โรงพยาบาลเอกชน แห่ซื้อวัคซีน 'โควิด-19' รอ 'อย.' ไฟเขียวนำเข้า

โรงพยาบาลเอกชน แห่ซื้อวัคซีน 'โควิด-19'  รอ 'อย.' ไฟเขียวนำเข้า

โรงพยาบาลเอกชนรอ “อย.” ไฟเขียว พร้อมนำเข้า "วัคซีนต้านโควิด-19" ทันที “เครือธนบุรี” สั่งจองซิโนแวค 1 ล้านโดส ฉีดบุคลากรทางการแพทย์ในกลุ่มและบริการลูกค้า ขณะที่“วิภาวดี”มั่นใจประสิทธิภาพผู้ผลิตค่ายอเมริกา จ่ายเงินจอง “โมเดอร์นา” 6 หมื่นโดส

ค่ายวัคซีนเร่ขาย“พรินซ์”

นายธานี มณีนุตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท พริ้นซ์เพิล แคปิตอล (PRINC) กล่าวว่าทีมแพทย์ของบริษัทได้รับการติดต่อจากตัวแทนจำหน่ายวัคซีนเข้ามา 5-6 ราย แต่บริษัทยังไม่ตัดสินใจเลือก เพราะยังรอผลการดูประสิทธิภาพ แต่เบื้องต้นหากมีการนำเข้าเตรียมให้กับบุคคลากรการแพทย์ 3,000 คนก่อน อยู่ที่ประมาณ 6,000-7,000 โดส และอาจจะต้องเผื่อทางเลือกไว้ 2 แห่ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขนส่งสะดุดหรือการผลิตไม่เพียงพอ

ปัจจัยที่จะพิจารณาเลือกต้องดูผลที่มีต่อปฎิกิริยาต่อร่างกาย เพราะหากเป็นการเพาะจากเชื้อเป็น คือ โมเดอร์น่าและ ไฟเซอร์ อาจจะมีผลต่อร่างกายต่อภูมิคุ้มกันตามที่เป็นข่าว ขณะที่วัคซีนของรัสเซีย สปุตนิกไฟว์ เป็นอีกทางเลือกเพิ่มเติม เพราะมีต้นทุนไม่แพง 10 ดอลลาร์ต่อโดส และฉีดแค่ 1 เข็ม

ปัจจุบันหากมีการประกาศให้อย. สามารถจดทะเบียนลักษณะฟาสต์แทร็ก ตามกระแสข่าวภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้าจะสามารถนำมาให้กับประชาชนที่สนใจได้ทันที ซึ่งตอนนี้มีตัวแทนนำเข้าเริ่มจะสร้างความเชื่อมั่นในวัคซีนด้วยการจับมือกับธุรกิจประกัน หากฉีดวัคซีนแล้วเกิดปฎิกิริยากับร่างกายจ่ายเงินชดเชย

นายเฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดพบว่าวัคซีนของ แอสตร้าเซนเนก้า มีความพร้อมทางเอกสารที่สุด ส่วนชิโนแวค

มีการเรียกข้อมูลเอกสารเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก แต่ที่เซอร์ไพสร์ คือ ไฟเซอร์ที่เอกสารพร้อม แต่ขอจำนวนความต้องการนำเข้าวัคซีนอยู่ที่เท่าไร รวมทั้งของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่ได้เข้ามาคุยกับอย.แล้ว ดังนั้นหากวัคซีนใดผ่าน ทางกลุ่มจะนำมาให้บริการกับประชาชนที่สนใจได้ ได้เริ่มพูดคุยกับหลายเจ้า จากเดิมที่มีการคุยไปกับทาง ซิโนแวค บ้างแล้ว

วิภาวดีมั่นใจโมเดอร์นา

นายพิจิตต์ วิริยะเมตตากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน)หรือ VIBHA กล่าวว่า โรงพยาบาลได้สั่งจองวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา ไปแล้ว 60,000 โดส แต่อาจได้มากกว่า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอเอกสารจากทางโมเดอร์นา เพื่อนำมายื่นขออนุญาตกับทางอย. เพื่อนำวัคซีนโมเดอร์นามาฉีดให้กับลูกค้า ซึ่งคาดว่าจะยื่นภายในเดือนนี้ และคาดว่าเดือนก.พ.จะได้รับอนุญาตจากอย.

ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนให้กับลูกค้าได้ในเดือนต.ค.2564 สาเหตุที่ใช้เวลานาน เนื่องจากมีผู้สนใจจองซื้อวัคซีนโมเดอร์นาจำนวนมาก ทำให้ผลิตไม่ทัน โดย โมเดอร์นาจะขายวัคซีนให้กับผู้ที่วางเงินจองวัคซีนตามคิว ซึ่งทางโรงพยาบาลวิภาวดีได้วางเงินจองไปแล้วเมื่อ 10 กว่าวันที่ผ่านมาทำให้ได้วัคซีนในเดือนต.ค.

สำหรับค่าบริการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา อยู่ในอัตรา 6,000-10,000 บาท ซึ่งค่าบริการฉีดวัคซีนโรงพยาบาลไม่ได้มีกำไรสูงเหมือนกับที่มีข่าวออกมา เพราะส่วนใหญ่จะเป็นค่าวัคซีน และมีค่าบริการฉีดนั้นไม่แพง อย่างไรก็ตามมีผู้ที่จะนำเข้าวัคซีนชิโนฟาร์ม เข้ามาเสนอขายวัคซีนชิโนฟาร์ม แต่บริษัทยังไม่ได้ตัดสินใจ รอดูความต้องการของผู้มาใช้บริการโรงพยาบาลก่อน ว่าสนใจหรือไม่ และต้องได้รับอนุญาตจากอย.ด้วย 

“ตอนนี้มีคนที่จะนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 หลายแบรนด์ แต่เท่าที่ทราบคนไทยส่วนใหญ่ที่รักษาในโรงพยาบาลเอกชน ต้องการฉีดวัคซีนของบริษัทในอเมริกามากกว่า จากความเชื่อมั่น และวัคซีนจากบริษัทจีนนั้น ยังไม่มีเอกสารที่แน่นอนมาเปิดเผยเรื่องประสิทธิภาพวัคซีนให้ดู"

เมดพาร์คเตรียมพร้อม

ผศ.นพ. มนต์เดช สุขปราณี กรรมการบริหาร และ แพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า เมดพาร์คได้เตรียมพร้อมของเครื่องมือในการจัดเก็บวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะโมเดอร์นา หรือ ไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค โดยเป็นเครื่องจัดเก็บวัคซีน -80 องศา ซึ่งมีความสำคัญ โดยเฉพาะวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค ทำให้สามารถจัดเก็บวัคซีนได้ตลอดอายุการใช้งาน เพราะหากแช่ในตู้เย็นธรรมดา อายุจะเหลือเพียง 5 วัน แต่หากเปิดผสม อยู่ได้ 6 ชั่วโมง โดย 1 ขวดมี 6 โดส โดสละ 0.3 ซีซี เมื่อผสมแล้วจะต้องใช้ให้หมด

“แนวทางในการนำวัคซีนเข้ามา จะพยายามนำวัคซีนที่ดีที่สุด และมีประสิทธิภาพสูงสุดให้กับสาธารณชน เมื่อรัฐบาลอนุญาต ขณะนี้แนวทางของรัฐเริ่มผ่อนคลาย อย่างที่เห็นว่าสหรัฐฯที่เป็นเจ้าของก็ยังไม่พอ โอกาสที่จะให้เราเยอะๆ ก็คงจะยังไม่มี หรืออาจจะช้า”

“ขณะที่เรื่องราคาไม่น่าจะเป็นอุปสรรค น่าจะมีความเป็นไปได้ แต่ในเรื่องของเวลายังตอบไม่ได้ แต่ทิศทางน่าจะง่ายขึ้น ไม่อยากพูดไปก่อนหากของยังไม่มี เพราะต้องซื่อสัตย์กับวิชาชีพ แต่หากมีเมื่อไหร่จะแจ้งให้ทราบทันที ขณะเดียวกัน เรื่องราคา ในสถานการณ์แบบนี้ การเอากำไรไม่น่าจะใช้วัตถุประสงค์หลัก เพราะต้องการให้คนไทยมีความปลอดภัยอย่างรวดเร็ว และไม่ฉวยโอกาส ซึ่งต้องมีการพิจารณาต่อไป”ผศ.นพ.มนต์เดช กล่าว

ไม่มีวัคซีนดี ราคาถูก ผลข้างเคียงต่ำ

ผศ.นพ. มนต์เดช กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องของวัคซีนไม่ว่าใครก็ต้องการได้ของดีราคาถูก ประสิทธิภาพดี และผลข้างเคียงต่ำ ซึ่งยังไม่มีอยู่จริง ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าเป้าหมายของการฉีดวัคซีนคืออะไรการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มี 2 เป้าหมาย คือ “เป้าหมายส่วนบุคคล” และ “เป้าหมายของส่วนรวม” ทั้งประเทศหรือทั้งโลก ทั่วทั้งโลกพยายามให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งต้องมีการคำนวณว่าใช้วัคซีนปริมาณเท่าไหร่ รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่ตัดสินใจใช้อยู่ในระดับไหน เพราะวัคซีนที่ประสิทธิภาพสูง สามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้ในระดับสูงอาจราคาแพง แต่ทำให้มั่นใจได้ว่าจำนวนคนที่ฉีดไปส่วนใหญ่เกิดภูมิต้านทานทันเวลาในปริมาณที่ต้องการ

ตรงกันข้ามการฉีดวัคซีนราคาถูก เข้าถึงง่าย คุณภาพต่ำ คนที่ฉีดไปแล้ว ไม่ใช่ทั้งหมดที่มีภูมิต้านทาน ก็ต้องกลับมาดูแลคนเหล่านี้ใหม่ ฉีดวัคซีนกันใหม่ เพื่อให้เขาเกิดภูมิต้านทานให้ได้ ไม่เช่นนั้นความพยายามในการฉีดวัคซีนก็ไร้ผล ต้องคำนวณว่าวัคซีน “ถูกหรือแพง” จริงหรือไม่

ห้ามโฆษณาเกินจริง

ด้านนพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนอาเซียน และกรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มองเห็นว่าการที่หาวัคซีนหลายทาง เป็นเรื่องไม่ผิด เพียงแต่ต้องมีหลักเกณฑ์ ก่อนจะฉีดต้องผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ อย. หากผ่านเรียบร้อยจึงจะสามารถฉีดได้

“การโฆษณาว่ามีแน่ ฉีดแล้วไม่เป็นอะไร ไม่ได้ เพราะบริษัทผู้ผลิตวัคซีนก็บอกอยู่แล้วว่าหากฉีดแล้วเป็นอะไรไม่รับผิดชอบ"

ขณะเดียวกันในส่วนของ โรงพยาบาลเอกชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กำลังเตรียมกระบวนการให้ภาคเอกชน สามารถติดต่อโรงงานนำเข้ามา หากได้เร็วกว่ารัฐบาลก็ถือว่าเป็นประโยชน์ของประชาชน แต่เท่าที่ได้มีการหารือ ผู้ผลิตมีไม่กี่ราย ขณะเดียวกันความเสียหายที่เกิดจากการจองแล้วอาจจะไม่ได้ของ เนื่องจากการวิจัยไม่สำเร็จ และสูญเงินจองไป ข้อมูลตรงนี้ต้องให้ประชาชนเข้าใจ รวมถึงห้ามโฆษณาเกินจริง