‘Gig Economy’ ภาษีและแรงงานดิจิทัล

‘Gig Economy’ ภาษีและแรงงานดิจิทัล

ทำความรู้จัก "Gig Economy" เทรนด์ของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีแนวโน้มในการพึ่งพาเทคโนโลยีในการขับเคลื่อน ทำให้เกิด Gig Worker หรืออาชีพประเภทใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องมีนายจ้าง ไม่สังกัดองค์กร และมีความอิสระในการรับงาน

จากการพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์หลากหลายรูปแบบ อันเป็นที่มาของอาชีพประเภทใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องมีนายจ้าง ไม่สังกัดองค์กร และมีความอิสระในการรับงาน หรือที่เรียกว่า “Gig Worker” บทความฉบับนี้จะชี้ให้เห็นถึงแนวทางการจัดทำนโยบายและการจัดเก็บภาษีจากอาชีพประเภทใหม่นี้

  • เริ่มต้นจาก Gig Economy

หากจะเข้าใจ Gig worker ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า เทรนด์ของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันมีแนวโน้มในการพึ่งพาเทคโนโลยีในการขับเคลื่อน หรือที่เรียกว่า Gig Economy หรือ Platform Economy โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ได้ตีความโดยเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของภาคแรงงานว่า หมายถึงการที่เศรษฐกิจอยู่ในรูปแบบ On-Demand โดยอาศัยการเชื่อมต่อระหว่างกิจกรรมของบุคคลผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นฐาน ดังนั้น ด้วยรูปแบบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ “งาน” อยู่บนรากฐานของแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือแอพต่างๆ ที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้รับบริการ

  • Gig worker แรงงานดิจิทัล

ดังนั้น Gig Worker จึงเป็นแรงงานดิจิทัลที่สามารถ “ทำได้ทุกที่” ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยความสำเร็จของงานมีทั้งที่ใช้ช่องทางออนไลน์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น บริการทำเว็บไซต์ บริการให้คำปรึกษาออนไลน์ หรือยังอาศัยช่องทางกายภาพ (off-line) อยู่บ้าง แต่ใช้ช่องทางออนไลน์ในการรับคำสั่งซื้อหรือจับคู่ความต้องการ เช่น บริการของ Ride-hailing การขายสินค้าออนไลน์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้ช่องทางออนไลน์ทั้งหมดหรือมีการใช้ช่องทางออฟไลน์ผสม สาระสำคัญอยู่ตรงที่ว่า “กิจกรรมเหล่านี้ ก่อให้เกิดเงินได้” และสมควรเสียภาษีไม่ต่างจากแรงงานปกติในระบบ

  • แนวทาง OECD : การแลกเปลี่ยนข้อมูลการให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม

OECD ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ และปัญหาการจัดเก็บภาษีของภาครัฐที่จะทำได้ยากขึ้นในอนาคต จึงได้ออกแนวทางเรื่อง “Model Rules for Reporting by Platform Operators with respect to Sellers in the Sharing and Gig Economy” เพื่อกำหนดให้แพลตฟอร์ม (Platform Operators) มีหน้าที่เก็บข้อมูลและรายงานต่อภาครัฐเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มของตน (Platform Seller) เช่น ชื่อ ที่อยู่ เลขที่ผู้เสียภาษี เป็นต้น ทั้งนี้ แนวทางฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการให้บริการออนไลน์บนแพลตฟอร์มที่อาจมีการให้บริการข้ามประเทศ เช่น งานบริการตามความต้องการของลูกค้า หรืองานบริการ On-Demand ต่างๆ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงงานประเภทที่เป็นสัญญาจ้าง หรืองานบริการที่เป็นส่วนหนึ่งของการขายสินค้า

  • สรรพากรสหรัฐเปิด “Gig Economy Tax Center”

