สศอ.เปิดผลแผนกระตุ้นศก. หนุนอุตไทยฟื้นสู้วิกฤตโควิด

สศอ.เปิดผลแผนกระตุ้นศก. หนุนอุตไทยฟื้นสู้วิกฤตโควิด

สศอ. เผย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐล่าสุด หนุน อุตฯอาหาร – เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ – พลาสติก ฟื้นตัว

นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 ที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือเยียวยา โดยแบ่งออกเป็น 2 มาตรการหลัก ดังนี้ 1. มาตรการด้านการคลัง เช่น โครงการคนละครึ่ง เฟส 3, โครงการเราชนะ, โครงการ ม.33 เรารักกัน และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น และ 2. มาตรการด้านการเงิน เช่น โครงการมาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 และโครงการมาตรการพักหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFls) โดยใช้วงเงินกู้จำนวน 2.45 แสนล้านบาท

                ทั้งนี้ จากมาตรการดังกล่าว  นอกจากช่วยเหลือภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจแล้ว ยังช่วยกระตุ้นตลาดในประเทศไม่ให้เกิดการชะงักในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มจะฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปีก่อน ซึ่งมาตรการดังกล่าวยังส่งผลดีต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมอาหาร เช่น อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป เนื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เนื้อไก่สุกปรุงรส กุ้งแช่เย็นและทูน่ากระป๋อง ซึ่งดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ขยายตัว 2.3% ทั้งนี้ สศอ.คาดการณ์ว่าในปี 2564 อุตสาหกรรมอาหารจะขยายตัว 2.3% เนื่องจากความต้องการสำรองอาหาร ประกอบกับมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

 

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า สายไฟฟ้า กระติกน้ำร้อน Printer PWB และ IC เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ขยายตัว 4.3% ทั้งนี้ สศอ.คาดการณ์ว่าในปี 2564 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะขยายตัว 5.5% เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้เวลาภายในที่พักอาศัยมากขึ้นจากการทำงานที่บ้าน (Work from Home)

 

อุตสาหกรรมพลาสติก เช่น พลาสติกแผ่น การผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ และท่อและข้อต่อ เป็นต้นดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ขยายตัว 10.9% ทั้งนี้ สศอ.คาดการณ์ว่าในปี 2564 อุตสาหกรรมพลาสติกจะขยายตัว 3% เนื่องจาก อุตสาหกรรมพลาสติกเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) ให้กับอุตสาหกรรมหลัก ๆ เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

 

“แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ จะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว แต่ภาครัฐได้มีการมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งภาครัฐยังมีมาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมพลาสติก ได้รับอานิสงส์ในเชิงบวก โดยอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ และคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง”