'เด็กจบใหม่' อยาก 'รวย' จัดการเงินยังไงดี?
 เปิดเคล็ดไม่ลับ จาก 'เดอะมันนี่โค้ช'

'เด็กจบใหม่' อยาก 'รวย' จัดการเงินยังไงดี?
 เปิดเคล็ดไม่ลับ จาก 'เดอะมันนี่โค้ช'

ชวนคุยกับ "เดอะมันนี่โค้ช" หรือ "จักรพงษ์ เมษพันธุ์" ทำยังไงให้ "เด็กจบใหม่" ในวันนี้ เป็นคน "รวย" ในวันหน้า?

"ไม่อยากเป็นคนเก่งแล้ว อยากเป็นคนรวย" "ไม่อยากทำงาน อยากเป็นคนว่างงานที่ร่ำรวย" แก๊กในโซเชียลมีเดีย ที่สะท้อนว่าคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะชาวมิลเลเนียลส์จำนวนไม่น้อย ให้ความสำคัญกับเรื่อง "เงิน" และมีเป้าหมายทางการเงินเป็นเป้าหมายหลักในชีวิต

ทว่า คำว่า "รวย" ของแต่ละคนแตกต่างกัน และเส้นทางเข้าสู่การเป็น "คนรวย" ที่แต่ละคนคาดหวังก็แตกต่างกัน ความรวยจึงไม่ใช่เรื่องที่มีสูตรสำเร็จ โดยเฉพาะในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปได้ทุกเมื่อ

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนคุยกับ "หนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์" หรือ "เดอะมันนี่โค้ช" (The Money Coach) ร่วมแชร์มีประสบการณ์ฝ่าอุปสรรคหนี้ 10 ล้านของครอบครัวตอนเป็น "เด็กจบใหม่" ช่วง "วิกฤติต้มยำกุ้ง" ปี 2540 สู่อิสรภาพทางการเงินในแบบของตัวเอง กับมุมมองการพัฒนาตัวเองของคนรุ่นใหม่ในศักราช 2564 ท่ามกลาง "วิกฤติโควิด-19" ที่หนักยิ่งกว่า

  •  สร้างใหม่ เงินน้อย จัดการเงินยังไงให้มีโอกาส "รวย" ? 

"เดอะมันนี่โค้ช" แนะนำเทคนิคการจัดการเงินจัดการรายได้ทั้งเด็กจบใหม่หรือวัยเริ่มทำงาน ไม่ว่าจะมีรายได้มากหรือน้อย เพื่อให้เข้าสู่เป้าหมายทางการเงินในแบบของตัวเอง

"ขอให้เข้าใจโจทย์ตัวเอง แล้วก็บริหารชีวิตให้ตรงกับโจทย์และเป้าหมายของตัวเอง ถ้าคุณจ่ายมันแล้วคุณมีความสุข แล้วมีความสุขจริงๆ นะ หมายความว่ามันจะไม่มีความทุกข์อะไรตามมาที่หลัง เรื่องเงินไม่มีใครผิดเลย เพราะฉะนั้นคุณจ่ายในแบบที่คุณคิดว่ามีความสุขได้เลย ขออย่างเดียว อย่าให้มันเบียดเบียนตัวเอง และเบียดเบียนคนอื่น"

เมื่อมีเป้าหมายของตัวเองแล้ว อย่าลืมลองวางแผนเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายทางการเงินและชีวิตตามที่ตั้งเป้าไว้ โดย เดอะมันนี่โค้ช แนะนำการวางแผนการเงินสำหรับ "First Jobber" "เด็กจบใหม่" รวมถึง "วัยทำงาน" ที่อยากประสบความสำเร็จทางการเงิน ไม่ติดกับดักความจน และเข้าใกล้ความ "รวย" ดังนี้

161613871010


- ออมอย่างน้อย 5-10%

จุดเริ่มต้นทางการเงินที่ดีคือการเริ่ม "ออมเงิน" ให้อยู่ก่อน เดอะมันนี่โค้ช มองว่าการออมเงินคือการฝึกตัวเองที่สามารถเริ่มต้นได้จากจำนวนน้อยๆ พร้อมแนะนำให้ "เก็บก่อนใช้" หักจากรายได้อย่างน้อย 5% อย่างต่อเนื่อง ที่นอกจะช่วยให้เก็บเงินได้แล้ว ยังฝึกวินัยทางการเงินตัวเองที่สามารถต่อยอดไปสู่การบริหารเงินในมิติอื่นๆ ได้

