“อีอีซีไอ”อัดงบ5.4พันล้าน ตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิต ดันอุตฯไทยสู่ยุค 4.0

“อีอีซีไอ”อัดงบ5.4พันล้าน  ตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิต ดันอุตฯไทยสู่ยุค 4.0

เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง เป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับประเทศผ่านการสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อเปลี่ยนจากการรับจ้างการผลิตเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีของตัวเอง

ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า การยกระดับการผลิตของไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของไทย ดังนั้นจึงเป็นภารกิจหลักหนึ่งที่สำคัญของอีอีซีไอ โดยตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) เพื่อเป็นศูนย์กลางยกระดับอุตสาหกรรมทั้งระบบ

สำหรับศูนย์ SMC ได้รับงบประมาณ 5,400 ล้านบาท ในระยะ 5 ปี ตัวอาคารจะสร้างเสร็จปี 2564 จากนั้นปี 2565 จะเริ่มติดตั้งอุปกรณ์เครื่องจักรและเปิดให้บริการ 6 ด้าน ได้แก่ 

1.บริการฝึกอบรมผู้ประกอบการ และพนักงานในเรื่องของเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ในโรงงาน และการใช้อุปกรณ์เซ็นเซอร์มาปรับปรุงเครื่องจักร 

2.บริการทดสอบ และมีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้โรงงานหรือ System Integrator (SI) ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ใช้ทดสอบแนวคิดหรือผลิตภัณฑ์ของตนก่อนลงที่สายการผลิต และให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ

3.บริการตรวจประเมินความพร้อมของโรงงาน ก่อนที่จะวางแผนปรับปรุงโรงงาน เพื่อให้ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้สูงสุด 

4.One Stop Service ด้านสิทธิประโยชน์ทางการเงิน เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี สินเชื่อ เงินสนับสนุนจากภาครัฐ และช่วยแนะนำโรงงานเลือกสิทธิประโยชน์ที่เหมาะกับตัวเอง 

161193540360

5.พัฒนาโซลูชันต้นทุนต่ำสำหรับการปรับปรุงโรงงานเก่าให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ และโซลูชันรูปแบบแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์โรงงานในราคาประหยัดเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงง่าย  161193549074

6.พัฒนาโซลูชันที่กำหนดเองได้ตามความต้องการเฉพาะของโรงงาน หรือโซลูชันประเภทที่ไม่มีผลิตภัณฑ์หรือระบบในท้องตลาดรองรับ งานที่ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนา หรือการวิจัยพัฒนาตามความต้องการเฉพาะ

ส่วนแผนงานปี 2564 จะสร้างมาตรฐานตัวชี้วัดการประเมินความพร้อมของอุตสาหกรรม ทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และกลุ่ม CORE หรือ Center of Robotics Excellence พัฒนาเกณฑ์ประเมินและพัฒนาผู้ตรวจประเมิน จัดทำแพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลพลังงานภาคอุตสาหกรรม 

รวมทั้งทำนวัตกรรมเทคโนโลยี 20 นวัตกรรม ต้นแบบนวัตกรรมหุ่นยนต์ 10 นวัตกรรม โดยนำร่อง 15 โรงงาน นำเทคโนโลยีด้านไอโอทีจากเอกชนและ สวทช.ติดตั้งที่โรงงาน เพื่อดูประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องจักรหลักในโรงงาน ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พัฒนาแพลตฟอร์มกลางระดับประเทศ

ที่ผ่านมาไทยรับจ้างผลิตทำให้ไม่มีเทคโนโลยีต่อยอดสู่ระดับสูง โดยศูนย์ SMC เน้นพัฒนาและผลิตเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ของคนไทย ที่โรงงานส่วนใหญ่อยู่ระดับ 2.0 ซึ่งจะยกระดับสู่ 3.0 และ 4.0 ต่อไป ศูนย์ SMC จะสำรวจและจัดทำเทคโนโลยียกระดับไปสู่ 3.0 และ 4.0 โดยทำงานกับ ส.อ.ท. และกระทรวงอุตสาหกรรม เริ่มตั้งแต่สำรวจความพร้อมการเข้าสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ และเตรียมกำลังคนรองรับเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุนการผลิต และการขนส่ง

ศูนย์ SMC จะสำรวจรายอุตสาหกรรมตรวจสอบว่าจะเริ่มปรับปรุงเครื่องจักร ติดอุปกรณ์ไอโอที เซ็นเซอร์ ในจุดใดที่คุ้มค่า และดึงสัญญาณจากเครื่องจักรขึ้นคลาวด์ เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานผ่านระบบแพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม (Industrial IoT and Data Analytics Platform) จะเริ่มต้นโรงงาน 15-20 แห่ง ในอุตสาหกรรมที่ต่างกันจากนั้นขยายไป 100 แห่ง ให้ถึงเป้าหมาย 500 แห่งใน 3 ปี ใช้เวลาประเมิน 1-2 ปี เพื่อตรวจสอบว่าจะเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการเท่าไร

สำหรับต้นทุนในการปรับปรุงโรงงาน ในโรงงานขนาดกลางและเล็กจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4-5 แสนบาท แต่หากเป็นโรงงานขนาดเล็กการลงทุนขนาดนี้ก็ถือว่าเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นโรงงานที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับงบสนับสนุนปรับปรุงเครื่องจักร 50%

นอกจากนี้ ศูนย์ SMC จะหารือบริษัทขนาดใหญ่ เช่น เครือซีพี เครือสหพัฒน์ เอสซีจี ปตท. ที่มีผู้เชี่ยวชาญด้าน SI เพื่อร่วมมือพัฒนา SI ให้เข้าไปยกระดับเอสเอ็มอีที่เป็นเครือข่ายของตัวเอง ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยยกระดับซัพพลายเชนการผลิตของตัวเอง

ส่วนปี 2565 จะขยายไปสู่การสร้างอีโคซิสเท็มของอุตสาหกรรมมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นหัวใจหลักของประสิทธิภาพเครื่องจักร หุ่นยนต์ และรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยยังผลิตมอเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงไม่ได้ในจำนวนที่มากพอ เพราะไม่มีศูนย์ทดสอบมาตรฐานมอเตอร์ ดังนั้นต้องสร้างอีโคซิสเท็มให้ไทยมีเทคโนโลยีผลิตเอง มีผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการทดสอบ ซึ่งได้เข้าไปหารือกับผู้ประกอบการไทย 4-5 ราย และบริษัทเทคโนโลยีในต่างประเทศ เพื่อวิจัยพัฒนาร่วมกัน

นอกจากนี้ มีโครงการพัฒนาทักษะการสร้างนวัตกรรมของกลุ่มผู้ประกอบการ SI โดยผู้เข้าโครงการจะได้รับการบ่มเพาะความรู้ด้าน AI, Machine Learning ได้รับเงินสนับสนุน เพื่อพัฒนานวัตกรรม โครงการผลิตบุคลากรด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ รวมทั้งจะมีหลักสูตร Industrial IoT Training สำหรับระดับอาชีวศึกษา ซึ่งจะมีการเข้าค่าย และจัดให้นักเรียนได้ฝึกงานจริงในโรงงาน และหลักสูตรสำหรับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม