เทรนด์การแพทย์สมัยใหม่ ต่อยอดสู่การลงทุนใน EEC

เทรนด์การแพทย์สมัยใหม่  ต่อยอดสู่การลงทุนใน EEC

เทคโนโลยีด้านการแพทย์ถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งเพื่อเสาะแสวงหาการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และแนวทางการรักษาแบบ Precision Medicine หรือมีชื่อเรียกในภาษาไทยว่าการแพทย์แม่นยำ

เทคโนโลยีด้านการแพทย์ถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งเพื่อเสาะแสวงหาการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และแนวทางการรักษาแบบ Precision Medicine หรือมีชื่อเรียกในภาษาไทยว่าการแพทย์แม่นยำหรือการแพทย์เฉพาะเจาะจง กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก

Precision Medicine เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนาจากความความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่สามารถนำข้อมูลทางพันธุกรรมหรือข้อมูลชีววิทยาในระดับโมเลกุลมาใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาโรค การเลือกใช้ยา การทำนายผลการรักษา รวมถึงการป้องกันโรคและสร้างเสริมสุขภาพให้เหมาะสมเฉพาะเจาะจงกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้ผลการรักษาและดูแลสุขภาพมีประสิทธิภาพมากที่สุดและมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด

จากข้อมูลของบริษัทผู้วิจัยด้านการตลาด Mordor Intelligence พบว่ามูลค่าตลาดของการแพทย์แม่นยำทั่วโลกในปี 2019 อาจมีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ และคาดว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2024 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 9.7% ต่อปี

การวินิจฉัยโรคที่แม่นยำมากขึ้นจะนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่เหมาะสม และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขของไทยได้ในระยะยาว ทั้งนี้ ในปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยต่างให้ความสนใจและได้นำความรู้ด้านการแพทย์แม่นยำมาใช้ในการรักษาโรค โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ด้วยความมุ่งหวังผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการรักษาแบบเดิม 

โดยภาครัฐได้เน้นไปที่ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการศึกษาและพัฒนาโครงการวิจัยที่เกี่ยวกับการแพทย์แม่นยำ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้และสามารถถ่ายทอดผลงานวิจัยหรือผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบาย และเชิงสาธารณะ อีกทั้งยังสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตยาประเภทยาชีววัตถุหรือที่เรียกว่า Biopharmaceutical Products ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) ของภาครัฐ โดยเฉพาะพื้นที่ EEC ที่มีเป้าหมายสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้พัฒนายาที่มีมูลค่าสูง และได้มาตรฐานระดับโลก จนสามารถเป็นฐานการผลิตยาที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย

นอกจากนี้ เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา BOI ได้อนุมัติให้เขตส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) เป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับโครงการที่ตั้งในเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) และศูนย์การแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ (พัทยา) (EECmd) กล่าวคือ หากเป็นกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ 5-8 ปีขึ้นไป จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 2 ปี แต่หากเป็นกิจการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมายและกิจการสนับสนุน ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10 ปีอยู่แล้ว จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 1 ปี

ทั้งนี้ การจัดตั้งเขตส่งเสริมพิเศษการแพทย์จีโนมิกส์เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษและนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงจะมีพื้นที่โครงการฯ ประมาณ 3.8 ไร่ มีการลงทุนในระยะแรก 1,700 ตารางเมตร และภายในเวลา 5 ปี จะมีเงินลงทุนเครื่องมือทางด้านเทคนิคเพื่อนำไปสู่การให้บริการจากเอกชน ประมาณ 1,250 ล้านบาท ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักลงทุนจากสหรัฐ เกาหลีใต้ และสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยคาดว่าจะมีเงินลงทุนจากเอกชนราว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงการที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการแพทย์แบบจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ ซึ่งเป็นเทรนด์การแพทย์ที่จะมีบทบาทในอุตสาหกรรมการแพทย์และการรักษาพยาบาลในอนาคต และทำให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ตามมา ส่งผลให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรอย่างเต็มรูปแบบ และเข้าใกล้ความฝันในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคตต่อไป