‘สสน.’ชี้นาปรังเกินแผนห่วงภัยแล้งฉุดน้ำบริโภคขาดแคลน

‘สสน.’ชี้นาปรังเกินแผนห่วงภัยแล้งฉุดน้ำบริโภคขาดแคลน

สสน. คาดปีนี้แล้งหนักน้ำไม่พอบริโภค คาดยังต้องการอีกกว่า 976 ล้านลบ.ม.ก่อนจบแล้งพบทำนาปรังลุ่มเจ้าพระยาเกินแผน 2.8 ล้านไร่ แนะทำความเข้าใจเกษตรกร

นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.) เปิดเผยว่า ปริมาณฝนสะสมประเทศไทยในปี 2563 มีน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 4%ซึ่งเป็นเหตุการณ์ฝนน้อยกว่าปกติ 2 ปีติดต่อกัน (ปี 2562-2563) โดยเฉพาะภาคเหนือที่ฝนน้อยกว่าปกติถึง 17%ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีน้อย โดยเฉพาะปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ในวันเริ่มต้นฤดูแล้ง 1 พ .ย. 2563 มีปริมาณน้ำใช้การเพียง 5,771 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)

ขณะที่ความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้งถึงช่วงต้นฤดูฝนที่จะต้องเตรียมไว้ประมาณ 12,000 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ต้องงดการส่งน้ำทำนาปรังในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยจะใช้น้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก

ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยารวมเพียง3,884 ล้าน ลบ.ม.(17 ก.พ. 2564) ทำให้ฤดูแล้งปี 2563/2564มีน้ำไม่เพียงพอต่อ การสนับสนุนการเกษตรซึ่งภาครัฐสนับสนุนงดทำนาปรัง เพื่อกันน้ำเอาไว้สำหรับการอุปโภค-บริโภค และ รักษาระบบนิเวศประมาณ 3,500 ล้านลบม. ซึ่งตอนนี้ระบายน้ำตามแผนมาแล้ว 2,524 ล้านลบ.ม. ยังต้องระบายน้ำมาอีกกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง 976 ล้านลบ.ม.

เกษตรกรกลับทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาไปแล้ว 2.8 ล้านไร่ ทำให้เกษตรกรสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและตามคลองชลประทาน จนน้ำเพื่อใช้ผลิตน้ำประปาหลายแห่งมีไม่เพียงพอ และเริ่มมีข่าวการแย่งน้ำกันเกิดขึ้น ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนในฤดูแล้งปี 2564 นี้ อาจเกิดการสูบน้ำออกไปจากระบบเพิ่มมากขึ้น การประปาหลายแห่งที่ใช้น้ำจากคลองชลประทานอาจเกิดปัญหาขาดน้ำเพิ่มมากขึ้นด้วย

ในช่วงเดือนม.ค. สถานการณ์ความเค็มเริ่มรุกตัวเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาสูงมากขึ้น โดยมีค่าความเค็ม2.53 กรัมต่อลิตร สูงมากจนสูงที่สุดเท่าที่มีการตรวจวัดมาในรอบ 10 ปีในปีที่ผ่านๆ มา จะใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ที่มีเขื่อนวชิราลงกรณและเขื่อนศรีนครินทร์เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญ มาช่วยใช้ในการผลักดันน้ำเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ในปีนี้น้ำในเขื่อนทั้งสองมีน้ำน้อยมากซึ่งไม่เพียงพอต่อการผลักดันน้ำเค็ม

ดังนั้นต้องเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรและผู้ใช้น้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมารวมทั้งต้องวางแผนการใช้น้ำอย่างรอบคอบให้ผ่านเดือนมี.ค.ไปให้ได้โดยคาดว่าเดือน เม.ย.ปีนี้ ฝนจะมาเร็วและเริ่มตกมากขึ้นกว่าค่าปกติและอาจเกิดพายุฤดูร้อนได้แต่เมือถึงเดือน ก.ค.จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงนาน และส่งผลกระทบกับการทำนาปี

“ตอนนี้คือ เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องเข้าใจสถานการณ์น้ำที่อยู่ในขั้นวิกฤตนี้ และไม่สูบน้ำไปจากแม่น้ำลำคลองเพราะจะทำให้น้ำที่ใช้อุปโภค-บริโภค เกิดปัญหากับประชาชนต่อน้ำกินน้ำใช้ได้ ส่วนประชาชนทุกภาคส่วนก็ต้องใช้น้ำอย่างประหยัด"