อตก.ปูแผนล้างหนี้ 3,000ล้าน เดินหน้าทำกำไร ปี 65 มั่นใจไม่ยุบ

อตก.ปูแผนล้างหนี้ 3,000ล้าน เดินหน้าทำกำไร ปี 65 มั่นใจไม่ยุบ

อ.ต.ก. ปรับบทบาท เป็น ผู้บริหารจัดการ Supply chain แทนเครื่องมือ รัฐ หวังล้างนี้ เชิงธุรกิจ 800 ล้านบาท ตั้งเป้าปี'65ทำกำไร ส่วนหนี้จากโครงการรัฐสะสม 47 ปี 3,000 ล้าน เล็งเสนอครม.หาทางเคลียร์

ตลาด อ.ต.ก. ยังเป็นที่มั่นใจของผู้บริโภคในสินค้าที่มีคุณภาพ และมีผู้เข้าไปใช้บริการไม่ต่ำกว่า 5,000 คนต่อวัน แต่ใครจะเชื่อว่า อ.ต.ก. ยังเป็นหน่วยงานที่ขาดทุนต่อเนื่องถึงขั้นที่จะยุบทิ้งเพื่อไม่ให้เป็นภาระ

นายปณิธาน มีไชยโย รองผู้อำนวยการ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)  เปิดเผยว่า  ปัจจุบัน อตก. มีเงินทุน ที่เป็นรายได้จากการดำเนินธุรกิจประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ไม่สามารถนำมาหมุนเวียนได้ เนื่องจากติดสถานะที่ อ.ต.ก. ยังเป็นหน่วยงานที่ขาดทุน นับตั้งแต่ ปี 2516 ที่เริ่มจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานจัดหาปุ๋ยราคาถูก  จนถึงปี 2557 ในโครงการรับจำนำข้าว  ส่งผลให้มีวงเงินที่ขาดทุนสะสมกว่า 3,000 ล้านบาท

161303970021

“ ผมไม่อยากพูดถึงตัวเลขขาดทุนในอดีต เพราะตอนนี้หลักฐานต่างๆที่ส่งผลให้ขาดทุน สูญหายถูกทำลายไปหมดแล้ว เอาเป็นว่าภายใต้นโยบายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแผนจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อทบทวนหนี้สินต่างๆที่เกิดจากโครงการของรัฐ เพื่อล้างหนี้หรือเคลีย์ให้จบ เพื่อให้อตก. มีโอกาสได้เดินหน้าต่อ แทนการยุบทิ้ง  หากจะพูดกันตามจริงแล้ว วงเงินประเดิมที่รัฐบาลต้องจ่ายให้ อ.ต.ก. ยังค้างถึง 1,800 ล้านบาท “

ทั้งนี้หลังจากภารกิจสุดท้ายที่รัฐบาลสั่งให้ อ.ต.ก. ดำเนินรับจำนำข้าวในปี 2557  จนถึง ปี 62  อ.ต.ก. ขาดทุนสะสมที่เป็นผลมาจากการดำเนินธุรกิจ 880 ล้าน  และช่วงที่ ร.อ. ธรรมนัส เข้ามาดูแล ปลายปี 62 สามารถชำระหนี้และลดการขาดทุนเหลือ 181 ล้านบาท ในปี 63 ขาดทุน 111 ล้านบาท ซึ่งในปี 64 คาดว่าจะลดหนี้คงเหลือ 66.4 ล้านบาท  หรือหากไม่มีข้อผิดพลาดในแผนการดำเนินงาน อ.ต.ก. จะชำระหนี้ได้ทั้งหมด และทำกำไรได้ในปี 65  

                “ หนี้ตั้งแต่ปี 62 เพิ่มขึ้น มาจากค่าเช่าพื้นที่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่เพิ่มสูงกว่า 117 % ในปี 63 เมื่อเกิดปัญหาโรคโควิด 19 ระบาด อ.ต.ก.ได้ประกาศลดค่าเช่าแผงลง 30 %  ซึ่งในเรื่องนี้ อ.ต.ก. อยู่ระหว่างหารือกับ ร.ฟ.ท. เพื่อขอลดค่าเช่าลง ในขณะที่อ.ต.ก.ต้องลดค่าใช้จ่ายต่างๆที่ไม่จำเป็นพร้อมเร่งสปีดหารายได้เชิงพาณิชย์เพื่อให้พ้นจากสภาพการเป็นหนี้ให้ได้”

 ปัจจุบันการทำรายได้ของอ.ต.ก มีประมาณ 900 ล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่มาจากตลาดอ.ต.ก. จตุจักรที่มีแผงเช่า 608 แผง ไม่รวมแผงหมุนเวียนเพื่อให้เกษตรกรนำสินค้ามาจำหน่าย 112 แผน  ส่วนรายได้จาก อ.ต.ก. ส่วนภูมิภาคมีน้อยมาก อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งหมดจึงต้องทบทวนบทบาทใหม่ เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ฟื้นตัวจากการเป็นเครื่องมือของภาครัฐด้านราคา   กลายเป็นผู้บริหารจัดการ Supply chain ตลอดห่วงโซ่ ซึ่งจะเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 64 นี้

