BTS ลุยฟ้องศาลปกครอง ล้มประมูล ’รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ ไม่ถูกต้อง

BTS ลุยฟ้องศาลปกครอง ล้มประมูล ’รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ ไม่ถูกต้อง

“บีทีเอส” เดินหน้าฟ้องศาลปกครอง ปมล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม พร้อมยื่นอุทธรณ์กรณีจำหน่ายคดีปรับเกณฑ์ ลั่นคณะกรรมการ ม.36 ไม่มีอำนาจล้มประมูลตามกฎหมายพีพีพี ต้องเสนอ ครม.ตัดสิน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS เปิดเผยว่า หลังจากที่บีทีเอสได้ยื่นหนังสือถึงผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ตรวจสอบการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เกี่ยวกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือตอบกลับ

ทั้งนี้ บีทีเอสยืนยันว่าไม่ต้องการแสดงออกในลักษณะของการโต้แย้งกับหน่วยงานของรัฐผ่านสื่อ เพราะพยายามร้องขอความเป็นธรรมและดำเนินตามกระบวนการกฎหมายที่มี แต่จนถึงขณะนี้พบว่า มีความพยายามเบี่ยงเบนข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้บีทีเอสเกิดความเสียหาย จึงมีความจำเป็นต้องชี้แจงความจริงทั้งหมด สิ่งที่ดำเนินการมา และสิ่งที่กำลังดำเนินการต่อไปเพื่อให้ทุกคนเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง

สำหรับที่ผ่านมา บีทีเอส มองว่าการดำเนินการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน หลังจากขายซองเอกสารประกวดราคาไปแล้วนั้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการปรับเกณฑ์จากพิจารณาคะแนนด้านราคา 100 คะแนน เป็นเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อการประกวดราคา เพราะเกณฑ์ด้านเทคนิค ยังมีการกำหนดใช้ดุลยพินิจพิจารณาให้คะแนน

ระบุคดีศาลปกครองยังไม่ยุติ

ส่วนกรณีที่ รฟม.ชี้แจงถึงกระบวนการศาลปกครองสิ้นสุดแล้ว หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสิน และมีการจำหน่ายคดีกรณีปรับเกณฑ์การประมูลในครั้งที่ 1 บีทีเอสขอชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด เพราะบีทีเอสยังมีสิทธิในการยื่นอุทธรณ์ โดยขณะนี้ทีมกฎหมายอยู่ระหว่างพิจารณาที่จะยื่นอุทธรณ์ โดยหากต้องยื่นมีกรอบกำหนดสามารถยื่นได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ศาลปกครองกลาง ตัดสินจำหน่ายคดี เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ บีทีเอสยังอยู่ระหว่างพิจารณาข้อมูลในการยื่นฟ้องตามกระบวนการศาลปกครองเพิ่มเติมในอีก 2 ประเด็น คือ

1.การยกเลิกประมูล

2.การเปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อเริ่มกระบวนการประมูลใหม่

อีกทั้ง ปัจจุบันยังมีกระบวนการศาลอาญา ที่บีทีเอสได้ไปยื่นฟ้องทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยในวันที่ 15 มี.ค.นี้ ศาลจะพิจารณาคำร้องว่าจะรับฟ้องหรือไม่

“สิ่งที่บริษัททำทุกวันนี้เหนื่อยพอสมควร เราไม่ได้ทำเพื่อได้โครงการนี้ แต่เราทำเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการประมูล เนื่องจากโครงการมีมูลค่าเป็นแสนล้าน และเอกชนทั้งไทยและต่างชาติจับตามอง เป็นโครงการที่ต้องทำให้ถูกต้อง เพื่อความน่าเชื่อถือของประเทศ” นายสุรพงษ์ กล่าว

รอประกาศเอกสารประมูลใหม่

สำหรับการกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอ หาก รฟม.มีการยืนยันประกาศเอกสารยื่นข้อเสนอโครงการ (RFP) ใช้หลักเกณฑ์พิจารณาคะแนนด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน บีทีเอสก็ยืนยันว่าไม่เห็นด้วย แต่จะเข้าร่วมประมูลในรอบใหม่หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ คงต้องรอประกาศ RFP ออกมาก่อน รวมทั้งต้องนำเรื่องดังกล่าวเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บีทีเอส เพื่อพิจารณาตัดสินแนวทางเข้าร่วมประมูล

อย่างไรก็ดี บีทีเอสยังยืนยันว่าพันธมิตรในการร่วมธุรกิจ ยังพร้อมที่จะเข้าร่วมกับบริษัท ซิโน - ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นพันธมิตรผู้รับงานก่อสร้าง แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าร่วมประมูล และตาม RFP ฉบับใหม่ มีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มพันธมิตรด้านเทคนิค บีทีเอสมีความพร้อมหาพันธมิตรเพิ่ม และมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหา

นายสุรพงษ์ ยังกล่าวอีกว่า บีทีเอสมั่นใจในพันธมิตรด้านงานก่อสร้างอย่างซิโนไทย แต่หาก รฟม.ยืนยันใช้เกณฑ์ด้านเทคนิคด้วย ก็เกรงว่าจะไม่เป็นธรรมต่อผู้ประมูล เพราะมีการกำหนดอยู่ใน RFP ที่จะพิจารณาให้คะแนนเอกชนไทยที่มีประสบการณ์ขุดอุโมงค์ โดยปัจจุบันมีเอกชนไทยที่มีประสบการณ์ขุดอุโมงค์ 3 ราย หนึ่งในนั้นมีซิโนไทย แต่ด้วยประสบการณ์ขุดอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยามีไม่กี่ราย การใช้เกณฑ์ดุลยพินิจอาจไม่เป็นธรรม

“ที่ผ่านมาโครงการพีพีพี คือการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน และโครงการนี้เอกชนต้องมีสัญญาอยู่กับรัฐ 30 ปี รัฐต้องแบกรับความเสี่ยง ดังนั้นไม่มีทางที่เอกชนจะเสนอของไม่มีคุณภาพให้กับรัฐ เพราะหากไม่มีคุณภาพก็โดนปรับ และหากประชาชนไม่ใช้งานเอกชนก็รับความเสี่ยง การใช้เกณฑ์เดิมที่ตัดสิน 85 คะแนน ก็ถือว่าเป็นเกณฑ์สูงที่มีมาตรฐานอยู่แล้ว”