รัฐบาลยื้อกู้เงินเพิ่มรับโควิด เปิด“กระเป๋าตังค์ไทย”ยังไปไหว

รัฐบาลยื้อกู้เงินเพิ่มรับโควิด    เปิด“กระเป๋าตังค์ไทย”ยังไปไหว

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะนี้มีเสียงเรียกร้องการช่วยเหลือและเยียวยาจากประชาชนมากขึ้น ขณะที่เงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินวงเงิน 1 ล้านล้านบาทเหลือน้อยลงตามลำดับ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะนี้มีเสียงเรียกร้องการช่วยเหลือและเยียวยาจากประชาชนมากขึ้น ขณะที่เงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินวงเงิน 1 ล้านล้านบาทเหลือน้อยลงตามลำดับ แม้รัฐบาลจะยืนยันว่ามีเงินเพียงพอที่จะดูแลสถานการณ์ แต่ในอีกแง่หนึ่งเริ่ิมมีคำถามว่ารัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินเพิ่มเติมหรือไม่ 

เดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า วงเงินที่รัฐบาลจะจัดสรรลงไปดูแลเศรษฐกิจยังมีวงเงินเหลืออยู่พอสมควรซึ่งเมื่อประเมินแล้วผู้ติดเชื้อมีจำนวนที่ลดลงในกรอบระยะเวลาอันสั้นการควบคุมโรคระบาดทำได้ในระยะเวลาจำกัดไม่ยืดเยื้อไปนัก วงเงินที่เยียวยาประชาชนในกรอบที่เหลืออยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาทก็ยังเพียงพออยู่

ทั้งนี้ ความจำเป็นในการที่จะกู้เงินเพิ่มต้องดูสถานการณ์เป็นระยะๆ ซึ่งหน่วยงานเศรษฐกิจทั้ง 4 หน่วยงานสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีการหารือกันตลอด หากจะกู้เพิ่มก็ต้องมาคุยกันว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน รวมถึงคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้คืนในอนาคตของประเทศ เนื่องจากในขณะนี้ความสามารถในการชำระได้แต่ก็ต้องตั้งงบประมาณชำระคืนเงินกู้ทุกปี โดยในปี 2565 มีการตั้งงบประมาณใช้คืนเงินต้นไว้ที่ 2.5 แสนล้านบาท และตั้งคืนดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท รวมเป็นเงินมากถึง 3.5 แสนล้านบาทซึ่งการชำระหนี้ในจำนวนเงินดังกล่าวเป็นกรอบตามสัดส่วนวินัยการเงินการคลังที่ต้องใช้คืนเงินกู้

161978790686

อย่างไรก็ตาม หากประเมินสถานการณ์แล้วมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมก็สามารถที่จะดำเนินการได้โดยจะต้องมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และหน่วยงานเศรษฐกิจทั้ง 4 หน่วยงาน ก็จะให้ความเห็นประกอบถึงความจำเป็นที่จะต้องขยับเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่เดิมกำหนดไว้ในระดับ 60% ว่าสมควรขยับเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนเพื่อรองรับการกู้เงินเพิ่มเติมในกรณีที่รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการในเรื่องนี้

โดยในส่วนของเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศไทย ปัจจุบันยังถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติเพราะหากรวมการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ในขณะนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับประมาณ 58% ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศทั่วโลกที่ปรับไปก่อนหน้านี้ระดับเฉลี่ยอยู่ที่ 80 – 90% ของจีดีพีไปแล้ว โดยในส่วนของประเทศไทยหากมีความจำเป็นต้องกู้ก็ต้องขยับเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มเติม

“ความเห็นของสำนักงบประมาณคือต้องมีความชัดเจนว่าการกู้เงินจะกู้ไปใช้อะไร ไม่ใช่กู้มาแล้วคิดว่าจะใช้ ต้องมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ คือมีแผนที่ชัดเจนแล้วถึงจะกู้ และต้องประเมินการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ในรอบที่ผ่านมาก่อนด้วยซึ่งขั้นตอนการประเมินนั้นทำโดยหลายหน่วยงาน และมีคณะกรรมการและกรรมาธิการ ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ที่ทำงานในด้านนี้อยู่ด้วย รวมทั้งสำนักงบประมาณเองก็ตามอยู่ทั้งผลการเบิกจ่ายและการก่อหนี้ว่าทำได้ตามกำหนดเวลาหรือไม่”

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เงินกู้ตาม พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาทที่เหลืออยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นประมาณ 8 หมื่นล้านบาท และงบกลางสำหรับโควิด-19 ซึ่งยังเหลืออยู่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทเศษนั้นยังเพียงพอที่จะใช้ไปได้จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2564 ในเดือน ก.ย.ปีนี้ในกรณีที่ไม่มีการระบาดที่รุนแรงเพิ่มเติม 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สำนักงบประมาณได้ให้ความเห็นกับนายกรัฐมนตรีว่าในวงเงินที่เหลือประมาณ 8 หมื่นล้านบาทนั้นสามารถดึงมาใช้ในส่วนของการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน หรือใช้ในส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ประมาณ 4 – 5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ในส่วนที่เหลือมีความจำเป็นต้องกันไว้กรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนกรณีอื่นๆเช่นอาจเกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม ภัยแล้ง ซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณเฉลี่ยปีละ 4 – 5 หมื่นล้านบาท 

ทั้งนี้ จะไม่กระทบการเยียวยาประชาชนจากโควิด-19 เนื่องจากมีแนวคิดว่าในส่วนของเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ที่อนุมัติให้จังหวัดต่างๆเสนอโครงการเข้ามาอาจให้ใช้แหล่งงบประมาณอื่นๆแล้วดึงเงินกู้ส่วนนั้นไปใช้ทำโครงการเยียวยาประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจ และเมื่อรวมกับเงินในโครงการที่ล่าช้าจะมีวงเงินเพิ่มเติมอีก

“การกู้เงินเพิ่มเติมในขณะนี้ถือเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะเงินกู้และงบกลางฯของรัฐบาลยังมีอยู่และแม้จะมีอำนาจในออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมได้แต่ก็จะเป็นประเด็นทางการเมืองขึ้นมาได้" 

สถานการณ์แตกต่างไปจากปี 2563 ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์โควิด-19 ไว้เลย  ขณะที่งบประมาณ 2564 ได้มีการตั้งงบกลางฯโควิด19 ไว้ เช่นเดียวกับในการตั้งงบประมาณปี 2565 หน่วยงานต่างๆก็ได้มีการปรับปรุงงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งหากในการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณนั้นรัฐบาลไม่ได้ถูกตัดงบประมาณมากก็อาจไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเพราะในไตรมาสสุดท้ายของปีรัฐบาลจะมีงบกลางฯปี 2565 มาเป็นเงินสำรองสำหรับการรองรับวิกฤติโควิดได้อีกส่วนหนึ่ง