ธุรกิจไทยรื้อแผนลงทุน ‘เมียนมา’ OR ชะลอปั๊ม อเมซอน คลังน้ำมัน

ธุรกิจไทยรื้อแผนลงทุน ‘เมียนมา’ OR ชะลอปั๊ม อเมซอน คลังน้ำมัน

สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ชี้ สถานการณ์รุนแรงกว่าคาด ธุรกิจชะลอ ชงรัฐจัดซอฟต์โลนอุ้ม เตือนสมาชิกไม่ให้ออกไปไหน "OR" ชะลอแผนคลังน้ำมันใหญ่สุด 1 ล้านบาร์เรล " ปตท.สผ." เดินหน้าลงทุน 2 พันล้านดอลลาร์ วางท่อก๊าซ ผลิตไฟฟ้า วางสายส่ง

ภายหลังการรัฐประหารในเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 นำโดย พลเอกอาวุโส มินห์ อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพ ทำให้เมียนกลับไปถูกปกครองด้วยทหาร และมีการประท้วงกระจายทั่วประเทศ พร้อมทั้งมีการปราบปรามการชุมชน ซึ่งเป็นประเด็นที่นักธุรกิจไทยในเมียนมามีความกังวลต่อสถานการณ์มากขึ้น

นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า ขณะนี้สถานการณ์ในเมียนมามีความรุนแรงมากขึ้นกระทบต่อการทำธุรกิจของบริษัทไทยในเมียนมารุนแรงมาก โดยไม่สามารถไปทำธุรกิจภายนอกได้ รวมทั้งพนักงานขายไม่สามารถไปขายสินค้าในแต่ละพื้นที่ได้ รวมทั้งร้านค้าต้องปิดทำให้สินค้าไม่สามารถจำหน่ายได้ ซึ่งแม้ด่านชายแดนเปิดได้และสินค้าไทยผ่านแดนได้ แต่การค้าในเมียนมาหยุดและอาจไม่จำเป็นต้องนำเข้า

“ขณะนี้สถานการณ์รุนแรงมากกว่าที่เราคิดไว้เพราะส่งผลกระทบไปทุกพื้นที่ ตอนนี้ไม่สามารถประเมินความเสียหายได้เพราะทุกอย่างหยุดชะงักไปหมด”

ทั้งนี้ สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ได้มีการหารือกับสมาชิก โดยต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือโดยด่วน ซึ่งได้หารือกับนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2564 และได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐช่วยเหลือหลายข้อ แต่สิ่งสำคัญเร่งด่วนที่สุด คือ การช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงินของสมาชิกเพราะขาดรายได้ รวมทั้งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว จึงต้องการให้ช่วยออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟท์โลน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์รับไปช่วยประสานงานให้ และนัดหารืออีกครั้งกลางเดือน เม.ย.นี้

“วันนี้ทำได้แค่ต้องพยุงและประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ การที่จะถอนธุรกิจออกก็จะทำให้ขาดทุน เพราะเงินลงทุนทำธุรกิจในเมียนมาจำนวนมาก สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยได้ คือ ซอฟต์โลน เพราะขาดสภาพคล่องโดยสิ้นเชิง”

นอกจากนี้ ในระหว่างการประสานความช่วยเหลือรัฐบาลนั้น สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ขอให้สมาชิกที่อยู่ในเมียนมาอยู่นิ่งๆอย่าออกไปทำธุรกิจภายนอก และอดทนรอ ดูแลตัวเองให้มากที่สุด เนื่องจากสถานการณ์อันตรายมาก

  • OR ชะลอลงทุนคลังน้ำมัน

น.ส.จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า แผนขยายการลงทุนในเมียนมาของ OR ปัจจุบัน มีการจัดตั้ง 2 บริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรกลุ่มบริษัท คันบาวซา จำกัด (Kanbawza KBZ Group of Companies Limited) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดของเมียนมา ในการดำเนินการ 2 โครงการ คือ 

1.โครงการร่วมทุนธุรกิจคลังและค้าส่งปิโตรเลียม กับ บริษัท ไบรท์เทอร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด ในการจัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมถึงการจัดตั้งและบริหารคลังน้ำมัน ท่าเรือ และโรงบรรจุก๊าซหุงต้มแอลพีจี ซึ่งเดิมโครงการดังกล่าวมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2564 นับเป็นคลังน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเมียนมา มีความจุรวมกว่า 1 ล้านบาร์เรล และมีความจุแอลพีจี รวม 4,500 เมตริกตัน

2.โครงการร่วมทุนธุรกิจสถานีบริการน้ำมันและค้าปลีก กับ บริษัท ไบรท์เทอร์ เอนเนอร์ยี่ รีเทล จำกัด โดยจะนำแบรนด์ของ โออาร์ ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยมาต่อยอดเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคชาวเมียนมา ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ก๊าซหุงต้มแอลพีจี และร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ซึ่งเดิมวางเป้าหมายการขยายสถานีฯ ที่ 70 แห่ง ภายในปี 2566 นั้น

“ทั้ง 2 โครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยโครงการแรก คืบหน้าไปแล้ว 65% และโครงการที่สอง อยู่ระหว่างก่อสร้างปั๊ม 2 แห่ง แต่เนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมาทำให้ทั้ง 2 โครงการดังกล่าวจำเป็นต้องชะลอการลงทุนออกไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง”

 

  • ปตท.สผ.เดินหน้าโรงไฟฟ้า

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า โครงการ Gas to Power ในเมียนมา หลังจากเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2563 บริษัทได้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้เริ่มดำเนินงาน (Notice to Proceed) ของโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมา (Integrated Domestic Gas to Power) เพื่อนำก๊าซธรรมชาติจากโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวเมาะตะมะ

โดยเริ่มแรกจะนำก๊าซจากโครงการซอติก้า และโครงการเมียนมา เอ็ม3 มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในโครงการ ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อดำเนินการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ในเขตไจลัท ภูมิภาคอิรวดี การก่อสร้างระบบท่อขนส่งก๊าซฯ ทั้งในทะเลและบนบก จากเมืองกันบก-เมืองดอร์เนียน-เมืองไจลัท รวมระยะทางประมาณ 370 กิโลเมตร

และการวางระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากเขตไจลัทไปยังเขตลานทายาในภูมิภาคย่างกุ้ง มีระยะเวลาสัญญา 20 ปี และสามารถต่ออายุสัญญาได้ 5 ปี นับจากวันเริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์

  

  • หาพันธมิตรร่วมทุนท้องถิ่น

“ขณะนี้ อยู่ระหว่างหาผู้ร่วมทุนในโครงการซึ่งจะเป็นพันธมิตรท้องถิ่นว่าจะมาร่วมสร้างประโยชน์ในโครงการอย่างไร คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ และคาดว่าจะสามารถเจรจาค่าไฟพร้อมลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA)ได้ในช่วงต้นปี 2565 ซึ่งยอมรับว่า การตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision) อาจล่าช้าไปจากแผนเล็กน้อย จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา แต่เชื่อมั่นว่าโครงการยังเดินหน้าได้”

อย่างไรก็ตาม โครงการ Gas to Power ในเมียนมา จะเป็นการร่วมทุนระหว่าง 3 ฝ่าย คือ ปตท.สผ.กับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และพันธมิตรท้องถิ่น โดยปตท.สผ.จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ขณะที่จีพีเอสซี จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งในอนาคตโรงไฟฟ้ายังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าไปได้ถึง 1,000 เมกะวัตต์