ส่อง4แบรนด์อาหารดัง ! ปี2564คืนชีพเปราะบาง

ส่อง4แบรนด์อาหารดัง ! ปี2564คืนชีพเปราะบาง

มาตรการ Social distancing กลับมา “กดดัน” กลุ่มร้านอาหารอีกครั้งเดือนสุดท้ายปี 2563 !! หลังโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ ด้านบิ๊กเอกชนเจ้าของ “4 หุ้นแบรนด์ดัง” แก้เกมปรับโมเดลใหม่เพื่อสอดรับพฤติกรรมผู้บริโภคไว้แล้ว คาดกระทบไม่มากเหตุไม่ถึงระดับล็อกดาวน์ !

ผลการดำเนินงาน 'ธุรกิจร้านอาหาร' กำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดเชื้อโคโรนา สายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) แล้ว หลังโดนผลกระทบหนักจากมาตรการ 'ปิดเมือง' และคำสั่งปิดห้างสรรพสินค้าของทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อ 22 มี.ค. 2563 ทำให้ธุรกิจร้านอาหารโดยเฉพาะสาขาที่อยู่ห้างสรรพสินค้าต้องหยุดให้บริการนั่งรับประทานที่ร้าน

แต่เมื่อสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดโควิด-19 ลดลงจนกลายเป็นศูนย์ ทำให้เมื่อ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้ และห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดบริการได้ตามปกติ ถือเป็นสัญญาณที่ดี ! 

หนึ่งในนั้นต้องมี 'หุ้น 4 แบรนด์ดัง' ที่ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) นั่นคือ บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นภายใต้ 'แบรนด์ ZEN Musha' ของ 'สุทธิเดช จิราธิวัฒน์' บมจ. เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป หรือ M เจ้าของร้านสุกี้ภายใต้ 'แบรนด์ MK' ร้านอาหารญี่ปุ่น ยาโยอิ ของ 'ฤทธิ์ ธีระโกเมน' , บมจ. อาฟเตอร์ ยู หรือ AU เจ้าของร้านขนมหวานภายใต้ 'แบรนด์ อาฟเตอร์ ยู' ของ 'กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ' และ บมจ. เอส แอนด์ พี ซินดิเคท หรือ SNP เจ้าของร้านอาหารและร้านเบเกอรี่ภายใต้ 'แบรนด์ S&P' 

เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 'ลดลงจนกลายเป็นศูนย์' ทำให้ธุรกิจร้านอาหารเริ่มทยอยฟื้นตัว สะท้อนผ่านตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2563 ของ ZEN-M-AU-SNP พลิกเป็น 'กำไรสุทธิ' จากไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ผลประกอบการณ์ 'ขาดทุนสุทธิ' โดยไตรมาส 3 ปี 2563 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 45.54 ล้านบาท 464.96 ล้านบาท 27.76 ล้านบาท และ 153.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2563 มีขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 80.96 ล้านบาท 247.15 ล้านบาท 3.07 ล้านบาท และ 51.34 ล้านบาท ตามลำดับ 

ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าธุรกิจร้านอาหารได้ผ่าน 'จุดต่ำสุด' ของธุรกิจแล้ว ! ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงที่ธุรกิจถูกล็อกดาวน์...

และความหวังในไตรมาสสุดท้ายของปีที่เข้าสู่เทศกาลขึ้นปีใหม่ที่ธุรกิจร้านอาหารเป็นช่วงเวลาของการทำเงิน ! (ไฮซีซั่น) แต่ต้องพังเมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ปะทุขึ้นอีกครั้ง !! ทำให้ผู้คนเริ่มมีพฤติกรรมกังวลและหวาดกลัว ไม่กล้าออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน ทราฟฟิกและการจับจ่ายตามศูนย์การค้าต่าง ๆ ลดลง... และการหยิบยกมาตรการ Social distancing กลับมากดดันธุรกิจร้านอาหารอีกครั้ง  

ทว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ คาดผลกระทบ 'ไม่รุนแรง' เท่าครั้งแรก สะท้อนผ่านไม่มีการล็อกดาวน์เฉกเช่นเดิม... !! 

สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ 'บุญยง ตันสกุล' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN เล่าให้ฟังว่า ปี 2564 บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมที่ 3,500 ล้านบาท หรือรายได้น่าจะกลับไปเทียบเท่ากับปี 2562 ที่มีรายได้ 3,144 ล้านบาท หรือมากกว่า เพราะดูจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น ไม่ได้มีการล็อกดาวน์ ส่วนกำไรปีนี้คาดว่าจะดีเพราะตั้งแต่ไตรมาส 3-4 ปี 2563 อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 2% แล้ว จากการบริหารต้นทุนและควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปีนี้ก็น่าจะควบคุมได้ดีขึ้นเช่นกัน

161384453487

บุญยง ตันสกุล

สำหรับ 'กลยุทธ์' ในปีนี้ บริษัทจะเน้นขยาย ธุรกิจแฟรนไชส์ และเดลิเวอร์รี่ ต่อเนื่อง เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากเหมือนร้านอาหารในห้าง

ขณะเดียวกัน บริษัทอยู่ระหว่างศึกษานำแบรนด์ AKA มาขายในรูปแบบแฟรนไชส์เพิ่มเติม จากปัจจุบันแบรนด์ที่ชูโรงคือ 'ตำมั่ว' และ 'เขียง' ซึ่งได้รับความนิยมมาก เพราะปีที่ผ่านมา AKA กระทบน้อยสุด ถ้าเทียบกับแบรนด์อื่น ภายใต้วิกฤตมองเห็นว่า "เขียง-ตำมั่ว-AKA" มีโอกาสสูงที่จะได้ฐานลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งกลับมา เพราะเป็น 3 แบรนด์ ที่ตอบโจทย์คนไทยได้ดี

ทั้งนี้ ในปีนี้ตั้งงบลงทุน 200 ล้านบาท ใช้ขยายสาขาร้านอาหารในห้าง ปรับปรุงสาขาเดิม และเปิดบริการร้านอาหารสาขาย่อย นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนธุรกิจร้านอาหารไทย คาดว่าจะสรุปได้ในไตรมาส 1 ปี 2564 ราว 1 ดีล ใช้เงินไม่ถึง 100 ล้านบาท โดยปัจจุบันบริษัทมีเงินสด 200-300 ล้านบาท

'สัดส่วนรายได้ของ ZEN ในปีนี้จะเปลี่ยนไป โดยคาดว่าจะมีรายได้จากร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า 70% และอีก 30% เป็นรายได้จากแฟรนไชส์ เดลิเวอรี และรีเทล จากปีก่อนรายได้จากแฟรนไชส์ เดลิเวอรี และรีเทล อยู่ที่ 10% โดยปีนี้ตั้งเป้ายอดขายเดลิเวอรี่ 300 ล้านบาท โต 2 เท่าตัว จากปีก่อนที่ 100 ล้านบาท'

'วิทูร ศิลาอ่อน' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอส แอสด์ พี ซินดิเคท หรือ SNP เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าผลประกอบการในปี 2564 จะกลับไปเติบโตกว่าปี 2562 ที่มีรายได้ 7,389.46 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 314.40 ล้านบาท หลังจากปีนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ ทิศทางยอดขายของบริษัทฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่บริษัทได้เน้นการปรับกลยุทธ์การจำหน่ายสินค้าให้เหมาะสม โดยหันมาเน้นการรุกตลาดผ่านช่องทางการจำหน่ายผ่านเดลิเวอรี่ที่มีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้นอีก 38 จุดจำหน่าย ทั้งในกรุงเทพและจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศ ด้วยงบลงทุนราว 100 ล้านบาท โดยเน้นรองรับการขยายตลาดด้านเดลิเวอรี่มากขึ้นให้คอบคุมทุกพื้นที่ในกรุงเทพและหัวเมืองหลักทั่วประเทศ พร้อมกันนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ขนาด 10,000 ตารางเมตร ที่มีการก่อสร้างไปแล้ว 50% และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 รวมถึงเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ให้เข้าถึงลูกค้ายุคดิจิทัลมากขึ้น

'ในปีนี้เราคาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปี 63 และคาดว่าจะสามารถทำให้มีผลประกอบการมากกว่าปี 62 ก่อนที่จะมีโควิด-19 ด้วย ซึ่งเราจะหันมาเน้นการขยายตลาดด้านเดลิเวอรี่มากขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มีความนิยมรูปแบบนี้ และเรายังจะเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าของเรามากขึ้นด้วย'

โบรกฯ มองธุรกิจกำลังฟื้นตัว ! 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน บอกว่า คาดกลุ่มธุรกิจร้านอาหารไตรมาส 4 ปี 2563 คาดว่าจะมีกำไร มองผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 ปี 2563 อย่างไรก็ดีธุรกิจกลุ่มร้านอาหารมีสถานะเป็น net cash ทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่ง และไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพคล่อง และรอแบรนด์ใหม่เข้ามาสร้างการเติบโต คาดผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านจุดเลวร้ายสุดไปแล้ว หลังจากนี้จะทยอยฟื้นตัว โดยประเมินภาพรวมครึ่งแรกปี 2564 ยังทำกำไรได้ดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สภาพแวดล้อมของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 ยังมีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยการแพร่ระบาดรอบใหม่ในประเทศ ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจและกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวดี จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารปี 2564 ในระดับที่ต่างกัน โดยร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service) อาจกลับมาฟื้นตัวเล็กน้อยเพียง 0.7% 

ขณะที่ ร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด (Limited Service) และร้านอาหารข้างทาง (Street Food) โดยเฉพาะราคาระดับเริ่มต้น-กลาง ที่ได้รับปัจจัยหนุนจากนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงไตรมาสแรกของปี รวมถึงการเข้ามาขยาย Segment และปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจของผู้ประกอบการรายกลาง-ใหญ่ คาดว่าจะมีการขยายตัวที่ 2.4% และ 2.0% ตามลำดับ

ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจในภาวะที่ความท้าทายรอบด้านสูง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจมาเป็นร้านอาหารขนาดเล็ก (Compact Size) มากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้อง 1. เคลื่อนเข้าสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว (Mobility) ตัวอย่างของร้านอาหารประเภทดังกล่าวได้แก่ ร้านอาหารชั่วคราว Pop up restaurant, ร้านอาหารประเภท ฟู้ดทรัค (Food Truck) รวมไปถึงร้านอาหารประเภทครัวกลาง (Cloud Kitchen) 

และ 2. ความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ (Flexibility) ที่รวมถึงความยืดหยุ่นในช่องทางการตลาด หรือความสามารถในการปรับเปลี่ยนขั้นตอนและรูปแบบต่างๆ ในห่วงโซ่ธุรกิจ โดยตัวอย่าง ได้แก่ ร้านอาหารขนาดเล็กที่มีพื้นที่จำกัด (เช่น Kiosk) ซึ่งมีจุดเด่นที่การใช้เงินลงทุนล่วงหน้าและเงินทุนหมุนเวียนที่น้อยกว่าร้านอาหารขนาดกลาง-ใหญ่

'ในปี 2564 จะมีมูลค่ารวม 4.10 – 4.15 แสนล้านบาท กลับมาขยายตัวเล็กน้อยประมาณ 1.4-2.6% โดยเป็นการขยายตัวบนความเปราะบาง ทำให้ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในการลงทุนและดำเนินธุรกิจ'