'กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ' ที่นายจ้างต้องเตรียมตัวให้ดี  

'กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ' ที่นายจ้างต้องเตรียมตัวให้ดี  

เปิดบทวิเคราะห์ "กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ" กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับนายจ้างต้องเตรียมตัวอย่างส่งเงินสมทบอย่างไร และแบบไหนดีกว่ากัน?

ช่วงนี้หลายๆ ท่านอาจจะพอได้ยินเรื่องกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมากันบ้างแล้วใช่มั้ยคะ เพราะเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ครม.มีมติ อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นข่าวสำคัญที่ส่งผลกระทบ ต่อทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างค่อนข้างมากอยู่เรื่องหนึ่งเลยทีเดียวครับ วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่าเรื่องนี้ให้ทุกท่านฟังครับ

“สาระสำคัญของ พ.ร.บ.กบช.นี้ คือการให้มีการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติขึ้นมา โดยจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี โดยจะครอบคลุมลูกจ้างเอกชน​ ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่องค์การมหาชนและพนักงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ใด

โดยหากอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ หากลูกจ้างคนไหน ไม่มีการส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) อยู่ก่อนแล้วนั้น จะถูกบังคับให้ ต้องส่งเงินเข้ากองทุน กบช.แทน โดยจะไม่สนใจว่าบริษัททำงานอยู่จะเล็กใหญ่แค่ไหน มีลูกจ้างกี่คนก็ตาม

โดยที่ทั้งฝั่งลูกจ้างและนายจ้างต้องส่งเงินสมทบ ขั้นต่ำ แบ่งเป็นปีที่ 1-3 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของค่าจ้าง ปีที่ 4-6 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของค่าจ้าง ปีที่ 7-9 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 ของค่าจ้าง และปีที่ 10 เป็นต้นไป ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7-10 ของค่าจ้าง โดยกำหนดเพดานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท ให้นายจ้างส่งเงินฝ่ายเดียว และ หากลูกจ้างและนายจ้างต้องการส่งเพิ่ม สามารถส่งเพิ่มได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของค่าจ้าง โดยไม่จำกัดเพดานค่าจ้าง

โดยทางฝั่งลูกจ้าง สามารถเลือกรับเงินคืนจากกองทุนในรูปแบบของ บำเหน็จ หรือบำนาญ เป็นรายเดือนเป็นเวลา 20 ปี ได้เมื่ออายุครบ 60 ปี โดยจะได้รับทั้งในส่วนของเงินสะสมฝั่งลูกจ้าง เงินสมทบฝั่งนายจ้าง และผลตอบแทนจากการลงทุน

ดูๆไปแล้ว หลักการของ กบช.นั้น ก็คลับคล้ายเหมือนกับจะเป็นฝาแฝดของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นเองครับ เพียงแต่ต่างกันที่ลักษณะโครงสร้างการบริหารที่ กบช.จะเป็นการรวมเงินจากหลายๆ นายจ้างและลูกจ้างหลายๆ บริษัทเข้ามาไว้ในกอง แล้วมีคณะกรรมการ กบช. เป็นผู้บริหารจัดการ ซึ่งหากเป็น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะแยกกันเป็นแต่ละบริษัท ของใครของมัน ไม่นำมารวมกัน และมี บล./บลจ.ที่นายจ้างเป็นคนเลือกมาเป็นผู้บริหารเงินกองทุนให้

ซึ่งจากข่าวนี้ก็นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับ ชาวลูกจ้างที่บริษัทไม่มีสวัสดิการในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ เพราะหาก พ.ร.บ.นี้ประกาศใช้เมื่อไหร่ ทางฝั่งลูกจ้างก็จะมีรายได้มากขึ้นจากเงินสมทบที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนให้นั่นเองครับ โดยจะได้รับคืนมาในรูปแบบของเงินบำเหน็จ หรือบำนาญ ในวันที่อายุ 60 ปี

กลับกันในฝั่งของนายจ้างนั้น หากเป็นนายจ้างที่มีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ ลูกจ้างอยู่แล้ว คงจะไม่กระทบอะไรมากนัก แต่ว่าหากเป็นนายจ้างที่ยังไม่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ลูกจ้าง อาจจะต้องมานั่งคิดแล้วครับว่า จะกันเงินส่วนไหนมาสำหรับส่งเข้ากองทุน กบช. ในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนของลูกจ้างทั้งหมดในปีแรก และในปีถัดๆ ไป หากต้องส่งเงินเข้า กบช.จะส่งผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทอย่างไรบ้าง

และนอกจากนั้น นายจ้างเองอาจจะต้องกลับมาพิจารณาด้วยละครับว่าระหว่างการส่งเงินสมทบเข้า กบช. หรือจะจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นอย่างไหนจะดีกว่ากัน

โดยจากรายละเอียดที่มีออกมาในเบื้องต้นนั้นในมุมของฝั่งนายจ้างนั้น ดูเหมือนว่าการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า กบช.อยู่พอสมควร เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น นายจ้างสามารถสมทบได้ต่ำสุดที่ร้อยละ 2 ซึ่งต่ำกว่า กบช. ที่บังคับสมทบขั้นต่ำอยู่ที่ร้อยละ 3 ในปีแรก และต้องเพิ่มขึ้นทุกปีจนถึง ร้อยละ 7

และสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น นายจ้างก็สามารถเขียนเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้างได้ว่า สมาชิกต้องมีอายุงานเท่าไร จึงจะสามารถมีสิทธิรับเงินสมทบในส่วนของนายจ้างได้ ซึ่งจะช่วยให้นายจ้างสามารถดึงเงินจากกองทุนกลับคืนมาได้ในส่วนของ พนักงานที่อายุงานไม่ถึงที่กำหนดไว้นั่นเอง

นอกจากนี้ สำหรับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น หากธุรกิจของนายจ้างมีปัญหา นายจ้างก็สามารถเจรจากับทาง บริษัทที่ดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อขอหยุดพักการส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้อีกด้วย

จากที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่า การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับนายจ้าง แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น จะมีประเด็นในเรื่องของค่าใช้จ่าย ในการจัดตั้งกองทุนเพิ่มขึ้นมาที่ต้องนำมาคิดด้วย ซึ่งต่างจาก กบช.นั้นจะไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แต่อย่างใด โดยค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งกองทุนนั้น จะแตกต่างกันไปตามแต่ละ บล./บลจ.

ท้ายที่สุดนี้ อย่างไรก็ตามเราต้องมาดูกันที่ตัวกฎหมาย เมื่อออกมาจริงอีกทีว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมตรงไหนบ้างอย่างไร และเมื่อถึงเวลานั้น ทางผู้เขียนจะมาเขียนสรุป และแนะนำแนวทางเลือกที่เหมาะสม สำหรับทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างอีกครั้งหนึ่งครับ”