'ยูทีเอ' เร่งแผน 'อู่ตะเภา' ลุยพัฒนาเทอร์มินัลใหม่

'ยูทีเอ' เร่งแผน 'อู่ตะเภา' ลุยพัฒนาเทอร์มินัลใหม่

“ซิโนไทย” เริ่มงานออกแบบเทอร์มินัลอู่ตะเภา หลังทำข้อตกลงร่วม UTA ดึงงบ 1.8 พันล้านเดินหน้าโครงการ หวังแล้วเสร็จทันรัฐออกหนังสือเข้าพื้นที่ ต้นปี 2565 เริ่มตอกเสาเข็มสร้างทันที จ่อลงนามจ้างสถาปนิกระดับโลก ร่วมออกแบบเมืองการบิน

บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ที่ได้รับสิทธิพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมกันระหว่างบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เดินหน้าแผนงานหลังจากที่ได้ลงนามไปเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563

ภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยระบุว่า ขณะนี้ UTA ได้ทำข้อตกลงจัดสรรงบประมาณ 1.8 พันล้านบาท ให้ซิโนไทยเริ่มดำเนินงานในส่วนของการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร (เทอร์มินัล) ในส่วนที่สามารถทำได้ทันที เช่น การออกแบบปรับพื้นที่ เพื่อให้พร้อมต่อการเข้าพื้นที่ก่อสร้างเมื่อได้รับหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP)

ตอนนี้เรียกว่าเรามีความพร้อมมากที่จะเริ่มงานก่อสร้าง เมื่อได้รับ NTP ที่มีกำหนดตามแผนงานว่าจะได้ดรับในช่วงต้นปี 2565 เราก็พร้อมที่จะเข้าไปเริ่มงานก่อสร้างได้เลย เพราะตอนนี้เราได้ทำงานบางส่วนแล้ว กำลังจัดหาต่างชาติเข้ามาช่วยออกแบบเทอร์มินัล และเมื่อได้แบบเราก็จะนำแบบนั้นมาออกแบบดีเทลดีไซด์ต่อ”

สำหรับการเร่งรัดงานดังกล่าว เนื่องจากโครงการก่อสร้างเทอร์มินัลของท่าอากาศยานอู่ตะเภา มีระยะเวลากำหนดต้องแล้วเสร็จภายใน 3 ปี ซึ่งถือว่าเร็วกว่างานก่อสร้างเทอร์มินัลในท่าอากาศยานอื่นที่จะมีกำหนดเวลาก่อสร้าง 5 ปี ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเตรียมพร้อม เพื่อให้สามารถเริ่มงานตอกเสาเข็มก่อสร้างได้ทันทีภายหลังที่ได้รับหนังสือ NTP หากรอ NTP และเริ่มงานออกแบบภายหลัง อาจจะไม่ทันต่อกำหนดระยะเวลาโครงการ

นายภาคภูมิ ยังกล่าวอีกว่า ตามสัญญาทาง UTA ต้องส่งแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) ให้กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ลงนามสัญญา ซึ่งจะครบกำหนดในเดือน มิ.ย.นี้ โดยปัจจุบันทาง UTA อยู่ระหว่างจัดทำมาสเตอร์แพลน ไม่มีปัญหาติดขัด และมั่นใจว่าจะเดินหน้าโครงการเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้

ทั้งนี้ หากภาครัฐไม่สามารถออก NTP ได้ตามกำหนดในช่วงต้นปี 2565 โดยอาจจะเลื่อนเป็นกลางปี 2565 ทาง UTA ก็มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อภาพรวมโครงการ เพราะปัจจุบันได้เริ่มงานในส่วนที่สามารถดำเนินการได้แล้ว โดยเข้าใจว่าการออก NTP มีหลายเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง ทั้งระบบสาธารณูปโภคด้านอื่นๆ ดังนั้นอาจทำให้เกิดความล่าช้าได้

สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า การทำงานเกี่ยวกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ตอนนี้พันธมิตรทุกส่วนอยู่ระหว่างร่วมกันทำ และรับผิดชอบงานในส่วนที่ตนเองถนัด ซึ่งในส่วนของบีทีเอสได้รับมอบหมายให้ศึกษาออกแบบการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ พัฒนาเมืองการบิน โดยปัจจุบันคืบหน้าไปมาก กำลังศึกษาความเหมาะสมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องนำมาพัฒนาจะเป็นรูปแบบใด

ขณะที่โครงการเร่งด่วนจะต้องดำเนินการในระยะที่ 1 คือ การพัฒนาอาคาคผู้โดยสารหลังที่ 3 ซึ่งปัจจุบันบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ได้คัดเลือกเอกชนรับงานออกแบบอาคารดังกล่าวแล้ว มีเอกชนยื่นข้อเสนอเป็นบริษัทออกแบบชั้นนำ 1 ใน 3 ของโลก ประกอบไปด้วย Foster ผู้ออกแบบอาคารรูปไข่ที่มีชื่อเสียงในอังกฤษ รวมไปถึงบริษัทสถาปนิก SOM และ KPF

ตอนนี้เราเลือกบริษัทนักออกแบบอย่างไม่เป็นทางการแล้ว อยู่ระหว่างรอนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) UTA ซึ่งบริษัทออกแบบระดับโลกนี้ จะเข้ามาช่วยเราออกแบบสถาปัตยกรรมภายในอาคารผู้โดยสาร ช่วยเราวางรูปแบบของอาคารทั้งหมดในโครงการนี้”

นอกจากนี้ UTA มั่นใจว่าจะสามารถส่งแผนแม่บทโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้ตามเป้าหมายกำหนด คือ ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งปัจจุบันแผนดังกล่าวใกล้แล้วเสร็จ ไม่มีปัญหาใหญ่ติดขัด ซึ่งรวมไปถึงปัญหาของการพัฒนาอาคารเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ขณะนี้ก็สามารถแก้ไขได้แล้ว ไม่ได้เป็นปัญหาที่มีนัยยะสำคัญ

เราพูดคุยร่วมกับเอกชนเจ้าของโครงการไฮสปีดเทรนมาตลอด ไม่ได้มีปัญหาให้กังวลใจ เรื่องการขยับสถานีไฮสปีดตัวแบบเสร็จแล้ว มีการขยับสถานีเล็กน้อย แต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่เรื่องความกังวลใจ เรากังวลว่าหากไฮสปีดเทรนล่าช้าจะกระทบกับโครงการเมืองการบินมากกว่า เพราะปัจจุบันก็ทราบว่ายังไม่ได้ออก NTP เพื่อเริ่มงานก่อสร้าง”

161553650028

สำหรับแผนการลงทุนของโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก UTA จะใช้งบ 186,566 ล้านบาท ในจำนวนนี้รวมงบซ่อมบำรุงตลอดสัญญา 50 ปี 61,849 ล้านบาท ส่วนที่เหลือแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 

ระยะที่ 1 งบลงทุน 31,290 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารขนาด 157,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 2 งบลงทุน 23,852 ล้านบาท พัฒนาอาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด30 ล้านคนต่อปี ระยะที่ 3 งบลงทุน 31,377 ล้านบาท เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี และระยะที่ 4 งบลงทุน 38,198 ล้านบาท มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองของเมืองการบิน เพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี