ท่องเที่ยวหวั่นตกงาน 2 ล้าน! ชงรัฐตั้งธนาคารแรงงานฯฟื้นธุรกิจ
สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่เริ่มระบาดเมื่อต้นปี 2563 และลุกลามทั่วโลก ฉุดตลาดการเดินทางระหว่างประเทศเข้าขั้นโคม่า แม้ประเทศไทยจะได้รับเสียงชื่นชมหลังควบคุมการแพร่ระบาดรอบแรกได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่สามารถดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้เป็นปกติ
แถมหนีไม่พ้นการระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายปีที่แล้ว ทุบซ้ำตลาดไทยเที่ยวไทยที่เพิ่งฟื้นตัว
วานนี้ (26 ม.ค.) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมแถลง “ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยว” พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นประจำไตรมาส 4/2563 เท่ากับ 62 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 3/2563 ซึ่งอยู่ที่ 60 เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับอานิสงส์จากโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน กำลังใจ และคนละครึ่ง ซึ่งช่วยกระตุ้นการซื้อสินค้าของฝากและร้านอาหารได้พอสมควร
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาสที่ 1/2564 เท่ากับ 53 ถือว่าต่ำกว่าระดับปกติมาก! เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลต่อการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายไตรมาส 4/2563
จากการสำรวจยังพบด้วยว่า ตลอดปี 2563 มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตกงานประมาณ 1.04 ล้านคน และในไตรมาส 4/2563 ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีการปิดกิจการชั่วคราว 10% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2563 ที่ 3% และมีการปิดกิจการถาวร 3% เท่าเดิม
ทั้งนี้พบว่าสถานประกอบการ 85% ยังคงเปิดกิจการ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีลูกค้า โดย 50% ของธุรกิจที่เปิดกิจการมีการลดจำนวนพนักงานลง 30-40% ของพนักงานที่เคยจ้าง ส่วนพนักงานที่ทำงานอยู่ในระบบ รายได้จะลดลง 20-30% ของรายได้ที่เคยรับ เนื่องจากมีการลดเงินเดือน หรือลดเวลาการทำงาน
ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ประเมินว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่อาจทำให้แรงงานภาคท่องเที่ยวตกงานมากกว่า 2 ล้านคน จากแรงงานภาคท่องเที่ยวทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 4 ล้านคน เนื่องจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ “ไม่มีทุนพอ” ที่จะรักษาการจ้างงานได้อีกต่อไป! นับเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย
“แม้ตอนนี้จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างแพร่หลายแล้ว และภาคการท่องเที่ยวน่าจะสามารถกลับมาได้อย่างรวดเร็ว แต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอาจจะปิดกิจการไปแล้วเป็นจำนวนมาก ทำให้เสียโอกาสที่ภาคท่องเที่ยวจะเป็นกลไกสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ”
สทท.จึงได้เสนอให้ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดตั้ง “Tourism Labor Bank” หรือ ธนาคารแรงงานภาคท่องเที่ยว ภายในเดือน มี.ค.2564 เพื่อเก็บข้อมูลจริงของแรงงานทั้งหมดในภาคท่องเที่ยว และเพื่อให้ผู้ที่ถูกเลิกจ้างหรือผู้ถูกพักงานสามารถสมัครเข้ามาเพื่อหาโอกาสในการทำงาน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็สามารถเข้ามาเลือกจ้างผู้ที่มีทักษะตรงกับความต้องการ ส่วนแรงงานที่ยังเหลืออยู่จะได้รับการพัฒนาทักษะทั้ง Upskill หรือ Reskill เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้านต่างๆ นอกจากนี้ยังต้องการให้รัฐช่วยเหลือเอกชนท่องเที่ยวให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ด้วย
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธาน สทท.และนายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวเสริมว่า จากแนวโน้มแรงงานท่องเที่ยวที่อาจตกงานถึง 2 ล้านคน นับเป็นความรู้สึกที่ลำบาก สาหัส และเจ็บปวดที่สุด!
“หากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเที่ยวไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ตามความคาดหวัง เท่ากับว่าประเทศไทยมีการปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินานเกือบ 2 ปี กำไรที่สะสมมาในปีก่อนๆ ก็หมดไปแล้ว จึงเสนอขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเอกชนในการจ่ายค่าจ้างในรูปแบบโค-เพย์ (Co-Pay) ให้กับแรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม 800,000 คน ในอัตราครึ่งหนึ่งของเพดานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท หรือคนละ 7,500 บาท เป็นเวลา 1 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้และไม่เกิดการเลิกจ้าง”
ด้านวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า วันนี้ (27 ม.ค.) คณะทำงานของ สทท.จะเข้าพบ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอให้มีนโยบายที่ชัดเจนในการเปิดประเทศรับชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว
“ขณะนี้ทั่วโลกมีคนได้รับวัคซีนแล้ว 65 ล้านคนในหลายๆ ประเทศ ด้านประเทศไอซ์แลนด์และสิงคโปร์ได้ประกาศเปิดรับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ดังนั้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเที่ยวไทยทันไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่าปีนี้จะได้ 10 ล้านคน ก็ต้องประกาศนโยบายที่ชัดเจนตั้งแต่ตอนนี้”
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้คนไทยที่อยู่ด่านหน้าอย่างบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้สูงอายุ และคนที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดแล้ว ลำดับต่อไปขอให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนแก่คนที่อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต สมุย กระบี่ และพัทยา เพราะเป็นเมืองที่จะรองรับนักท่องเที่ยวต่อไป จะได้เกิดความสบายใจกับคนในพื้นที่และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อีกด้วย