เตรียมตัวให้พร้อมกับ   “Experience Economy”

เรากำลังเข้าสู่ Experience Economy (เศรษฐกิจที่สร้างจากประสบการณ์) หรือ ระบบเศรษฐกิจแบบที่เราเลือกที่จะบริโภค ‘ประสบการณ์’ จากสินค้าและบริการ ไม่ใช่เพียงบริโภคตัวสินค้าและบริการอีกต่อไป

Experience Economy กำลังจะมากระทบต่อภาคการผลิต เพราะในสังคม Experience Economy ที่คนจะมีความต้องการเป็นเจ้าของสินค้าลดลง ดังนั้นอะไรคือสิ่งที่ผู้ผลิตต้องเข้าใจและเรียนรู้ และอะไรคือผลกระทบต่อการผลิตในภาคเศรษฐกิจ

กลุ่มผู้บริโภคที่เราเรียกว่ากลุ่ม Millennials ซึ่งมีช่วงอายุ 25-37 ปี หรือ คนที่เกิดในช่วงปีค.ศ. 1984-1996 โดยปัจจุบันทั่วโลกมีจำนวนประชากรในกลุ่ม Millennialsคิดเป็น 23% ของประชากรของโลกเราทั้งหมด ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับประชากรวัยทำงานกลุ่มอื่นๆ ทั้งนี้ Millennials เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างจากคนยุคก่อน โดยความสุขของชาว Millennials ไม่ได้เกิดจากการเป็นเจ้าของหรือครอบครองทรัพย์สิน และไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมีหน้าที่การงานที่มั่นคงเสมอไป แต่ให้ความสำคัญกับการหาประสบการณ์เพื่อสร้างความสุขให้ชีวิต ดังนั้น ชาว Millennials จึงเลือกที่จะใช้เงินเพื่อซื้อประสบการณ์ที่จะได้รับจากสินค้าและบริการ มากกว่าการซื้อสินค้าโดยตรง

ตัวอย่างของธุรกิจที่เริ่มนำเอาแนวคิด Experience Economy มาปรับใช้เป็นโมเดลธุรกิจใหม่และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว อาทิ ธุรกิจกลุ่ม Ride Hailing เช่น บริการ Grab และ Uber ทำให้คนไม่จำเป็นต้องซื้อรถส่วนตัวอีกต่อไป เพราะ Millennials ไม่สนใจเรื่องความเป็นเจ้าของรถ แค่ต้องการแค่การเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้อย่างสะดวก และ Co-Working Space ที่เปิดโอกาสให้คนมีสถานที่ทำงานได้โดยไม่ต้องเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ อีกทั้งธุรกิจอย่าง Airbnb และ Co-Living Space ที่แชร์บ้าน/อพาร์ตเม้นต์เดียวกัน โดยไม่ต้องซื้อบ้านเอง และสามารถย้ายไปอาศัยใน Co-Living ที่อื่นๆ เพื่อหาประสบการณ์ที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่เอาเรื่อง Experience Economy มาปรับใช้อีก เช่น Cloud Computing และ การซื้อ Subscription ดูหนังและฟังเพลง Online รวมทั้งการพัฒนาเกมส์ Online เป็นต้น

เมื่อคนเราต้องการเพียงประสบการณ์ ทำให้เกิดโมเดลธุรกิจที่ไม่ใช่การซื้อสินค้าทางกายภาพโดยตรงเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อแนวคิดของผู้ผลิต เพราะในที่สุดจะต้องพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ ที่อาจจะมีรายได้จากการเก็บค่าสมาชิกเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาใช้สินค้า-บริการ โดยที่ลูกค้าไม่ได้จ่ายเงินเพื่อเป็นเจ้าของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อีกต่อไป

ผู้ประกอบการจึงต้องคิดให้มากขึ้นในการออกแบบสินค้าและบริการ โดยนำองค์ประกอบเรื่อง lifestyle ของคนมาพิจารณาอย่างละเอียด โดยการผลิตจะต้องมีความยืดหยุ่น หรือ Flexible เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง

สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC สิ่งที่ต้องเริ่มคิดต่อจากแนวโน้มเรื่องนี้คือ สินค้าและอุตสาหกรรมอะไรบ้างที่จะถูกกระทบจาก Experience Economy อะไรบ้างที่จะเกิดเป็น Platform ของสินค้าให้คนใช้ร่วมกัน หรืออะไรที่ยังคงเป็นสินค้าที่แต่ละคนยังคงต้องซื้อหามาใช้เป็นปกติ และอาจต้องคิดไปให้ไกลถึงว่า ในกระบวนการผลิตอะไรบ้างที่เราจะสามารถใช้โมเดล Experience Economy มาปรับใช้ได้ เช่น แต่ละผู้ประกอบการไม่ต้องซื้อหาเครื่องจักร อุปกรณ์มาใช้กันทุกคน แต่สามารถใช้ของร่วมกันได้ เรื่อง Co-Processing การใช้โรงงานหรือคลังสินค้าร่วมกันแบบ Co-Factory หรือ Co-Warehouse เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เราต้องระวังการออกแบบ Experience ของสินค้า หากผู้บริโภคกลับได้ประสบการณ์ที่ไม่ดีไป ไม่เพียงส่งผลให้สินค้าและผลิตภัณฑ์มีปัญหา แต่ยังอาจกระทบไปถึงประสบการณ์ที่มีต่อแบรนด์และเจ้าของสินค้าได้อีกด้วย