 โดยมีตลาดที่สำคัญ คือ การส่งวัตถุดิบอาหารให้กับเรือนจำ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีมูลค่า ถึง1,200 ล้านบาท ในส่วนนี้ อ.ต.ก. ได้รับค่าตอบแทน 3 % ซึ่งในปี 64 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ด้วยการขยายการจัดหาวัตถุดิบให้กับหน่วยงานรัฐอื่นๆ นอกจากนี้จะเปลี่ยนกลไก ให้ อ.ต.ก. ทั้ง 72 จังหวัด ให้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้นได้ทำข้อตกลงกับการเคหะแห่งประเทศไทย ไปแล้วเพื่อที่ อ.ต.ก. จะนำสินค้าที่มีคุณภาพของเกษตรกรไปจำหน่ายในพื้นที่การเคหะฯ ได้ ทั้งรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์

รวมทั้งการผลิตสินค้าจำหน่ายด้วยแบรนด์ อ.ต.ก. ปัจจุบันมีสินค้าแล้วกว่า 600 ชนิด ยืนยันได้ว่าสินค้าทุกรายการที่ผ่านการพิจารณาของ อ.ต.ก. แล้ว จะมีคุณภาพมาตรฐานเทียบเท่ากับสินค้าส่งออก  ส่วนตลาดอ.ต.ก. จตุจักร  จะพัฒนาการใช้พื้นที่ให้สมประโยชน์มากขึ้น ด้วยการเปิดตลาดน้ำ ตลาดกล้วยไม้ ตลาดสัตว์เลี้ยง ที่ปิดไปเพราะโควิด  โดยจะจัดแบ่งพื้นที่ขายใหม่

161303977594

                “ตลาด อ.ต.ก. จตุจักร ยังมีพื้นที่ถูกบุกรุก 20-30 ปี ไม่เคยจ่ายค่าเช่า บางรายปิดร้านหนี  ทั้งหมดนี้ต้องมาไล่ดูและพื้นที่ เพื่อให้นำมาใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่า  ในขณะที่ อ.ต.ก.ต้องปรับลุค ตัวเอง ให้กลายเป็นหน่วยงานที่วิ่งเข้าหาออเดอร์ เพื่อหาค่าตอบแทนซึ่งเป็นรายได้ที่สำคัญ จะนั่งรอรับออเดอร์อีกต่อไปไม่ได้แล้ว  “

                โครงสร้างองค์กรใหม่ ของ อ.ต.ก. จะมีหน่วยงานส่งเสริมการเกษตรเพื่อแนะนำเกษตรกรให้ผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาด  มีฝ่ายธุรกิจ ฝ่ายขาย เพื่อให้ดูแลสายงานที่ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญ อ.ต.ก.ต้องเตรียมความพร้อมเอาไว้ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะกลับมาเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งภายหลังจากที่ทั่วโลกสามารถควบคุมวิด 19 ได้  ซึ่งตลาด อ.ต.ก. เป็นจุดสำคัญที่ นักท่องเที่ยวเลือกมาจับจ่ายใช้สอย  ซึ่งความนิยมนี้ อ.ต.ก.ใช้เป็นจุดแข็งในการขายออนไลน์

ส่วนปัจจุบัน ที่เป็นช่วงโควิด พบว่า ยังมีผู้เข้ามาใช้บริการในตลาด อ.ต.ก.จตุจักร กว่า 5,000 ต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเก่า โดย อ.ต.ก.ให้ความสำคัญกับการเข้าออกต้องตรวจเช็คอุณหภูมิ เก็บข้อมูลผู้ใช้บริการทุกราย เพื่อใช้ในกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ ประสานกับกรมอนามัยมาตรวจสอบผู้ค้าทุกคน  เพื่อให้มั่นใจว่าอ.ต.ก. ไม่มีโควิด จะเป็นไข่แดงที่สามารถเปิดบริการได้ในสถานการณ์วิกฤต

161303981691

                “ผู้ค้าทุกคนเข้าใจ เพราะการติดเชื้อเพียง1 คนจะทำให้ปิดตลาดได้ ซึ่งหมายถึงรายได้จะหายไป ทุกคนจึงให้ความร่วมมือ ยิ่งในการระบาดรอบ2 อ.ต.ก. ได้เพิ่มความเข้มงวด ด้วยการทำความสะอาดทุกวัน บิ๊กคลีนนิ่งทุกเดือน พ่นยาฆ่าเชื้อทุก 15 วัน”