- ไม่รีบมีหนี้ก่อนอายุ 30 ปี

สาเหตุที่ เดอะมันนี่โค้ช แนะนำไม่ให้มีหนี้ก่อนอายุ 30 ปี แบบที่ยังไม่พร้อม หรือไม่มีความจำเป็น เพราะการมีภาระหนี้ผูกพันขณะที่รายได้ยังไม่มาก ทำให้ทัศนวิสัยทางการเงินสั้น และลดโอกาสในวางแผนการเงินอื่นๆ ที่ควรจะเป็น

"ทำไมผมถึงบอกว่า 10 ปีแรกยังไม่ควรมีหนี้รู้เพราะว่าอีก 10 ปีต่อไปเรามีหนี้แน่นอน เพราะว่าถ้าเรา 30 เรามีครอบครัว เราแต่งงาน เราแยกย้ายครอบครัวจากพ่อแม่ เราได้สร้างหนี้แน่ๆ 

"คนที่มีหนี้เร็ว วิสัยทัศน์การเงินจะสั้น" จะไปชวนทำประกัน หรือลงทุนเพื่อการเกษียณเขานึกไม่ออกหรอก เพราะอีก 30 วันเขาจะเหนื่อยอีกแล้ว คนมาทวงเราทุก 30 วันเพราะฉะนั้น วงจรนี้เป็นวงจรที่ถ้าใครหลุดเข้าไปแล้ว ต้องใช้เวลาตั้งหลักถึงจะออกมาได้ ถ้าเป็นหนี้ระดับใหญ่ๆ ยาวๆ อย่างเช่นหนี้บ้านแล้วเราไม่พร้อมจะเหนื่อยมาก ฉะนั้นไม่ต้องรีบมาก

หนี้อีกรูปแบบที่ไม่ควรมีเลย คือ "หนี้บริโภค" อาทิ หนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ไม่ได้บอกว่าใช้บัตรเครดิตไม่ได้แต่ต้องบริหารให้เป็น อย่าให้มันมีหนี้คงค้างเพราะดอกเบี้ยสูงมาก ดอกเบี้ยพวกนี้ทำให้การเงินเราช้าไปได้เยอะเลย แทนที่จะเก็บออมและเอาไปลงทุน 

 "ใน 10 ปีแรกของการทำงาน ถ้าถามว่าอะไรคือคำแนะนำอันดับ 1 ก็คือ อย่ารีบมีหนี้" เดอะมันนี่โค้ช

ส่วนหนี้บ้าน หนี้รถ อยากให้ดูว่ามันพร้อมจริงๆ เพราะว่าถ้าไม่พร้อม ยกตัวอย่างบ้าน 30 ปี มันลากชีวิตเราไปไกล ถ้าไม่พร้อมยังไม่ต้องรีบ รถแม้ว่ามันจะแค่ 5-6 ปี แต่ด้วยระยะเวลาที่สั้นทำให้ยอดผ่อนต่อเดือนสูง ถ้ายังไม่รีบ ไม่จำเป็นก็ใจเย็นๆ แล้วก็มาเก็บออมและลงทุนก่อน 

- ศึกษาการลงทุน ให้เงินทำงาน แนะนำ "กองทุนรวม" และวางแผน "ลงทุนระยะยาว"

สำหรับคนเพิ่งเริ่มต้นลงทุน เดอะมันนี่โค้ช แนะนำให้ศึกาษาการลงทุนในกองทุนรวม เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีทรัพย์สินอยู่เบื้องหลังทุกแบบอยู่แล้ว ทั้ง หุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ สิ่งที่สำคัญมากคือมันสามารถเริ่มต้นลงทุนได้ด้วยเงินจำนวนน้อยได้ หรือพูดง่ายๆ คือมีเงิน 1 บาทก็ลงทุนได้แล้ว

"หัวใจของการลงทุนให้ประสบความสำเร็จมันไม่ใช่แค่ความรู้ ผมจะบอกเสมอว่าต่อให้คุณอ่านหนังสือทุกเล่มในห้องสมุด ซื้อหนังสือทุกเล่มที่เป็นกูรูทุกคนเขียน คุณก็ลงทุนไม่เป็น คุณต้องลงทุน คุณจะลงทุนแค่ปีสองปี แล้วจะมาหวังผลสำเร็จไม่ได้หรอก ใครที่เป็นนักลงทุนคุณจะต้องเป็นนักลงทุนอย่างน้อย 10 ปี จนคุณเห็นวัฏจักรทั้งหมด"

- รู้จัก "ฟุ่มเฟือย" เพื่อความสุขได้ แต่ต้อง "ไม่เกินตัว"

หลายคนเข้าใจผิดว่า การวางแผนการเงินจะไม่มีความสุขในปัจจุบัน ไม่ได้ใช้ชีวิต ทว่าเดอะมันนี่โค้ชกลับมองอีกด้านว่า การวางแผนการเงิน ใช่ว่าจะต้องเบียดเบียนความสุขเสมอไป เพราะเงินและความสุขคือเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน 

