อานิสงส์‘พิษโควิด-ภาษีที่ดิน’ ดันคอมมูนิตี้มอลล์บูมรอบ6ปี

อานิสงส์‘พิษโควิด-ภาษีที่ดิน’ ดันคอมมูนิตี้มอลล์บูมรอบ6ปี

เอ็ดมันด์ ไต ชี้เทรนด์ “คอมมูนิตี้มอลล์” หวนบูมในรอบ 6 ปี หลังพิษโควิด-ภาษีที่ดิน หนุนแลนด์ลอร์ดพลิกแผนพัฒนาศูนย์การค้าขนาดเล็กชานเมืองรับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่เลี่ยงสถานที่แออัด แนวโน้มพัฒนาพื้นที่ค้าปลีก มิกซ์ยูส สแตนด์อโลน จุดพักรถ มาแรง

นางพรรณี ศรีธัญญลักษณา กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ และผู้อำนวยการ-แผนกศูนย์การค้า บริษัท เอ็ดมันด์ ไต แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มตลาดคอมมูนิตี้มอลล์ในกรุงเทพฯ ช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 นี้ มีอุปทานพื้นที่ให้เช่าสะสมทั้งสิ้น 542,892 ตารางเมตร โดยโครงการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่นอกเมือง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 64% ของพื้นที่เช่าทั้งหมด ส่วนพื้นที่เช่าของโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ที่ตั้งอยู่ในใจกลางเมือง หรือในตัวเมืองคิดเป็น 36% ของพื้นที่เช่าทั้งหมด

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในไทยตั้งแต่ปี 2563 ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันหรือพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงนั้น ทำให้คนหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก รวมทั้งในสถานที่ปิด และเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทำให้คนเลือกซื้อของใช้ที่จำเป็นจากร้านค้าในโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ที่ใกล้บ้าน เนื่องจากเดินทางไม่ไกลจากบ้าน สะอาด จอดรถง่าย เมื่อลงจากรถก็สามารถเข้าถึงร้านค้าในโครงการเพื่อหาซื้อของกินของใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องใช้เวลานานในการจับจ่ายหรือแวะรับประทานอาหาร

ขณะที่เจ้าของกิจการและนักลงทุนมองเห็นถึงโอกาสจากการลงทุนพัฒนาคอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบันของผู้บริโภคในช่วงที่ผู้คนต้องการความสะดวกในการจอดรถ ความรวดเร็วในการเข้าใช้บริการ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ปิด และมีคนแออัด จึงทำให้คอมมูนิตี้มอลล์ยังคงมี “โอกาส”ทางธุรกิจที่ดี รวมไปถึงการได้อานิสงส์จากมาตรการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่สนับสนุนให้มีการนำที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากขึ้นนั้น ส่งผลให้นักลงทุนนำที่ดินมาพัฒนาเป็นคอมมูนิตี้มอลล์โครงการใหม่ๆ ซึ่งอุปทานใหม่ของคอมมูนิตี้มอลล์ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้นั้นยังคงอยู่บริเวณพื้นที่นอกเมืองเพิ่มมากขึ้นในรอบ 6 ปี ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาถึงปี 2564

นางพรรณี กล่าวต่อว่า แนวโน้มการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกนั้น จะเป็นในรูปแบบของ โครงการมิกซ์ยูส (Mixed-use) ส่วนใหญ่อยู่ในเมือง ร้านค้าแบบสแตนด์อโลน รีเทล (Standalone Retail) อย่างร้านยูนิโคล่ ย่านพัฒนาการ หรือ กรุงเทพโซนตะวันออกเป็นย่านที่อยู่อาศัยที่มีกำลังซื้อสูง และ พื้นที่ค้าปลีกแนวราบ ในรูปแบบของจุดพักรถ (Rest Area) ซึ่งมีสถานีบริการน้ำมัน และพื้นที่ร้านค้าปลีกอยู่ในบริเวณเดียวกัน ที่มีจำนวนเพิ่มอย่างรวดเร็ว เนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างถูกกว่าการสร้างแบบ 2 ชั้น และสามารถรองรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการท้องถิ่นให้ความสนใจในการพัฒนาจุดพักรถให้เป็นสถานที่แวะพักสำหรับคนเดินทางที่มีจุดหมายปลายทางเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญมากยิ่งขึ้น จึงกลายเป็นแนวโน้มสำคัญสำหรับตลาดพื้นที่ค้าปลีก เนื่องจากการขยายตัวของชุมชน มีการขยายออกไปบริเวณรอบนอกเมืองและปริมณฑล เช่นโซนรังสิต กิ่งแก้ว พุทธมณฑล นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรปราการ จึงทำให้พื้นที่ค้าปลีกในรูปแบบของสแตนอะโลนรีเทล และจุดพักรถขยายตัวตาม