สหรัฐเริ่มจัดเก็บภาษีจากกิจกรรมออนไลน์ ประเภท “Gig Work” โดยสรรพากรสหรัฐได้อธิบายว่า หมายถึง กิจการงานที่มีลักษณะเป็นอาชีพอิสระ (Independent Contractor/Self-employed) โดยบุคคลนั้นมีเงินได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งมักอยู่ในรูปแบบงาน On-Demand ผ่านช่องทางดิจิทัลที่ดำเนินการผ่านแอพหรือเว็บไซต์ เช่น งานขายของออนไลน์ งานบริการขับรถขนส่งให้บริการที่มีการเรียกผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ไม่ว่างานนั้นจะมีลักษณะเป็นงานประจำ งานพาร์ทไทม์ หรือ side work และไม่ว่าค่าตอบแทนที่ได้รับจะอยู่ในรูปแบบเงินสด ทรัพย์สิน หรือเงินดิจิทัล ที่สามารถตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้ ให้ถือว่าผู้มีเงินได้จากกิจกรรมดังกล่าวมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ต่อสรรพากร

จุดที่น่าสนใจของสรรพากรสหรัฐ คือ ให้ผู้เสียภาษีเก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเงินได้ และยื่นเสียภาษีแบบเฉลี่ยเป็นรายไตรมาสหรือ 4 ครั้งต่อปี ได้แก่ในทุกวันที่ 15 ของเดือน ม.ค., เม.ย., มิ.ย. และ ก.ย.

  • สำหรับประเทศไทย

หากพิจารณาในด้านแรงงาน Gig worker อาจถือเป็นแรงงานอิสระที่อยู่นอกระบบประกันสังคมและกฎหมายแรงงานในปัจจุบัน เพราะกฎหมายแรงงานและประกันสังคมในปัจจุบันได้ถูกสร้างขึ้นบนรากฐานของระบบแรงงานรูปแบบเดิม ซึ่งผูกกับระบบการหักเงินสมทบผ่านรายได้ประจำ ดังนั้น ความคุ้มครองทางกฎหมาย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาจยังไม่ครอบคลุมถึงแรงงานอิสระหรือ Gig worker ที่อยู่นอกระบบได้อย่างสมบูรณ์

หากพิจารณาในด้านภาษีของ Gig Worker รายได้ที่ได้รับ ถือเป็นเงินได้พึ่งประเมินประเภทหนึ่ง เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่าเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หมายรวมถึง “เงิน ทรัพย์สินอันอาจคำนวณได้เป็นเงิน หรือประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินที่ได้รับจริง” (โดยใช้เกณฑ์เงินสด) ซึ่งเมื่อได้รับเงินได้เหล่านั้นมาแล้วและกฎหมายไม่ได้กำหนดยกเว้นไว้สำหรับเงินได้รายการดังกล่าว แปลว่าผู้เสียภาษีมีหน้าที่ต้องชำระภาษีในเงินได้นั้นด้วย

  • ในทางปฏิบัติ ภาระภาษีของ Gig worker ในไทยอาจเกิดได้ใน 2 ลักษณะ

1) ให้บริการผ่านแอพ หรือแพลตฟอร์มต่างๆ และมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพากรไว้แล้ว กรณีนี้ Gig worker รายนั้น มีหน้าที่ยื่นแบบและเสียภาษีตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และหากไม่ยื่น หรือยื่นไม่ครบ ข้อมูลที่ได้มีการหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้วโดยแอพจะถูกใช้เป็นฐานข้อมูลของสรรพากรในการประเมินภาษีย้อนหลังพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มในอนาคต แต่หากรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดก็อาจได้รับเงินภาษีที่หักไว้แล้วคืน

2) กรณีเป็นงานอิสระอื่นใดที่ไม่ได้มีการหัก ณ ที่จ่ายไว้ ในกรณีนี้ Gig worker รายนั้นจะมีหน้าที่ยื่นแบบเสียภาษี ก็ต่อเมื่อเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด เช่น หากมีรายได้จากเงินเดือนอย่างเดียวตั้งแต่ 1.2 แสนบาทขึ้นไปใน 1 ปี หรือมีรายได้อื่นๆ ตั้งแต่ 6 หมื่นบาท ต้องยื่นแบบแสดงภาษี ซึ่งในกรณีนี้ ผู้เสียภาษีต้องสำรวจรายได้ของตัวเองในปีภาษีที่ผ่านมา และควรศึกษาวิธีการหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษีที่เงินได้เกิดขึ้นเพื่อใช้สำหรับการยื่นรายการภาษีให้ถูกต้องประกอบด้วย

ท้ายที่สุด Gig Worker คือ รูปแบบการทำงานในยุคใหม่ ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันอาจต้องมีการปรับปรุงหรือพัฒนาเพื่อให้รองรับบริบทการจ้างงานแบบใหม่ที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต

(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน)