เปิดแผนปิโตรเคมีเฟส 4 ปักธงลงทุน“อีอีซี-เอสอีซี”

เปิดแผนปิโตรเคมีเฟส 4 ปักธงลงทุน“อีอีซี-เอสอีซี”

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะ 30 ปี นับจากนี้ (2564–2593) เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีพลังผลักดันเพียงพอในการขับเคลื่อนและต่อยอด “ความเป็นเลิศ” ที่ไทยมีอยู่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนา

รวมถึงพื้นที่รองรับการพัฒนาที่นอกเหนือไปจากภาคตะวันออก

คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต กรรมการอำนวยการ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการศึกษากรอบแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 ว่า ในการศึกษาครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นเครื่องจักรผลักดันให้ไทยพ้นจากการติดหล่มทางเศรษฐกิจมากว่า 20 ปี โดยต้องอยู่บนพื้นฐาน 5 ปรัชญาในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ 

1.การส่งออก คือ หัวใจสำคัญต้องมีประตูตะวันตก เพื่อยึดหัวหาดตลาดทางตะวันตกที่กําลังโต 2.ไฮโดรคาร์บอนเป็นแกนการพัฒนาประเทศใน 30 ปี ข้างหน้า ร่วมกับยางพารา ปาล์มนํ้ามัน อ้อยและมันสําปะหลัง 3.ทําให้ CLMVT แข็งแกร่ง เพื่อร่วมสร้างฐานการผลิตและการตลาดให้เติบโตด้วยกัน 

4.ใช้คุณค่าของความเป็นเลิศของประเทศให้มากที่สุด เพื่อสร้างความความมั่งคั่งให้ภาคใต้และประเทศ จากการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ในเอเชีย เพื่อนําไปสู่ศูนย์กลางการผลิตยาง การมีวัตถุดิบชีวภาพจมากของอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อนําไปสู่การเป็นไบโอดีเซล ฮับ และโอเลโอเคมีคัล 5.Circular Economy สร้างมูลค่าเพิ่มให้ทุกกระบวนการผลิต

จากการศึกษาได้กำหนดแนวทางต่อยอดอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยต้องพัฒนา 2 คลัสเตอร์ใหญ่ และ 1 คลัสเตอร์เล็ก ได้แก่ 1.คลัสเตอร์ปิโตรเคมี–ยางพารา–แปรรูปยาง และแปรรูปพลาสติก 2.คลัสเตอร์ปิโตรเลียม–ปาล์มนํ้ามัน–เมทิลเอสเทอร์ บี100 และโอเลโอเคมีคัล 

161557207241

ส่วนคลัสเตอร์เล็ก คือ ปิโตรเลียม–อ้อย และมันสำปะหลัง–เอทานอล–แก๊สโซฮอล ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการลงทุน 3 กลุ่ม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์เคมีเสริม และ ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยพิจารณาจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงบริบทโลก และภาวะตลาดในอนาคต

ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี จากการพิจารณาพลาสติกที่ตลาดมีความต้องการสูงในอนาคต จะอยู่ในกลุ่มเม็ดพลาสติกคอมพาวด์ โดยเฉพาะพลาสติกที่เข้าสู่การผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องผ่านการทำคอมพาวด์เพื่อให้ได้คุณสมบัติพิเศษเฉพาะที่ต้องการ โดยพลาสติกในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภูมิภาคเอเชียมีความต้องการสูงมาก เพราะเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก

ทั้งนี้ คาดว่าห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในการพัฒนาระยะที่ 4 ในปิโตรเคมีขั้นปลาย และแปรรูปพลาสติกจะสร้างมูลค่ารวม 168,000–169,000 ล้านบาท และภายในปี 2573 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและแปรรูปพลาสติก จะสร้างรายได้ให้กับประเทศ ดังนั้น ปิโตรเคมีขั้นปลายและแปรรูปพลาสติก จะสร้างมูลค่ารวม 1.22 ล้านล้านบาท การผลิตของอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกในประเทศจะมีมูลค่า 876,000–879,000 ล้านบาท การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในคอมเพล็กซ์ จะมีมูลค่า 96,000–97,000 ล้านบาท