"เราจะกินหรูกินอร่อยบ้างก็ได้ ใครมันจะกินข้าวผัดทุกมื้อ ใครจะกินข้าวกะเพราทุกมื้อ เราก็อยากจะกินชาบู กินสเต็ก กินไปเลย แต่กินให้รู้ไงว่า คนเราฟุ่มเฟือยได้นะ แต่อย่าเกินตัว

สองคำนี้อย่าไปใช้ปนกัน มันไม่เหมือนกัน บางวันเราก็อยากฟุ่มเฟือย มันก็มีความสุขนะลองได้ฟุ่มเฟือยดูสิ เรามีความสุขนะ แต่ถ้าคุณฟุ่มเฟือยบ่อยๆ มันก็คือเกินตัว ถ้าคุณฟุ่มเฟือยแบบที่คุณวางแผนไว้ อ้าว เดี๋ยววันนี้ มันไม่เดือดร้อนตัวเองแน่นอน คน 2 คนนี้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นใช้เงินให้มีความสุขเถอะครับ"

- ออกแบบชีวิตของตัวเอง ไม่ตามคนอื่น

เมื่ออายุมากขึ้น เรามักจะเจอความคาดหวังจากคนรอบตัว เช่น อายุ 30 อายุ 40 ต้องมีนั่นนี่ "เดอะมันนี่โค้ช" ย้ำว่าสิ่งที่ต้องมีก่อนอายุ 30 สิ่งที่ต้องมีก่อนอายุ 40 มี "สติ" อย่างเดียวพอครับ มีสติที่เราไม่ต้องไปฟังคนอื่น เพราะชีวิตคนเรามันมีความสุขคนละแบบ 

"เมื่อไรก็ตามที่ชีวิตคุณไม่ได้ดีไซน์เองผมว่าอันนั้นแหละเป็นปัญหา คุณต้องมีไอ้นั่นเพราะคนนี้บอกคนต้องมีไอ้นั่นเพราะอายุเท่านี้ต้องมีอย่างโน้นอย่างนี้มันกลายเป็นว่าเมื่อชีวิตเราไปถึงจุดนั้นแล้วสภาพเรามันไม่พร้อมแล้วไปตะเกียกตะกายเพื่อให้มีมันมันอาจจะทำให้ชีวิตเราแย่ลงก็ได้"

ลงทุนในตัวเองเยอะๆ เป็นยุคของคนมีของเยอะ

- ลงทุนความรู้มากๆ ช่วง 10 ปีแรกของการทำงาน

การเงินจะดี และเติบโตขึ้นในมิติของการทำงานและความก้าวหน้าทางการเงิน มีความพยายามอยู่เบื้องหลัง

"สิ่งที่อยากจะบอกคนที่เรียนจบใหม่หลายๆ คนก็คือว่า ในช่วง 10 ปีแรกของการทำงานถ้าเป็นไปได้ พยายามโฟกัสไปที่ทักษะและประสบการณ์ให้มากที่สุด ความหมายคือ จบใหม่ๆ พยายามซนหน่อย ซนก็คือ อย่าทำแค่งานประจำของตัวเอง รับผิดชอบแค่งานประจำแล้วจบ พยายามสังเกตว่ามีทักษะอะไรที่แตกจากงานที่เราทำอยู่

เช่น เราทำงานแผนกนี้ไปเชื่อมกับแผนกนี้ อะไรที่เรารู้เพิ่มขึ้น ทำให้เราเก่งขึ้น พยายามเรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ช่วง 10 ปี แรกของการทำงานเป็นวัยสะสม ลงทุนในตัวเองเยอะๆ เป็นยุคของคนมีของเยอะ ต้องใช้คำนี้ ใครที่มีของอย่างเดียว แต่ก่อนเขาบอกว่ารู้ให้ลึกซักอย่างนึง ตอนนี้อาจจะไม่ใช่ รู้ลึกอย่างหนึ่งอะถูก แต่ต้องรู้เยอะๆ อีกหลายเรื่อง 

เพราะฉะนั้น เราต้องทำได้หลายๆ อย่าง ใช้คำนี้แล้วกัน “เมื่อไรที่เรามีของในตัวเองเยอะ โอกาสและทางเลือกเราก็เยอะ” พยายามบริหารจัดการเงินให้ดี ถ้าไปถึงขั้นมีอาชีพที่ 2 ที่ 3 ได้ตั้งแต่ 10 ปีแรกก็ถือว่าดี แต่ถ้าไม่ได้ ก็อย่างที่บอกสะสมประสบการณ์เอาไว้ เพื่อเอามาต่อยอดในอนาคต

ที่มา: รายการปณิดคิดเงิน ซีซัน 2 EP.18