมาส ที่ 2 ปีนี้ ผลดำเนินการยังไปได้ดี เพราะมาร์จิ้นต่างๆยังไปได้ดี แม้ว่าทั่วโลกในหลายประเทศ ยังมีปัญหาการระบาดของโควิด-19

162090188687

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BCP มองว่าถึงแม้ว่าในช่วงต้นปี 2564 ธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวจากแรงหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกระจายวัคซีนในกลุ่มประเทศหลัก เห็นได้จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีประเด็นท้าทายหลายด้าน รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศไทยที่มีการคาดการณ์ว่าจะฟื้นตัว แต่จากการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงในช่วงต้นเดือนเมษายน และแพร่กระจายเร็วไปทั่วประเทศ ดังนั้น อาจทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบไปอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะในไตรมาส 2 และคาดว่าจะส่งผลกระทบเป็นเวลายาวนาน

แหล่งข่าวบริษัท เอสโซ่(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ระบุว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติที่จะเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไทย ก็อาจจะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่คาดว่าจะเริ่มเห็นฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังปีนี้ และน่าจะเป็นปัจจัยหนุนต่อการใช้น้ำมันให้กลับมาเติบโตสอดรับกับตัวเลข GDP ของประเทศ โดยหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงโดยเร็ว ก็คาดว่า ยอดขายน้ำมันของบริษัททั้งปีนี้จะเติบโตขึ้นจากปีก่อน