ครม.อนุมัติร่างกฎหมายกองทุนการออมภาคบังคับ

ครม.อนุมัติร่างกฎหมายกองทุนการออมภาคบังคับ

ครม.อนุมัติร่างกฎหมายนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. และร่างกฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ..หวังช่วยแรงงานมีรายได้​หลังเกษียณไม่ต่ำกว่า 50%ของรายได้ก่อนเกษียณ

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า​ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ. คนบ.) และร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ
พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ. กบช.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. คนบ. มีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะนโยบาย
แผนแม่บท และแนวทางการพัฒนาระบบบำเหน็จบำนาญให้ครอบคลุมผู้พ้นวัยทำงานทั้งหมด เพียงพอต่อการดำรงชีพมีความเป็นธรรม และยั่งยืน
รวมทั้ง​ กำกับดูแลให้มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่ดำเนินการหรือกำกับดูแลระบบบำเหน็จบำนาญเพื่อให้มีการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับระบบบำเหน็จบำนาญของภาครัฐและเอกชนและเพื่อให้นโยบายด้านบำเหน็จบำนาญเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. กบช. คือ การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติซึ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี ครอบคลุมลูกจ้างเอกชน​ ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่องค์การมหาชนและพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อให้แรงงานในระบบได้มีการออมเพื่อการเกษียณเพิ่มเติม มีรายได้ไม่น้อยกว่า
50% ของรายได้ก่อนเกษียณ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอในการดำรงชีพ โดยให้มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนจาก 2 ฝ่าย คือ ลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งเมื่ออายุครบ 60 ปี ลูกจ้างจะสามารถเลือกรับบำเหน็จหรือเลือกรับบำนาญ
เป็นระยะเวลา 20 ปี

นอกจากนี้ กบช.จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับระบบบำเหน็จบำนาญ เพื่อให้มีระบบข้อมูลสำหรับใช้ประโยชน์ในการยกระดับ
การบริหารจัดการระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุทั้งระบบ