ด้านผลิตภัณฑ์เคมีเสริม ประกอบด้วยกลุ่มเคมีเสริมมูลค่าสูง กลุ่มตัวเร่งปฏิกิริยาและกลุ่มสารเติมแต่ง โดยเฉพาะเคมีสำหรับอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์เคมีเสริมทั้ง 3 กลุ่ม ในระดับอุตสาหกรรมไทยได้เร็วจําเป็นต้องร่วมทุนกับเจ้าของเทคโนโลยี เช่น Albemarle , BASF , ExxonMobil , Honeywell , UOP , W.R. Grace GCL-Poly , Wacker Chemie , OCI , Hemlock Semiconductor , REC , Tokuyama , Mitsubishi Materials , Solvay และ Kao 

สำหรับผลิตภัณฑ์ชีวภาพจะมุ่งเน้นใน 3 ด้าน คือ เคมีชีวภาพ , พลาสติกชีวภาพ และเชื้อเพลิงชีวภาพ ไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เนื่องจากเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบที่สำคัญของโลก เช่น ส่งออกอ้อยเป็นอันดับ 2 ของโลก มันสำปะหลัง และยางพาราอันดับ 1 ของโลก และผลิตปาล์มได้เป็นจำนวนมาก 

ทั้งนี้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ ไทยควรจะใช้เทคโนโลยี จีเอ็มโอ เพื่อเพิ่มผลผลิตของพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด คือ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา โดยประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย อืนโดนีเซีย เมียนมา และฟิลิปปินส์ อนุญาตให้ปลูกและพัฒนาพืช จีเอ็มโอ ได้แล้ว ขณะที่ไทยเปิดให้นำเข้าเพียงอย่างเดียว ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งมาก และในอนาคตจะก้าวตามเทคโนโลยีนี้ไม่ทัน โดยรัฐบาลควรส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์ยางพารา และปาล์ม ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน และพัฒนาปิโตรเคมีในภาคใต้ตอนล่าง โดยใช้ความแข็งแกร่งในด้านวัตถุดิบ และความสามารถเรื่องปิโตรเคมีของประเทศ

ส่วนพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 4 มี 3 พื้นที่ ได้แก่ 

1.พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คาดว่าจะมีเงินลงทุน 1.1 แสนล้านบาท สร้างรายได้ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี จ้างงาน 3.6 พันคน 

2.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (เอสอีซี) มีเงินลงทุน 2.62 ล้านล้านบาท สร้างรายได้ 1.3 แสนล้านบาทต่อปี จ้างงาน 7.2 พันคน 

3.พื้นที่อื่น สำหรับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มีเงินลงทุน 2.1 หมื่นล้านบาท สร้างรายได้ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี จ้างงาน 1.2 พันคน 

รวมแล้วทั้งหมดจะมีเงินลงทุน 2.75 ล้านล้านบาท สร้างรายได้ 2.2 แสนล้านบาทต่อปี จ้างงาน 1.2 หมื่นคน

โดยใน Petrochemical industries complex เกมาะสมที่จะตั้งในพื้นที่ทุ่งนเรนทร์-ปะนาเระ จ.ปัตตานี มากที่สุด รองลงมาเป็น จ.ระยอง กลุ่ม Auxiliary chemicals industry (อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์) เหมาะที่จะตั้งใน จ.ระยอง และอุตสาหกรรมชีวภาพควรตั้งในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง อีสาน และตลอดภาคใต้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จำเป็นสูงสุดต้องมีท่าเรือออกสู่ทะเลในฝั่งตะวันตก หากไม่มีท่าเรือนี้เศรษฐกิจไทยจะหยุดนิ่ง

วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว หลังจากนี้จะส่งไปให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศพิจารณา จากนั้นจะส่งไปที่กระทรวงพลังงาน และเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในปีนี้ 

แผนดังกล่าวได้สรุปผลศึกษารายละเอียดทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมาย แผลการดึงดูดการลงทุน การวิจัยพัฒนา และพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ที่จะอยู่ในอีอีซี เอสอีซี และพื้นที่อื่น ๆ รวมทั้งยังได้นำนโยบาย บีซีจี ของรัฐบาล เข้าไปรวมกับแผนนี้ด้วย จึงทำให้เกิดการพัฒนาตั้งแต่รากฐานสินค้าเกษตรของไทยต่อยอดไปสู่ปิโตรเคมีชั้นสูง และสินค้าชีวภาพต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ของประเทศชาติในภาพรวมทั้งหมด